ดร.กู๊ดลัก โจนาธาน
ประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย
กลไกการปรับปรุงด้านเกษตรกรรมของไนจีเรีย
ประธานาธิบดีกู๊ดลัก โจนาธาน เป็นคนมีความรู้ที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารประเทศโดยไต่เต้ามาจากการเป็นรองผู้ว่าราชการรัฐบาเยลซาก่อนที่จะขึ้นดำรงผู้ว่าราชการรัฐนั้นเนื่องจากผู้ว่าราชการถูกสภาถอดถอน และเป็นรองประธานาธิบดีก่อนที่จะขึ้นเป็นประธานาธิบดีเมื่อประธานาธิบดีป่วยและเสียชีวิต แต่เมื่อครบวาระก็รณรงค์หาเสียงจนชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีด้วยความสามารถและคะแนนนิยมของตนเอง ตำแหน่งที่ว่ามาเหล่านี้ล้วนเป็นตำแหน่งเลือกตั้งมาโดยการลงคะแนนเสียงของประชาชน คนที่มาจนถึงตรงนี้ได้ไม่ใช่คนธรรมดา
ความไม่ธรรมดาของประธานาธิบดีท่านนี้ประการหนึ่งคือเป็นคนที่ตั้งใจทำงาน ไม่เล่นการเมือง แบบสาดโคลน แม้เมื่อท่านชนะการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2553 พรรคการเมืองและสื่อสารมวลชนฝ่ายค้านต่างโจมตีท่านต่างๆนาๆ แต่ท่านก็ไม่ตอบโต้ คงมุ่งทำแต่งานไม่ท้อถอย และการทำงานของท่านก็ไม่ได้ทำแบบสักแต่ว่าทำ ดังในเรื่องนโยบายการปรับโครงสร้างด้านเกษตรกรรมที่ท่านชูนโยบายมาแต่แรกและได้ดร.อะคินวูมิ อะเดสินา คนเก่งที่มีประสบการในการบริหารยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐศาสตร์การเกษตรเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทท่านก็เร่งตั้งกลไกที่จะทำให้นโยบายการปรับปรุงการเกษตรกรรมของประเทศเป็นรูปธรรม
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2555 ท่านประธานาธิบดีโจนาธานได้ออกคำสั่งแต่งตั้งสภาปรับปรุงการเกษตรกรรมของประเทศ (Presidential Agricultural Transformation Implementation Council : PATIC) เพื่อเข้ามาดูแลนโยบายปรับปรุงการเกษตร (Agricultural Transformation Agenda: ATA) ของรัฐบาล ซึ่งโครงการนี้กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเป็นเจ้าภาพหลัก และมีวัตถุประสงค์สามประการคือ 1) แก้ปัญหาการว่างงาน 2) สร้างความมั่งคั่ง (สร้างรายได้ให้เกษตรกร 300 พันล้านไนร่า) โดยผ่านการสร้างงานในภาคเกษตรกรรมอย่างน้อย 3.5 ล้านตำแหน่งงาน และ 3) สร้างความมั่นคงด้านอาหารในประเทศไนจีเรีย
สภา PATIC ซึ่งมีท่านประธานาธิบดีโจนาธานเป็นประธานและมี ดร.อะคินวูมิ อะเดสินา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเป็นผู้ประสานงาน จะทำหน้าที่ติดตามการดำเนินการตามนโยบาย โดยมีผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการเกษตรเข้าร่วมเป็นสมาชิกในสภา PATIC อาทิ นายอาลิโค ดานโกเตนักธุรกิจใหญ่ของไนจีเรีย อดีตประธานาธิบดีโอลูเซกุน โอบาซันโจ ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจการเกษตรรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของประเทศ นายคานาโย เอนวานเซ ประธานกองทุนระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรม (International Fund for Agricultural Development : IFAD) นายเจฟฟรีย์ ซาค นักเศรษฐศาสตร์และศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยโคลัมเบียของสหรัฐอเมริกา
ในชั้นต้นนี้สภา PATIC ได้เริ่มงานโดยการระบุผู้มีส่วนได้เสียหลักทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งรวมถึงประชาสังคมด้วย และกำหนดขอบเขตของการร่วมมือกับพันธมิตรทั้งหมด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเน้นที่คนหนุ่มสาว) เพื่อหวังให้โครงการก่อผลสูงสุดในการขยายห่วงโซ่แห่งคุณค่า
ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะเป้าหมายหลักของโครงการปรับปรุงการเกษตกรรมของรัฐบาลในครั้งนี้ประการแรกก็คือการเพิ่มมูลค่า ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาที่สำคัญสำหรับภาคเกษตรกรรม ทั้งนี้รัฐบาลจะมุ่งให้ความสำคัญไปที่การวิเคราะห์ห่วงโซ่แห่งคุณค่าของพืชเกษตร 10 ตัว (ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าว ถั่วแดง ฝ้าย โกโก้ น้ำมันปาล์ม มะเขือเทศ หอมหัวใหญ่ ถั่วเหลือง และข้าวโพด) ปศุสัตว์และประมง ทั้งนี้โดยการสร้างงานจำนวน 3.5 ล้านตำแหน่งงานนั้นมุ่งไปที่การวิเคราะห์ห่วงโซ่แห่งคุณค่าของพืชห้าตัวแรก (มันสำปะหลัง ข้าว ถั่วแดง ฝ้าย และโกโก้) และทางการเชื่อว่าเมื่อเริ่มโครงการวิเคราะห์ห่วงโซ่แห่งคุณค่าของพืชตัวอื่นๆก็จะช่วยให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมากเช่นกัน
เป้าหมายหลักประการที่สองคือการบรรลุถึงความพอเพียง (self-sufficiency) โดยที่มีตัวชี้วัดคือการลดการนำเข้าผลผลิตที่เพาะปลูกในประเทศได้แล้ว เช่น ข้าว ข้าวสาลี น้ำตาล ซึ่งสินค้าสามตัวนี้เมื่อปี 2553 ปีเดียวไนจีเรียนำเข้าเป็นมูลค่ารวม 1 ล้านล้านไนร่า
การที่จะบรรลุเป้าหมายข้างต้นกระทรวงเกษตรฯ ทราบดีว่าเกษตรกรไนจีเรียมีสิ่งที่ท้าทายซึ่งต้องฟันฝ่าไปให้ได้หลายประการ อาทิ การที่เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงเมล็ดพันธุ์และปุ๋ย ขาดยุ้งฉางสำหรับเก็บผลผลิต ขาดข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีการสื่อสารทันสมัยเพื่อเข้าถึงข้อมูลการตลาดที่จำเป็น ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายที่จะให้ความช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการแจกบัตรแบบเดียวกับบัตรกำนัลของร้านสรรพสินค้าสำหรับซื้อปุ๋ย และช่วยเหลือในการจัดหาอุปกรณ์สื่อสารที่ใช้เทคโนโลยีมือถือและวอฟต์แวร์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันสำหรับเกษตรกรด้วย
ปรับแก้: 19 กันยายน 2555
ปรับแก้: 19 กันยายน 2555
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น