วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

พบผู้ป่วยอหิวาตกโรคที่รัฐโอโย


พบผู้ป่วยอหิวาตกโรคที่รัฐโอโย

เมื่อวันที่ 5 กันยายน ศกนี้ สำนักงานสาธารณสุขรัฐโอโยแถลงว่า พบผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคอหิวาตกโรคในรัฐโอโยแล้วจำนวน 8 ราย และมีผู้ป่วยติดเชื้อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอีกจำนวน 10 ราย

รายงานดังกล่าวเป็นข่าวผู้ป่วยด้วยโรคอหิวาตกโรคกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศไนจีเรีย ในรอบปี 2556 ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2553 และปี 2554 มีรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตจากอหิวาตกโรคทั่วประเทศเกือบสองพันราย


อหิวาตกโรคเป็นโรคที่แพร่ระบาดในไนจีเรียช่วงที่ฝนตกชุก ทั้งนี้เป็นผลมาจากการขาดแคลนน้ำสะอาด และแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

โรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา

 นายอลิโก ดังโกเต ประธานกลุ่มดังโกเต อินเตอร์แนชั่นแนล สัมผัสมือกับรองประธานาธิบดีภายหลังการลงนามสัญญาเงินกู้ซินดอเคตโลน กับ นายอานิล ดูอา ซีอีโอธนาคารสแตนดาร์ชาร์เตอร์ด เวสต์แอฟริกา
รองประธานาธิบดี นามาดี ซัมโบ(กลาง)ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีการลงนาม

โรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา

เมื่อวันที่ 4 กันยายน ศกนี้ นายอลิโกะ ดังโกเต้ ประธานกลุ่มดังโกเต้ อินเตอร์แนชั่นนัลได้ลงนามในสัญญาเงินกู้ซินดิเคตโลน จำนวน 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐร่วมกับนายอานิล ดูอา ซีอีโอธนาคารสแตนดาร์ ชาร์เตอร์เวสต์แอฟริกา เพื่อก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน(แกสโซลีน ดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันก๊าด ฯลฯ) โรงงานผลิตเคมีภัณฑ์ (โพรลิโพรไพลีน) และปุ๋ย (ยูเรียและแอมโมเนีย) มูลค่า 9.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในประเทศไนจีเรีย

เงินกู้ดังกล่าวมีกำหนดชำระคืนภายใน 7 ปี  และนอกจากเงินทุนจากธนาคารแล้วเงินทุนส่วนอื่นจะมาจาก กลุ่มดังโกเตอินเตอร์แนชั่นนัล 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และสถาบันการเงินอื่นๆ อีก 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

โรงกลั่นดังกล่าวจะก่อสร้างแล้วเสร็จสามารถเปิดดำเนินการได้ในปี 2559 มีกำลังการผลิตน้ำมันได้วันละ 400,000 บาร์เรล และเมื่อสร้างเสร็จจะเป็นโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา

วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

แดเนียลได้กลับบ้าน

ดร.อดัมส์ โอชิอมโอเล่ ผู้ว่าการรัฐ เอโด(ซ้าย) แดเนียล และนายจอร์จ อูริเอซี ซีอีโอการท่าอากาศยานสหพันธ์ (ขวา)

แดเนียลได้กลับบ้าน

อยู่ๆเด็กชายริกกี้ แดเนียล โอยเคนา ก็เป็นที่รู้จักของชาวไนจีเรียทั่วประเทศ เพราะเมื่อสองสัปดาห์ก่อนไปแอบเกาะที่พักล้อเครื่องบินของสายการบินอาริกแอร์ เดินทางจากเมืองเบนินไปนครลากอส เมื่อเครื่องบินลงจอดที่สนามบินลากอสแล้วจึงมีคนเห็นแดเนียลออกมาจากที่พักล้อเครื่องบินจึงแจ้งเจ้าหน้าที่จับกุม เรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและหนังสือพิมพ์ระดับชาติต่างลงพิมพ์ข่าวเรื่องราวของแดเนียล

ภายหลังจากเจ้าหน้าที่สนามบินที่นครลากอสตรวจร่างกาย พบว่าเด็กชายแดเนียลไม่ได้รับบาดเจ็บจากการแอบเดินทางมาในที่พักล้อเครื่องบิน ซึ่งเดินทางจากเบนินไปนครลากอสใช้เวลารวม 40 นาที ที่ระดับความสูง 18,000 - 20,000 ฟุต และจากการสอบปากคำเด็กชายแดเนียลแล้วสรุปว่าเป็นเรื่องของการซุกซนตามประสาเด็กผู้ชายที่อยากหนีออกจากบ้านไปเที่ยว ในช่วงที่โรงเรียนหยุด จึงนำตัวแดเนียลมาส่งให้ที่รัฐเอโดแล้ว แต่ขากลับนี่เดินทางโดยรถยนต์และให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยติดตามมาดูแลด้วยสามนาย

ทางการรัฐเอโดได้รับตัวแดเนียลแล้วได้มอบให้จิตแพทย์มาตรวจ พบว่าแดเนียลเป็นเด็กสุขภาพจิตดี ฉลาด กระตือรือล้น ผู้ว่าการรัฐจึงตกลงใจให้ทุนการศึกษาแดเนียลเพื่อเรียนต่อในโรงเรียนมัธยมที่มีคุณภาพการเรียนการสอนดีที่สุดของรัฐ โดยท่านผู้ว่าการรัฐบอกว่า ที่ให้ทุนการศึกษาแก่เด็กคนนี้ขอใครๆ อย่าคิดว่าเป็นการยั่วยุให้เด็กคนอื่นๆหนีออกจากบ้านไปซุกซน แล้วจะมีผู้ใหญ่ใจดีมาให้ทุนการศึกษา แต่ให้คิดว่า แดเนียลเป็นเด็กฉลาดเฉลียวและมีจินตนาการอยากทำอะไรตามใจตัวเองจนพ่อแม่ไม่สามารถดูแลได้จึงทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น โรงเรียนที่จะให้แดเนียลไปเข้าเรียนนั้นเป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาระบบกินนอนอยู่ที่โรงเรียน  ซึ่งการที่โรงเรียนแบบนี้เข้มงวดน่าจะช่วยอบรมขัดเกลาให้แดเนียลมีวินัยได้

แดเนียลบอกกับนักข่าวที่ไปสัมภาษณ์ว่า อยากกลับบ้านเร็วๆ อยากกลับไปเรียนหนังสือ และในอนาคตอยากเป็นวิศวกร

วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2556

การปรับครม. ของประธานาธิบดีโจนาธาน


การปรับครม. ของประธานาธิบดีโจนาธาน


 เมื่อวันพุธที่ 11 กันยายน 2556 ประธานาธิบดี กู้ดลัก โจนาธานได้ประกาศปลดรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลจำนวน 6 คน ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ   กระทรวงคณะกรรมการวางแผนแห่งชาติ  กระทรวงที่ดินและเคหะ  กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสิ่งแวดล้อม และ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นอกจากนั้นยังปลดรัฐมนตรีช่วยว่าการอีก จำนวน 3 คน ได้แก่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงเกษตร

อันที่จริงมีกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีมาตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมศกนี้ การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้นับว่าเป็นการปรับใหญ่คณะรัฐบาลของประธานาธิบดีโจนาธาน และเป็นการปรับในขณะที่พรรค PDP กำลังมีความแตกแยก  ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโจนาธานได้ปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีมาบ้างแล้วเช่นกัน อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาเยาวชน ซึ่งเป็นการปรับเล็ก

สื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์ว่า การปรับครม. โดยปลดรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการรวม 9 คน แต่ยังไม่แต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่เข้ามาปฏิบัติงานแทนเช่นนี้มีนัยยะเป็นการปรับครม.ตามกระแสการเมือง โดยประธานาธิบดีได้ปรับรัฐมนตรีที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมืองใหญ่ที่เป็นปฏิปักษ์กับประธานาธิบดีอยู่ในขณะนี้ออกจากตำแหน่ง  และเป็นที่เชื่อว่าบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งสืบแทนจะต้องมาจากสายการเมืองที่สนับสนุนประธานาธิบดีโจนาธาน โดยเฉพาะสนับสนุนให้ประธานาธิบดีโจนาธานเป็นผู้แทนพรรค PDP ลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สอง

วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556

สมองไหลที่ไนจีเรีย


สมองไหลที่ไนจีเรีย

ปัจจุบันมีแพทย์ไนจีเรียทำงานอยู่ที่อังกฤษจำนวน 3,936 คน นี่นับแต่แพทย์นะไม่นับบุคลากรอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพราะหากนับก็จะมีมากกว่านี้

ตามสถิติของทางการไนจีเรีย มีผู้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพแพทย์และทันตแพทย์ในไนจีเรียรวม 71,740 คน แต่ขณะนี้มีแพทย์และทันตแพทย์ปฏิบัติงานอยู่ภายในประเทศจริง เพียง 27,000 คนเท่านั้น  นับว่าเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง เพราะหากเทียบกับจำนวนประชากร 167 ล้านคน สัดส่วนของแพทย์ต่อประชากร เท่ากับ 1/6,185 คือแพทย์คนหนึ่งต้องดูแลประชากรจำนวน 6,185 คน ซึ่งไม่มีทางที่จะเป็นไปได้

ประมาณว่ามีขณะนี้มีแพทย์ที่เรียนจบจากไนจีเรียไปทำงานในต่างประเทศไม่น้อยกว่า 15,000 คน โดยเฉพาะที่นิยมกันคือ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา (ประมาณ 4,000 คน)  ซาอุดีอารเบีย แอฟริกาใต้ บอตสวาน่า กาน่า ฯลฯ

เหตุผลหลักที่แพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับอนามัยและสาธารณสุขไนจีเรียเดินทางไปทำงานในต่างประเทศคือการแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า เงินเดือนสูงกว่า มาตรฐานการครองชีพที่ดีกว่า ที่สำคัญคือบุตรธิดาได้รับการศึกษาที่ดีกว่า อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย การคมนาคมสะดวก มีสาธารณูปโภคเพียงพอแก่การดำรงชีวิตประจำวัน

วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

เรื่องกระทบกระทั่งระหว่างไนจีเรียกับอังกฤษ


เรื่องกระทบกระทั่งระหว่างไนจีเรียกับอังกฤษ


 หลายเดือนมานี้ไนจีเรียกับอังกฤษไม่ค่อยกินเส้นกันเท่าไหร่

ปัญหามาจากเรื่องที่เมื่อเดือนมิถุยายน ศกนี้ กระทรวงมหาดไทยอังกฤษประกาศให้ไนจีเรียรวมอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการที่ผู้ขอวีซ่าเข้าอังกฤษจะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเข้าเมืองของประเทศ ซึ่งนอกจากไนจีเรียแล้วประเทศที่ถูกระบุยังประกอบด้วย กานา อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกาและบังกลาเทศ

เริ่มจากเดือนพฤศจิกายน 2556 ทางการอังกฤษจะบังคับใช้ระเบียบใหม่ในการยื่นคำร้องขอวีซ่าสำหรับประเทศกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว โดยผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปซี่งยื่นขอวีซ่าประเภทที่สามารถพำนักอยู่ในประเทศได้นานเกิน 6 เดือนขึ้นไปจะต้องวางเงินประกันจำนวน 3,000 ปอนด์ (4,600 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3,500 ยูโร หรือประมาณ 750,000 ไนร่า) โดยเงินประกันนี้ หากผู้ร้องขอวีซ่าไม่เดินทางออกจากอังกฤษเมื่อวีซ่าหมดอายุทางการอังกฤษจะยึดเงินจำนวนนี้เป็นเงินของแผ่นดิน แต่หากผู้ร้องขอวีซ่าเดินทางออกจากอังกฤษตามกำหนดก็สามารถเรียกเงินประกันคืนได้

กระทรวงมหาดไทยของอังกฤษแถลงว่า ระเบียบดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการสนองตอบนโยบายของรัฐบาลอังกฤษที่ต้องการจำกัดจำนวนคนต่างชาติซึ่งอพยพเข้าไปอยู่ในอังกฤษโดยผิดกฎหมายเข้าเมือง และไปแย่งใช้สาธารณูปโภคของชาวอังกฤษอยู่ในปัจจุบัน

ตามสถิติเมื่อปี 2555 ทางการอังกฤษออกวีซ่าประเภท 6 เดือนให้คนชาติอินเดีย 296,000 ราย ไนจีเรีย 101,000 ราย ปากีสถาน 53,000 ราย ศรีลังกาและบังกลาเทศ ประเทศละ 14,000 ราย

รัฐบาลไนจีเรียไม่พอใจระเบียบการขอวีซ่าใหม่ที่ทางการอังกฤษจะนำมาใช้ โดยเห็นว่าเป็นระเบียบที่เลือกปฏิบัติอันแสดงถึงการเหยียดผิวและมีอคติต่อชาวไนจีเรีย

มีรายงานในหน้าหนังสือพิมพ์ด้วยว่ารัฐมนตรีต่างประเทศไนจีเรียขู่ไว้ว่าหากอังกฤษบังคับใช้ระเบียบการขอวีซ่าใหม่ต่อคนชาติไนจีเรียเมื่อใด รัฐบาลไนจีเรียจะตอบโต้โดยจะออกระเบียบบังคับเฉพาะชาวอังกฤษที่ยื่นขอวีซ่าเข้าประเทศไนจีเรีย ให้วางหลักทรัพย์ค้ำประกันเช่นเดียวกัน แต่จะกำหนดให้มากกว่าเป็น 5,000 ปอนด์ไปเลย

เรื่องนี้ยังไม่จบแต่นำมาเล่าไว้ให้เห็นบรรยากาศในประเทศนี้ และวิธีคิดของผู้ผู้บริหารบ้านเมือง


วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556

กรุงอาบูจากำลังขยายตัว


กรุงอาบูจากำลังขยายตัว

นับแต่ประกาศตั้งกรุงอาบูจาเป็นเมืองหลวงของประเทศเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 (1976) เป็นต้นมาชาวไนจีเรียจากทั่วสารทิศก็หลั่งไหลอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันสาธารณูปโภคที่ทางการจัดให้บริการอาทิ ไฟฟ้า น้ำประปา ระบบโทรคมนาคม ระบบขนส่งมวลชน มีไม่เพียงพอที่จะรองรับได้

อันที่จริงน้ำดิบที่นำมาผลิตเป็นน้ำประปาเป็นน้ำมาจากเขี่ยนอุสมัน ซึ่งมีปริมาณมากเพียงพอสำหรับเมืองใหญ่ที่กำลังขยายตัว แต่การจัดระบบประปาไม่สามารถตอบสนองแก่ประชากรที่อพยพเข้ามาตั้งชุมชนแถบนอกเมืองได้ทัน ทำให้ชุมชนรอบนอกเมืองหลวงแห่งนี้ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภค

การขยายตัวของชุมชนนอกเมืองหลวงแห่งนี้เป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากบางชุมชนมีการขยายตัวของประชากรถึงปีละ 20-30% เท่านั้นยังไม่พอ พวกที่อพยพมาใหม่นั้น หากไม่สามารถสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยได้ในชุมชนเดิมที่มีอยู่ก็จะพากันไปตั้งชุมชนใหม่กระจัดกระจายตามชอบใจ โดยไม่ขออนุญาตทางการ

เจ้าหน้าที่ทางการเขตปกครองนครหลวงสหพันธ์ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลสิ่งปลูกสร้างมองเห็นปัญหานี้มาตั้งแต่ปี 2546 (2003) พยายามขับไล่ชาวบ้านที่เข้าไปสร้างบ้านเรือน ชุมชนในเขตพื้นที่ของทางราชการ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ มาในยุคปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายเจรจาให้ชาวบ้านที่ปลูกบ้านเรือนรุกล้ำที่ดินของทางราชการออกจากพื้นที่ โดยเสนอแลกที่


 คือไม่ได้ไล่ให้ออกไปเฉยๆ แต่นำเอาที่ดินที่มีการสร้างสาธารณูปโภคแล้วมาเสนอแลก เพื่อให้ชุมชนที่ตั้งบ้านเรือนโดยผิดกฎหมายย้ายออกไปอยู่ที่แห่งใหม่ ที่ทางการจัดเตรียมความพร้อมไว้ให้ แรกๆนั้นชาวบ้านก็เห็นดีเห็นงามยอมเจรจาด้วยโดยดี เพราะทราบดีว่าหากไม่ยอมเจรจาทางการอาจใช้วิธีบ้าบิ่นโดยรื้อบ้านเรือนของตนเสียก็จะเดือดร้อนไปใหญ่  แต่หลังจากการเจรจาทำท่าว่าจะไปได้ดี มาบัดนี้ชุมชนผิดกฎหมายในอาบูจาก็เกิดกลับลำอีกแล้ว บอกว่า ไม่แลกที่ ไม่ย้ายไปไหนทั้งนั้น