วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

ถ่านหิน : แหล่งพลังงานของไนจีเรียที่รอการฟื้นฟู


อาคารสำนักงานใหญ่ของบรรษัทถ่านหินไนจีเรีย


ถ่านหิน : แหล่งพลังงานของไนจีเรียที่รอการฟื้นฟู

ไนจีเรียมีแหล่งถ่านหินใต้ดินในพื้นที่ 15 รัฐทั่วประเทศ ที่ยังไม่ได้ขุดขึ้นมาใช้ประมาณ 2.5 พันล้านตัน มีตั้งแต่ถ่านบิทูมินัสไปจนถึงถ่านลิกไน้ท์ โดยแหล่งถ่านหินใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดและสามารถขุดมาใช้เชิงพาณิชย์ได้คุ้มค่าคือแหล่ง อะนัมบรา เบซิน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1.5 ล้านเฮกตาร์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ

ไนจีเรียขุดพบถ่านหินครั้งแรกทางตอนกลางของภาคตะวันออกของประเทศเมื่อปี ค.ศ. 1909 และได้เปิดทำเหมืองถ่านหินมาจนกระทั่งปี 1950 รัฐบาลขณะนั้นจึงตั้งบรรษัท ถ่านหินไนจีเรียขึ้นทำหน้าที่สำรวจและพัฒนาแหล่งถ่านหินรวมไปถึงบริหารจัดการด้านการตลาด โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่รัฐเอนุกุและรัฐบาลสหพันธ์เป็นเจ้าของ ทั้งนี้ตั้งแต่ตั้งมาบรรษัท ได้เปิดทำเหมืองถ่านหินแบบเหมืองขุดสองแห่งคือเหมืองโอเยมาและเหมืองโอคพารา และทำเหมืองเปิดอีกสองแห่งได้แก่เหมืองโอรุกปา และโอคาบา

ระหว่างปี 1950-59 ผลผลิตถ่านหินจากเหมืองในรัฐเอนุกุเพิ่มขึ้นทุกปีจาก 583,487 ตันเพิ่มขึ้นมาเป็น 905,397 ตัน แต่หลังจากปี 1959 เป็นต้นมาผลผลิตกลับลดลงทุกปีประจวบกับช่วงปี 1966- 1970 ไนจีเรียมีสงครามกลางเมืองซึ่งไม่มีสถิติรายงานผลผลิตถ่านหินในช่วงดังกล่าว

ช่วงทศวรรษ 1980 ผลผลิตถ่านหินแต่ละปีไม่ถึง 100,000 ตัน และยังลดลงเรื่อยมาตลอดทศวรรษ 1990 อีกด้วย โดยผลผลิตถ่านหินในช่วงนี้ส่วนใหญ่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถไฟ และส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นปริมาณน้อยมากส่งออกไปตลาดต่างประเทศ

บรรษัท ถ่านหินพยายามหาทางปรับปรุงกิจการด้วยการทำความตกลงร่วมทุนกับบริษัทต่างประเทศเพื่อทำเหมืองถ่านหินแต่ไม่ประสบความสำเร็จ มีรายเดียวที่ประสบความสำเร็จคือการตกลงแบ่งผลผลิตกับบริษัทนอร์ดิก อินดัสตรี จำกัดเพื่อผลิตถ่านหินจำนวน 2,712 ตันจากเหมืองโอคาบาเมื่อปี 2001
ประกอบกับตั้งแต่ไนจีเรียเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 1999 รัฐบาลใหม่ได้ปฏิรูประบบเศรษฐกิจโดยเน้นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นของเอกชน โดยให้หน่วยงานของรัฐเป็นเพียงผู้ควบคุมกฎระเบียบแทนการเป็นเจ้าของกิจการและเป็นผู้ผลิต

ในระหว่างหลายปีที่นโยบายของรัฐบาลเปลี่ยนไป องค์การถ่านหินตกอยู่ในสภาพมีหนี้สิน และต้องแปรรูปกิจการโดยขายกิจการที่บรรษัทมีอยู่เพื่อใช้หนี้ ซึ่งรวมถึงเงินบำนาญของลูกจ้างองค์กรจำนวนมาก ที่เกษียณไปโดยไม่ได้รับบำนาญ การขายกิจการขององค์การรวมถึงการประกาศขายสำนักงานก่อความขัดแย้งกับสหภาพแรงงานซึ่งไม่เห็นด้วยกับการที่องค์การจะขายทุกอย่าง

ผู้บริหารบรรษัทถ่านหินไนจีเรียเปิดเผยว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้อนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินให้แก่นักลงทุนจากจีนรวม 7 โครงการ ซึ่งเชื่อว่าหากโครงการดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยกระตุ้นการฟื้นฟูกิจการเหมืองถ่านหินของไนจีเรียกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น