วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

ไนจีเรียนำเข้าข้าววันละ 1 พันล้านไนร่า


ดร.อาคินวูมิ อาโย อาเดซีนา (ขวามือ) เยี่ยมชมกิจการการเกษตรของบริษัทเอกชน

ไนจีเรียนำเข้าข้าววันละ 1 พันล้านไนร่า

ดร.อาคินวูมิ อาโย อาเดซีน่า แถลงเมื่อวันที่ 6 กันยายน ศกนี้ว่า ไนจีเรียมีแผนจะยุติการนำเข้าข้าวในปี 2015 คืออีกสามปีนับจากปีนี้ โดยท่านรัฐมนตรีคาดว่าอีกสามปีไนจีเรียจะสามารถผลิตข้าวและสีข้าวได้เพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ

ท่านรัฐมนตรีแถลงด้วยว่านโยบายยุติการนำเข้าข้าวในปี 2015 นั้นเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลในการที่จะปรับโครงสร้างภาคเกษตรกรรมทั้งหมดเพื่อเป็นสิ่งประกันว่าไนจีเรียจะมีความมั่นคงทางด้านอาหารรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะนี้

ท่านรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่าไม่สบายใจที่เห็นบ้านเมืองตกอยู่ในสภาพเป็นผู้นำเข้าข้าวเป็นมูลค่าปีละมากๆทุกปี ทั้งที่ข้าวก็เป็นพืชที่ปลูกขึ้นได้ทุกหนทุกแห่งในไนจีเรีย

ท่านรัฐมนตรีเปิดเผยว่าไนจีเรียนำเข้าข้าวเป็นมูลค่าปีละ 356 พันล้านไนร่า หรือหากคำนวณเป็นมูลค่าการนำเข้ารายวันตกวันละประมาณ 1 พันล้านไนร่าทีเดียว แล้วก็นำเข้าข้าวอยู่อย่างนี้มาเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ทุกคนทราบกันดีว่าหากนำเข้าข้าวในอัตราปีละ 5 ล้านตันเช่นทุกวันนี้ ต่อไปอีกสี่สิบปีข้างหน้าคือปี 2050 ตัวเลขข้าวนำเข้านี้จะเพิ่มเป็น 35 ล้านตัน ซึ่งเห็นได้ว่าหากไม่มีรัฐบาลไหนทำอะไรกับเรื่องนี้การที่ปล่อยให้เศรษฐกิจของบ้านเมืองขึ้นอยู่กับข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศแล้ว ในอนาคตการนำเข้าข้าวจะเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจของบ้านเมือง

ท่านรัฐมนตรียืนยันในโอกาสเดียวกันว่าการเกษตรกรรมมีพลังยิ่งใหญ่ที่สุดในการเปลี่ยนชีวิตของประชาชนจากยากจนเป็นมั่งคั่ง โดยยกตัวอย่างของประเทศจีนและประเทศมาลาวีในแอฟริกาที่มั่งคั่งจากผลผลิตทางการเกษตร โดยระบุด้วยว่าประเทศที่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรมีเคล็ดวิชาหรือยุทธวิธีอยู่สองประการได้แก่ 1) การปรับปรุงพันธุ์พืชและ 2) การใช้ปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพ

ท่านรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมด้วยว่า ปัจจุบันข้าวที่สีที่โรงสีในรัฐอีบอนยีเป็นข้าวที่มีคุณภาพ และยืนยันด้วยว่าในยุคที่ท่านรัฐมนตรีบริหารกระทรวงเกษตรจะพยายามนำเสนอนโยบายการเกษตรที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทั้งนี้ท่านชี้แจงด้วยว่าประธานาธิบดีโจนาธานมีนโยบายแน่วแน่ที่จะส่งเสริมโครงการปฏิรูปเกษตรกรรมโดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มผลผลิตอาหารในระบบการผลิตภายในประเทศอีกร้อยละ 20 ซึ่งการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวการเกษตรกรรมของประเทศจะต้องไม่เป็นเพียงการพัฒนาของเก่าให้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ต้องเป็นเรื่องของการลงทุนและการประกอบการเชิงธุรกิจ โดยเน้นการวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าจากเมล็ดพันธุ์ไปถึงปุ๋ย กระบวนการผลิต การเพิ่มมูลค่าและการเก็บผลผลิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น