ไนจีเรียเคยห้ามนำเข้าข้าวจากต่างประเทศมาก่อน
นโยบายปรับปรุงการเกษตรกรรมของประเทศที่รัฐบาลประธานาธิบดีกู๊ดลัก โจนาธาน กำลังเร่งดำเนินการอยู่ขณะนี้ ไม่ได้เป็นของใหม่ เคยมีรัฐบาลก่อนหน้านี้พยายามทำมาแล้ว แต่ไม่สำเร็จ โดยเฉพาะนโยบายห้ามนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ
เมื่อปี 1985 รัฐบาลไนจีเรียเคยห้ามนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตภายในประเทศให้เพียงพอกับความต้องการบริโภค แต่สิบปีให้หลังต่อมาเมื่อปี 1995 รัฐบาลขณะนั้นก็ยกเลิกการห้ามนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ เพราะผลผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้นในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของประชาชน
เมื่อปี 2002 รัฐบาลของประธานาธิบดี โอลุเซกุน โอบาซันโจได้เริ่มโครงการพัฒนาข้าว โดยส่งเสริมการปลูกข้าวเพิ่มขึ้นพร้อมกับส่งเสริมกิจการสีข้าวภายในประเทศควบคู่ไปด้วย สำหรับการส่งเสริมการปลูกข้าวนั้นได้นำพันธุ์ข้าวลูกผสมพันธุ์ใหม่ๆเข้ามาให้เกษตรกรใช้เพาะปลูก และตั้งเป้าหมายว่าภายใน 5 ปี คือปี 2007 ไนจีเรียจะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกข้าวเป็น 3 ล้านเฮกตาร์ โดยในปี 2006 ผลผลิตข้าวของไนจีเรียจะเพิ่มเป็นปีละ 5 ล้านตัน และในปี 2007 เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถส่งออกข้าวไปขายในประเทศต่างๆในแอฟริกาตะวันตก และตามโครงการดังกล่าวในปี 2012 ไนจีเรียจะเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา
การทำโครงการพัฒนาข้าวในครั้งนั้นอาศัยบริษัทเอกชนผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ของประเทศชื่อ บริษัทโนโตเร เคมิคัล อินดัสตรี จำกัดเป็นแกนนำในการริเริ่มโครงการในรัฐครอส ริเวอร์และรัฐทาราบา ซึ่งมีการเพาะปลูกข้าวอยู่แล้วโดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายดำเนินการให้บริษัท 3 ประการ ได้แก่ 1) ส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหาร 2) สร้างงาน 3) สร้างรายได้ให้เกษตรกร ครั้งนั้นนับว่าเป็นครั้งแรกที่เกิดโครงการความร่วมมือในการลงทุนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ซึ่งหลายคนคาดหวังว่าจะเป็นรูปแบบส่งเสริมกสิกรรมของประเทศในอนาคต โครงการของบริษัทดังกล่าวมีพื้นที่ส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวรวม 20,000 เฮกตาร์
ปัจจุบันบริษัทโนโตเร เคมิคัล อินดัสตรียังทำโครงการพัฒนาข้าวอย่างต่อเนื่องและเป็นกลไกที่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลปัจจุบันเช่นกัน แต่เป้าหมายของโครงการที่เริ่มมาหลายปียังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้เมื่อปี 2005 ซึ่งบริษัทได้เข้าซื้อกิจการของบริษัท National Fertilizer of Nigeria และเป็นบริษัทผู้ผลิตปุ๋ยยูเรียเพียงรายเดียวของภูมิภาคซับ ซาฮารา แอฟริกา แต่กิจการของบริษัทขยายตัวใหญ่โตปรับโครงสร้างการผลิตของโรงงานปุ๋ยของบริษัทเป็นเชิงพาณิชย์ในปี 2010 โดยมีกำลังผลิตปุ๋ยแอมโมเนียปีละ 3 แสนตัน และปุ๋ยยูเรียปีละ 5 แสนตัน และเดือนเมษายน 2012 ได้ทำสัญญาร่วมทุนกับบริษัทมิตซูบิชิคอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่นจัดตั้งโรงงานผลิตยูเรียในรัฐครอส ริเวอร์ ขนาดกำลังการผลิตแอมโมเนียวันละ 1,700 ตัน ปุ๋ยยูเรียวันละ 3,000 ตัน และผลิตภัณฑ์เคมีอื่นๆวันละ 1,700 ตัน โดยจะเริ่มโครงการในปี 2013 และกำหนดแล้วเสร็จในปี 2016
ปัจจุบันแม้ไนจีเรียจะยังต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ แต่ไนจีเรียเป็นประเทศที่ผลิตข้าวได้มากเป็นอันดับสองของทวีปแอฟริการองจากอียิปต์ ผลิตถั่วเหลืองมากเป็นอันดับหนึ่งของแอฟริกา และผลิตมันสำปะหลัง แยม และโกโก้เป็นอันดับต้นๆของโลก
ผู้ที่สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://www.notore.com/index.php/about/history
(เครดิตภาพจากเว็บไซต์ http://farmlandgrab.org/11096 )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น