วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

พบผู้ป่วยอหิวาตกโรคที่รัฐโอโย


พบผู้ป่วยอหิวาตกโรคที่รัฐโอโย

เมื่อวันที่ 5 กันยายน ศกนี้ สำนักงานสาธารณสุขรัฐโอโยแถลงว่า พบผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคอหิวาตกโรคในรัฐโอโยแล้วจำนวน 8 ราย และมีผู้ป่วยติดเชื้อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอีกจำนวน 10 ราย

รายงานดังกล่าวเป็นข่าวผู้ป่วยด้วยโรคอหิวาตกโรคกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศไนจีเรีย ในรอบปี 2556 ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2553 และปี 2554 มีรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตจากอหิวาตกโรคทั่วประเทศเกือบสองพันราย


อหิวาตกโรคเป็นโรคที่แพร่ระบาดในไนจีเรียช่วงที่ฝนตกชุก ทั้งนี้เป็นผลมาจากการขาดแคลนน้ำสะอาด และแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

โรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา

 นายอลิโก ดังโกเต ประธานกลุ่มดังโกเต อินเตอร์แนชั่นแนล สัมผัสมือกับรองประธานาธิบดีภายหลังการลงนามสัญญาเงินกู้ซินดอเคตโลน กับ นายอานิล ดูอา ซีอีโอธนาคารสแตนดาร์ชาร์เตอร์ด เวสต์แอฟริกา
รองประธานาธิบดี นามาดี ซัมโบ(กลาง)ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีการลงนาม

โรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา

เมื่อวันที่ 4 กันยายน ศกนี้ นายอลิโกะ ดังโกเต้ ประธานกลุ่มดังโกเต้ อินเตอร์แนชั่นนัลได้ลงนามในสัญญาเงินกู้ซินดิเคตโลน จำนวน 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐร่วมกับนายอานิล ดูอา ซีอีโอธนาคารสแตนดาร์ ชาร์เตอร์เวสต์แอฟริกา เพื่อก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน(แกสโซลีน ดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันก๊าด ฯลฯ) โรงงานผลิตเคมีภัณฑ์ (โพรลิโพรไพลีน) และปุ๋ย (ยูเรียและแอมโมเนีย) มูลค่า 9.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในประเทศไนจีเรีย

เงินกู้ดังกล่าวมีกำหนดชำระคืนภายใน 7 ปี  และนอกจากเงินทุนจากธนาคารแล้วเงินทุนส่วนอื่นจะมาจาก กลุ่มดังโกเตอินเตอร์แนชั่นนัล 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และสถาบันการเงินอื่นๆ อีก 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

โรงกลั่นดังกล่าวจะก่อสร้างแล้วเสร็จสามารถเปิดดำเนินการได้ในปี 2559 มีกำลังการผลิตน้ำมันได้วันละ 400,000 บาร์เรล และเมื่อสร้างเสร็จจะเป็นโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา

วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

แดเนียลได้กลับบ้าน

ดร.อดัมส์ โอชิอมโอเล่ ผู้ว่าการรัฐ เอโด(ซ้าย) แดเนียล และนายจอร์จ อูริเอซี ซีอีโอการท่าอากาศยานสหพันธ์ (ขวา)

แดเนียลได้กลับบ้าน

อยู่ๆเด็กชายริกกี้ แดเนียล โอยเคนา ก็เป็นที่รู้จักของชาวไนจีเรียทั่วประเทศ เพราะเมื่อสองสัปดาห์ก่อนไปแอบเกาะที่พักล้อเครื่องบินของสายการบินอาริกแอร์ เดินทางจากเมืองเบนินไปนครลากอส เมื่อเครื่องบินลงจอดที่สนามบินลากอสแล้วจึงมีคนเห็นแดเนียลออกมาจากที่พักล้อเครื่องบินจึงแจ้งเจ้าหน้าที่จับกุม เรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและหนังสือพิมพ์ระดับชาติต่างลงพิมพ์ข่าวเรื่องราวของแดเนียล

ภายหลังจากเจ้าหน้าที่สนามบินที่นครลากอสตรวจร่างกาย พบว่าเด็กชายแดเนียลไม่ได้รับบาดเจ็บจากการแอบเดินทางมาในที่พักล้อเครื่องบิน ซึ่งเดินทางจากเบนินไปนครลากอสใช้เวลารวม 40 นาที ที่ระดับความสูง 18,000 - 20,000 ฟุต และจากการสอบปากคำเด็กชายแดเนียลแล้วสรุปว่าเป็นเรื่องของการซุกซนตามประสาเด็กผู้ชายที่อยากหนีออกจากบ้านไปเที่ยว ในช่วงที่โรงเรียนหยุด จึงนำตัวแดเนียลมาส่งให้ที่รัฐเอโดแล้ว แต่ขากลับนี่เดินทางโดยรถยนต์และให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยติดตามมาดูแลด้วยสามนาย

ทางการรัฐเอโดได้รับตัวแดเนียลแล้วได้มอบให้จิตแพทย์มาตรวจ พบว่าแดเนียลเป็นเด็กสุขภาพจิตดี ฉลาด กระตือรือล้น ผู้ว่าการรัฐจึงตกลงใจให้ทุนการศึกษาแดเนียลเพื่อเรียนต่อในโรงเรียนมัธยมที่มีคุณภาพการเรียนการสอนดีที่สุดของรัฐ โดยท่านผู้ว่าการรัฐบอกว่า ที่ให้ทุนการศึกษาแก่เด็กคนนี้ขอใครๆ อย่าคิดว่าเป็นการยั่วยุให้เด็กคนอื่นๆหนีออกจากบ้านไปซุกซน แล้วจะมีผู้ใหญ่ใจดีมาให้ทุนการศึกษา แต่ให้คิดว่า แดเนียลเป็นเด็กฉลาดเฉลียวและมีจินตนาการอยากทำอะไรตามใจตัวเองจนพ่อแม่ไม่สามารถดูแลได้จึงทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น โรงเรียนที่จะให้แดเนียลไปเข้าเรียนนั้นเป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาระบบกินนอนอยู่ที่โรงเรียน  ซึ่งการที่โรงเรียนแบบนี้เข้มงวดน่าจะช่วยอบรมขัดเกลาให้แดเนียลมีวินัยได้

แดเนียลบอกกับนักข่าวที่ไปสัมภาษณ์ว่า อยากกลับบ้านเร็วๆ อยากกลับไปเรียนหนังสือ และในอนาคตอยากเป็นวิศวกร

วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2556

การปรับครม. ของประธานาธิบดีโจนาธาน


การปรับครม. ของประธานาธิบดีโจนาธาน


 เมื่อวันพุธที่ 11 กันยายน 2556 ประธานาธิบดี กู้ดลัก โจนาธานได้ประกาศปลดรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลจำนวน 6 คน ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ   กระทรวงคณะกรรมการวางแผนแห่งชาติ  กระทรวงที่ดินและเคหะ  กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสิ่งแวดล้อม และ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นอกจากนั้นยังปลดรัฐมนตรีช่วยว่าการอีก จำนวน 3 คน ได้แก่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงเกษตร

อันที่จริงมีกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีมาตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมศกนี้ การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้นับว่าเป็นการปรับใหญ่คณะรัฐบาลของประธานาธิบดีโจนาธาน และเป็นการปรับในขณะที่พรรค PDP กำลังมีความแตกแยก  ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโจนาธานได้ปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีมาบ้างแล้วเช่นกัน อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาเยาวชน ซึ่งเป็นการปรับเล็ก

สื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์ว่า การปรับครม. โดยปลดรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการรวม 9 คน แต่ยังไม่แต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่เข้ามาปฏิบัติงานแทนเช่นนี้มีนัยยะเป็นการปรับครม.ตามกระแสการเมือง โดยประธานาธิบดีได้ปรับรัฐมนตรีที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมืองใหญ่ที่เป็นปฏิปักษ์กับประธานาธิบดีอยู่ในขณะนี้ออกจากตำแหน่ง  และเป็นที่เชื่อว่าบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งสืบแทนจะต้องมาจากสายการเมืองที่สนับสนุนประธานาธิบดีโจนาธาน โดยเฉพาะสนับสนุนให้ประธานาธิบดีโจนาธานเป็นผู้แทนพรรค PDP ลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สอง

วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556

สมองไหลที่ไนจีเรีย


สมองไหลที่ไนจีเรีย

ปัจจุบันมีแพทย์ไนจีเรียทำงานอยู่ที่อังกฤษจำนวน 3,936 คน นี่นับแต่แพทย์นะไม่นับบุคลากรอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพราะหากนับก็จะมีมากกว่านี้

ตามสถิติของทางการไนจีเรีย มีผู้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพแพทย์และทันตแพทย์ในไนจีเรียรวม 71,740 คน แต่ขณะนี้มีแพทย์และทันตแพทย์ปฏิบัติงานอยู่ภายในประเทศจริง เพียง 27,000 คนเท่านั้น  นับว่าเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง เพราะหากเทียบกับจำนวนประชากร 167 ล้านคน สัดส่วนของแพทย์ต่อประชากร เท่ากับ 1/6,185 คือแพทย์คนหนึ่งต้องดูแลประชากรจำนวน 6,185 คน ซึ่งไม่มีทางที่จะเป็นไปได้

ประมาณว่ามีขณะนี้มีแพทย์ที่เรียนจบจากไนจีเรียไปทำงานในต่างประเทศไม่น้อยกว่า 15,000 คน โดยเฉพาะที่นิยมกันคือ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา (ประมาณ 4,000 คน)  ซาอุดีอารเบีย แอฟริกาใต้ บอตสวาน่า กาน่า ฯลฯ

เหตุผลหลักที่แพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับอนามัยและสาธารณสุขไนจีเรียเดินทางไปทำงานในต่างประเทศคือการแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า เงินเดือนสูงกว่า มาตรฐานการครองชีพที่ดีกว่า ที่สำคัญคือบุตรธิดาได้รับการศึกษาที่ดีกว่า อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย การคมนาคมสะดวก มีสาธารณูปโภคเพียงพอแก่การดำรงชีวิตประจำวัน

วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

เรื่องกระทบกระทั่งระหว่างไนจีเรียกับอังกฤษ


เรื่องกระทบกระทั่งระหว่างไนจีเรียกับอังกฤษ


 หลายเดือนมานี้ไนจีเรียกับอังกฤษไม่ค่อยกินเส้นกันเท่าไหร่

ปัญหามาจากเรื่องที่เมื่อเดือนมิถุยายน ศกนี้ กระทรวงมหาดไทยอังกฤษประกาศให้ไนจีเรียรวมอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการที่ผู้ขอวีซ่าเข้าอังกฤษจะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเข้าเมืองของประเทศ ซึ่งนอกจากไนจีเรียแล้วประเทศที่ถูกระบุยังประกอบด้วย กานา อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกาและบังกลาเทศ

เริ่มจากเดือนพฤศจิกายน 2556 ทางการอังกฤษจะบังคับใช้ระเบียบใหม่ในการยื่นคำร้องขอวีซ่าสำหรับประเทศกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว โดยผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปซี่งยื่นขอวีซ่าประเภทที่สามารถพำนักอยู่ในประเทศได้นานเกิน 6 เดือนขึ้นไปจะต้องวางเงินประกันจำนวน 3,000 ปอนด์ (4,600 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3,500 ยูโร หรือประมาณ 750,000 ไนร่า) โดยเงินประกันนี้ หากผู้ร้องขอวีซ่าไม่เดินทางออกจากอังกฤษเมื่อวีซ่าหมดอายุทางการอังกฤษจะยึดเงินจำนวนนี้เป็นเงินของแผ่นดิน แต่หากผู้ร้องขอวีซ่าเดินทางออกจากอังกฤษตามกำหนดก็สามารถเรียกเงินประกันคืนได้

กระทรวงมหาดไทยของอังกฤษแถลงว่า ระเบียบดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการสนองตอบนโยบายของรัฐบาลอังกฤษที่ต้องการจำกัดจำนวนคนต่างชาติซึ่งอพยพเข้าไปอยู่ในอังกฤษโดยผิดกฎหมายเข้าเมือง และไปแย่งใช้สาธารณูปโภคของชาวอังกฤษอยู่ในปัจจุบัน

ตามสถิติเมื่อปี 2555 ทางการอังกฤษออกวีซ่าประเภท 6 เดือนให้คนชาติอินเดีย 296,000 ราย ไนจีเรีย 101,000 ราย ปากีสถาน 53,000 ราย ศรีลังกาและบังกลาเทศ ประเทศละ 14,000 ราย

รัฐบาลไนจีเรียไม่พอใจระเบียบการขอวีซ่าใหม่ที่ทางการอังกฤษจะนำมาใช้ โดยเห็นว่าเป็นระเบียบที่เลือกปฏิบัติอันแสดงถึงการเหยียดผิวและมีอคติต่อชาวไนจีเรีย

มีรายงานในหน้าหนังสือพิมพ์ด้วยว่ารัฐมนตรีต่างประเทศไนจีเรียขู่ไว้ว่าหากอังกฤษบังคับใช้ระเบียบการขอวีซ่าใหม่ต่อคนชาติไนจีเรียเมื่อใด รัฐบาลไนจีเรียจะตอบโต้โดยจะออกระเบียบบังคับเฉพาะชาวอังกฤษที่ยื่นขอวีซ่าเข้าประเทศไนจีเรีย ให้วางหลักทรัพย์ค้ำประกันเช่นเดียวกัน แต่จะกำหนดให้มากกว่าเป็น 5,000 ปอนด์ไปเลย

เรื่องนี้ยังไม่จบแต่นำมาเล่าไว้ให้เห็นบรรยากาศในประเทศนี้ และวิธีคิดของผู้ผู้บริหารบ้านเมือง


วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556

กรุงอาบูจากำลังขยายตัว


กรุงอาบูจากำลังขยายตัว

นับแต่ประกาศตั้งกรุงอาบูจาเป็นเมืองหลวงของประเทศเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 (1976) เป็นต้นมาชาวไนจีเรียจากทั่วสารทิศก็หลั่งไหลอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันสาธารณูปโภคที่ทางการจัดให้บริการอาทิ ไฟฟ้า น้ำประปา ระบบโทรคมนาคม ระบบขนส่งมวลชน มีไม่เพียงพอที่จะรองรับได้

อันที่จริงน้ำดิบที่นำมาผลิตเป็นน้ำประปาเป็นน้ำมาจากเขี่ยนอุสมัน ซึ่งมีปริมาณมากเพียงพอสำหรับเมืองใหญ่ที่กำลังขยายตัว แต่การจัดระบบประปาไม่สามารถตอบสนองแก่ประชากรที่อพยพเข้ามาตั้งชุมชนแถบนอกเมืองได้ทัน ทำให้ชุมชนรอบนอกเมืองหลวงแห่งนี้ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภค

การขยายตัวของชุมชนนอกเมืองหลวงแห่งนี้เป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากบางชุมชนมีการขยายตัวของประชากรถึงปีละ 20-30% เท่านั้นยังไม่พอ พวกที่อพยพมาใหม่นั้น หากไม่สามารถสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยได้ในชุมชนเดิมที่มีอยู่ก็จะพากันไปตั้งชุมชนใหม่กระจัดกระจายตามชอบใจ โดยไม่ขออนุญาตทางการ

เจ้าหน้าที่ทางการเขตปกครองนครหลวงสหพันธ์ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลสิ่งปลูกสร้างมองเห็นปัญหานี้มาตั้งแต่ปี 2546 (2003) พยายามขับไล่ชาวบ้านที่เข้าไปสร้างบ้านเรือน ชุมชนในเขตพื้นที่ของทางราชการ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ มาในยุคปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายเจรจาให้ชาวบ้านที่ปลูกบ้านเรือนรุกล้ำที่ดินของทางราชการออกจากพื้นที่ โดยเสนอแลกที่


 คือไม่ได้ไล่ให้ออกไปเฉยๆ แต่นำเอาที่ดินที่มีการสร้างสาธารณูปโภคแล้วมาเสนอแลก เพื่อให้ชุมชนที่ตั้งบ้านเรือนโดยผิดกฎหมายย้ายออกไปอยู่ที่แห่งใหม่ ที่ทางการจัดเตรียมความพร้อมไว้ให้ แรกๆนั้นชาวบ้านก็เห็นดีเห็นงามยอมเจรจาด้วยโดยดี เพราะทราบดีว่าหากไม่ยอมเจรจาทางการอาจใช้วิธีบ้าบิ่นโดยรื้อบ้านเรือนของตนเสียก็จะเดือดร้อนไปใหญ่  แต่หลังจากการเจรจาทำท่าว่าจะไปได้ดี มาบัดนี้ชุมชนผิดกฎหมายในอาบูจาก็เกิดกลับลำอีกแล้ว บอกว่า ไม่แลกที่ ไม่ย้ายไปไหนทั้งนั้น

วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2556

ไนจีเรียมีพลอย

ไนจีเรียมีพลอย

ไนจีเรียเป็นแหล่งพลอยไพลินที่มีชื่อแห่งหนึ่งของโลก ปัจจุบันมีการขุดพลอยที่เมือง Antah และ Gidan Waya ในรัฐ Kaduna เมือง Gunda ในรัฐ Yobe เมือง Mumbilla Plateau ในรัฐ Taraba เมือง Bogoro ในรัฐ Baudi และเมือง Bokkos ในรัฐ Plateau

นอกจากไพลินแล้ว ไนจีเรียยังมีอัญมณีอื่นๆอีก อาทิ  มรกต เพทาย อความารีน ทูรมารีน  ผู้สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์  www.mmsd.gov.ng