วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

พบผู้ป่วยอหิวาตกโรคที่รัฐโอโย


พบผู้ป่วยอหิวาตกโรคที่รัฐโอโย

เมื่อวันที่ 5 กันยายน ศกนี้ สำนักงานสาธารณสุขรัฐโอโยแถลงว่า พบผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคอหิวาตกโรคในรัฐโอโยแล้วจำนวน 8 ราย และมีผู้ป่วยติดเชื้อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอีกจำนวน 10 ราย

รายงานดังกล่าวเป็นข่าวผู้ป่วยด้วยโรคอหิวาตกโรคกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศไนจีเรีย ในรอบปี 2556 ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2553 และปี 2554 มีรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตจากอหิวาตกโรคทั่วประเทศเกือบสองพันราย


อหิวาตกโรคเป็นโรคที่แพร่ระบาดในไนจีเรียช่วงที่ฝนตกชุก ทั้งนี้เป็นผลมาจากการขาดแคลนน้ำสะอาด และแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

โรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา

 นายอลิโก ดังโกเต ประธานกลุ่มดังโกเต อินเตอร์แนชั่นแนล สัมผัสมือกับรองประธานาธิบดีภายหลังการลงนามสัญญาเงินกู้ซินดอเคตโลน กับ นายอานิล ดูอา ซีอีโอธนาคารสแตนดาร์ชาร์เตอร์ด เวสต์แอฟริกา
รองประธานาธิบดี นามาดี ซัมโบ(กลาง)ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีการลงนาม

โรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา

เมื่อวันที่ 4 กันยายน ศกนี้ นายอลิโกะ ดังโกเต้ ประธานกลุ่มดังโกเต้ อินเตอร์แนชั่นนัลได้ลงนามในสัญญาเงินกู้ซินดิเคตโลน จำนวน 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐร่วมกับนายอานิล ดูอา ซีอีโอธนาคารสแตนดาร์ ชาร์เตอร์เวสต์แอฟริกา เพื่อก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน(แกสโซลีน ดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันก๊าด ฯลฯ) โรงงานผลิตเคมีภัณฑ์ (โพรลิโพรไพลีน) และปุ๋ย (ยูเรียและแอมโมเนีย) มูลค่า 9.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในประเทศไนจีเรีย

เงินกู้ดังกล่าวมีกำหนดชำระคืนภายใน 7 ปี  และนอกจากเงินทุนจากธนาคารแล้วเงินทุนส่วนอื่นจะมาจาก กลุ่มดังโกเตอินเตอร์แนชั่นนัล 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และสถาบันการเงินอื่นๆ อีก 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

โรงกลั่นดังกล่าวจะก่อสร้างแล้วเสร็จสามารถเปิดดำเนินการได้ในปี 2559 มีกำลังการผลิตน้ำมันได้วันละ 400,000 บาร์เรล และเมื่อสร้างเสร็จจะเป็นโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา

วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

แดเนียลได้กลับบ้าน

ดร.อดัมส์ โอชิอมโอเล่ ผู้ว่าการรัฐ เอโด(ซ้าย) แดเนียล และนายจอร์จ อูริเอซี ซีอีโอการท่าอากาศยานสหพันธ์ (ขวา)

แดเนียลได้กลับบ้าน

อยู่ๆเด็กชายริกกี้ แดเนียล โอยเคนา ก็เป็นที่รู้จักของชาวไนจีเรียทั่วประเทศ เพราะเมื่อสองสัปดาห์ก่อนไปแอบเกาะที่พักล้อเครื่องบินของสายการบินอาริกแอร์ เดินทางจากเมืองเบนินไปนครลากอส เมื่อเครื่องบินลงจอดที่สนามบินลากอสแล้วจึงมีคนเห็นแดเนียลออกมาจากที่พักล้อเครื่องบินจึงแจ้งเจ้าหน้าที่จับกุม เรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและหนังสือพิมพ์ระดับชาติต่างลงพิมพ์ข่าวเรื่องราวของแดเนียล

ภายหลังจากเจ้าหน้าที่สนามบินที่นครลากอสตรวจร่างกาย พบว่าเด็กชายแดเนียลไม่ได้รับบาดเจ็บจากการแอบเดินทางมาในที่พักล้อเครื่องบิน ซึ่งเดินทางจากเบนินไปนครลากอสใช้เวลารวม 40 นาที ที่ระดับความสูง 18,000 - 20,000 ฟุต และจากการสอบปากคำเด็กชายแดเนียลแล้วสรุปว่าเป็นเรื่องของการซุกซนตามประสาเด็กผู้ชายที่อยากหนีออกจากบ้านไปเที่ยว ในช่วงที่โรงเรียนหยุด จึงนำตัวแดเนียลมาส่งให้ที่รัฐเอโดแล้ว แต่ขากลับนี่เดินทางโดยรถยนต์และให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยติดตามมาดูแลด้วยสามนาย

ทางการรัฐเอโดได้รับตัวแดเนียลแล้วได้มอบให้จิตแพทย์มาตรวจ พบว่าแดเนียลเป็นเด็กสุขภาพจิตดี ฉลาด กระตือรือล้น ผู้ว่าการรัฐจึงตกลงใจให้ทุนการศึกษาแดเนียลเพื่อเรียนต่อในโรงเรียนมัธยมที่มีคุณภาพการเรียนการสอนดีที่สุดของรัฐ โดยท่านผู้ว่าการรัฐบอกว่า ที่ให้ทุนการศึกษาแก่เด็กคนนี้ขอใครๆ อย่าคิดว่าเป็นการยั่วยุให้เด็กคนอื่นๆหนีออกจากบ้านไปซุกซน แล้วจะมีผู้ใหญ่ใจดีมาให้ทุนการศึกษา แต่ให้คิดว่า แดเนียลเป็นเด็กฉลาดเฉลียวและมีจินตนาการอยากทำอะไรตามใจตัวเองจนพ่อแม่ไม่สามารถดูแลได้จึงทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น โรงเรียนที่จะให้แดเนียลไปเข้าเรียนนั้นเป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาระบบกินนอนอยู่ที่โรงเรียน  ซึ่งการที่โรงเรียนแบบนี้เข้มงวดน่าจะช่วยอบรมขัดเกลาให้แดเนียลมีวินัยได้

แดเนียลบอกกับนักข่าวที่ไปสัมภาษณ์ว่า อยากกลับบ้านเร็วๆ อยากกลับไปเรียนหนังสือ และในอนาคตอยากเป็นวิศวกร

วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2556

การปรับครม. ของประธานาธิบดีโจนาธาน


การปรับครม. ของประธานาธิบดีโจนาธาน


 เมื่อวันพุธที่ 11 กันยายน 2556 ประธานาธิบดี กู้ดลัก โจนาธานได้ประกาศปลดรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลจำนวน 6 คน ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ   กระทรวงคณะกรรมการวางแผนแห่งชาติ  กระทรวงที่ดินและเคหะ  กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสิ่งแวดล้อม และ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นอกจากนั้นยังปลดรัฐมนตรีช่วยว่าการอีก จำนวน 3 คน ได้แก่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงเกษตร

อันที่จริงมีกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีมาตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมศกนี้ การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้นับว่าเป็นการปรับใหญ่คณะรัฐบาลของประธานาธิบดีโจนาธาน และเป็นการปรับในขณะที่พรรค PDP กำลังมีความแตกแยก  ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโจนาธานได้ปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีมาบ้างแล้วเช่นกัน อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาเยาวชน ซึ่งเป็นการปรับเล็ก

สื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์ว่า การปรับครม. โดยปลดรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการรวม 9 คน แต่ยังไม่แต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่เข้ามาปฏิบัติงานแทนเช่นนี้มีนัยยะเป็นการปรับครม.ตามกระแสการเมือง โดยประธานาธิบดีได้ปรับรัฐมนตรีที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมืองใหญ่ที่เป็นปฏิปักษ์กับประธานาธิบดีอยู่ในขณะนี้ออกจากตำแหน่ง  และเป็นที่เชื่อว่าบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งสืบแทนจะต้องมาจากสายการเมืองที่สนับสนุนประธานาธิบดีโจนาธาน โดยเฉพาะสนับสนุนให้ประธานาธิบดีโจนาธานเป็นผู้แทนพรรค PDP ลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สอง

วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556

สมองไหลที่ไนจีเรีย


สมองไหลที่ไนจีเรีย

ปัจจุบันมีแพทย์ไนจีเรียทำงานอยู่ที่อังกฤษจำนวน 3,936 คน นี่นับแต่แพทย์นะไม่นับบุคลากรอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพราะหากนับก็จะมีมากกว่านี้

ตามสถิติของทางการไนจีเรีย มีผู้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพแพทย์และทันตแพทย์ในไนจีเรียรวม 71,740 คน แต่ขณะนี้มีแพทย์และทันตแพทย์ปฏิบัติงานอยู่ภายในประเทศจริง เพียง 27,000 คนเท่านั้น  นับว่าเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง เพราะหากเทียบกับจำนวนประชากร 167 ล้านคน สัดส่วนของแพทย์ต่อประชากร เท่ากับ 1/6,185 คือแพทย์คนหนึ่งต้องดูแลประชากรจำนวน 6,185 คน ซึ่งไม่มีทางที่จะเป็นไปได้

ประมาณว่ามีขณะนี้มีแพทย์ที่เรียนจบจากไนจีเรียไปทำงานในต่างประเทศไม่น้อยกว่า 15,000 คน โดยเฉพาะที่นิยมกันคือ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา (ประมาณ 4,000 คน)  ซาอุดีอารเบีย แอฟริกาใต้ บอตสวาน่า กาน่า ฯลฯ

เหตุผลหลักที่แพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับอนามัยและสาธารณสุขไนจีเรียเดินทางไปทำงานในต่างประเทศคือการแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า เงินเดือนสูงกว่า มาตรฐานการครองชีพที่ดีกว่า ที่สำคัญคือบุตรธิดาได้รับการศึกษาที่ดีกว่า อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย การคมนาคมสะดวก มีสาธารณูปโภคเพียงพอแก่การดำรงชีวิตประจำวัน

วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

เรื่องกระทบกระทั่งระหว่างไนจีเรียกับอังกฤษ


เรื่องกระทบกระทั่งระหว่างไนจีเรียกับอังกฤษ


 หลายเดือนมานี้ไนจีเรียกับอังกฤษไม่ค่อยกินเส้นกันเท่าไหร่

ปัญหามาจากเรื่องที่เมื่อเดือนมิถุยายน ศกนี้ กระทรวงมหาดไทยอังกฤษประกาศให้ไนจีเรียรวมอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการที่ผู้ขอวีซ่าเข้าอังกฤษจะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเข้าเมืองของประเทศ ซึ่งนอกจากไนจีเรียแล้วประเทศที่ถูกระบุยังประกอบด้วย กานา อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกาและบังกลาเทศ

เริ่มจากเดือนพฤศจิกายน 2556 ทางการอังกฤษจะบังคับใช้ระเบียบใหม่ในการยื่นคำร้องขอวีซ่าสำหรับประเทศกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว โดยผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปซี่งยื่นขอวีซ่าประเภทที่สามารถพำนักอยู่ในประเทศได้นานเกิน 6 เดือนขึ้นไปจะต้องวางเงินประกันจำนวน 3,000 ปอนด์ (4,600 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3,500 ยูโร หรือประมาณ 750,000 ไนร่า) โดยเงินประกันนี้ หากผู้ร้องขอวีซ่าไม่เดินทางออกจากอังกฤษเมื่อวีซ่าหมดอายุทางการอังกฤษจะยึดเงินจำนวนนี้เป็นเงินของแผ่นดิน แต่หากผู้ร้องขอวีซ่าเดินทางออกจากอังกฤษตามกำหนดก็สามารถเรียกเงินประกันคืนได้

กระทรวงมหาดไทยของอังกฤษแถลงว่า ระเบียบดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการสนองตอบนโยบายของรัฐบาลอังกฤษที่ต้องการจำกัดจำนวนคนต่างชาติซึ่งอพยพเข้าไปอยู่ในอังกฤษโดยผิดกฎหมายเข้าเมือง และไปแย่งใช้สาธารณูปโภคของชาวอังกฤษอยู่ในปัจจุบัน

ตามสถิติเมื่อปี 2555 ทางการอังกฤษออกวีซ่าประเภท 6 เดือนให้คนชาติอินเดีย 296,000 ราย ไนจีเรีย 101,000 ราย ปากีสถาน 53,000 ราย ศรีลังกาและบังกลาเทศ ประเทศละ 14,000 ราย

รัฐบาลไนจีเรียไม่พอใจระเบียบการขอวีซ่าใหม่ที่ทางการอังกฤษจะนำมาใช้ โดยเห็นว่าเป็นระเบียบที่เลือกปฏิบัติอันแสดงถึงการเหยียดผิวและมีอคติต่อชาวไนจีเรีย

มีรายงานในหน้าหนังสือพิมพ์ด้วยว่ารัฐมนตรีต่างประเทศไนจีเรียขู่ไว้ว่าหากอังกฤษบังคับใช้ระเบียบการขอวีซ่าใหม่ต่อคนชาติไนจีเรียเมื่อใด รัฐบาลไนจีเรียจะตอบโต้โดยจะออกระเบียบบังคับเฉพาะชาวอังกฤษที่ยื่นขอวีซ่าเข้าประเทศไนจีเรีย ให้วางหลักทรัพย์ค้ำประกันเช่นเดียวกัน แต่จะกำหนดให้มากกว่าเป็น 5,000 ปอนด์ไปเลย

เรื่องนี้ยังไม่จบแต่นำมาเล่าไว้ให้เห็นบรรยากาศในประเทศนี้ และวิธีคิดของผู้ผู้บริหารบ้านเมือง


วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556

กรุงอาบูจากำลังขยายตัว


กรุงอาบูจากำลังขยายตัว

นับแต่ประกาศตั้งกรุงอาบูจาเป็นเมืองหลวงของประเทศเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 (1976) เป็นต้นมาชาวไนจีเรียจากทั่วสารทิศก็หลั่งไหลอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันสาธารณูปโภคที่ทางการจัดให้บริการอาทิ ไฟฟ้า น้ำประปา ระบบโทรคมนาคม ระบบขนส่งมวลชน มีไม่เพียงพอที่จะรองรับได้

อันที่จริงน้ำดิบที่นำมาผลิตเป็นน้ำประปาเป็นน้ำมาจากเขี่ยนอุสมัน ซึ่งมีปริมาณมากเพียงพอสำหรับเมืองใหญ่ที่กำลังขยายตัว แต่การจัดระบบประปาไม่สามารถตอบสนองแก่ประชากรที่อพยพเข้ามาตั้งชุมชนแถบนอกเมืองได้ทัน ทำให้ชุมชนรอบนอกเมืองหลวงแห่งนี้ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภค

การขยายตัวของชุมชนนอกเมืองหลวงแห่งนี้เป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากบางชุมชนมีการขยายตัวของประชากรถึงปีละ 20-30% เท่านั้นยังไม่พอ พวกที่อพยพมาใหม่นั้น หากไม่สามารถสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยได้ในชุมชนเดิมที่มีอยู่ก็จะพากันไปตั้งชุมชนใหม่กระจัดกระจายตามชอบใจ โดยไม่ขออนุญาตทางการ

เจ้าหน้าที่ทางการเขตปกครองนครหลวงสหพันธ์ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลสิ่งปลูกสร้างมองเห็นปัญหานี้มาตั้งแต่ปี 2546 (2003) พยายามขับไล่ชาวบ้านที่เข้าไปสร้างบ้านเรือน ชุมชนในเขตพื้นที่ของทางราชการ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ มาในยุคปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายเจรจาให้ชาวบ้านที่ปลูกบ้านเรือนรุกล้ำที่ดินของทางราชการออกจากพื้นที่ โดยเสนอแลกที่


 คือไม่ได้ไล่ให้ออกไปเฉยๆ แต่นำเอาที่ดินที่มีการสร้างสาธารณูปโภคแล้วมาเสนอแลก เพื่อให้ชุมชนที่ตั้งบ้านเรือนโดยผิดกฎหมายย้ายออกไปอยู่ที่แห่งใหม่ ที่ทางการจัดเตรียมความพร้อมไว้ให้ แรกๆนั้นชาวบ้านก็เห็นดีเห็นงามยอมเจรจาด้วยโดยดี เพราะทราบดีว่าหากไม่ยอมเจรจาทางการอาจใช้วิธีบ้าบิ่นโดยรื้อบ้านเรือนของตนเสียก็จะเดือดร้อนไปใหญ่  แต่หลังจากการเจรจาทำท่าว่าจะไปได้ดี มาบัดนี้ชุมชนผิดกฎหมายในอาบูจาก็เกิดกลับลำอีกแล้ว บอกว่า ไม่แลกที่ ไม่ย้ายไปไหนทั้งนั้น

วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2556

ไนจีเรียมีพลอย

ไนจีเรียมีพลอย

ไนจีเรียเป็นแหล่งพลอยไพลินที่มีชื่อแห่งหนึ่งของโลก ปัจจุบันมีการขุดพลอยที่เมือง Antah และ Gidan Waya ในรัฐ Kaduna เมือง Gunda ในรัฐ Yobe เมือง Mumbilla Plateau ในรัฐ Taraba เมือง Bogoro ในรัฐ Baudi และเมือง Bokkos ในรัฐ Plateau

นอกจากไพลินแล้ว ไนจีเรียยังมีอัญมณีอื่นๆอีก อาทิ  มรกต เพทาย อความารีน ทูรมารีน  ผู้สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์  www.mmsd.gov.ng


วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

รองนายกรัฐมนตรีเยือนไนจีเรีย



รองนายกรัฐมนตรีเยือนไนจีเรีย

            เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2556 นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางถึงกรุงอาบูจา สาธารณรัฐไนจีเรีย ในภารกิจการเยือนสาธารณรัฐไนจีเรียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 20 - 21 สิงหาคม 2556 โดยนับเป็นการเยือนไนจีเรียครั้งแรกของรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย นับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี พ.ศ. 2505

            ในช่วงเช้า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการฯ ได้เดินทางไปเข้าเยี่ยมคารวะนายโอลูเบนกา อาโยเดจิ อาชิรุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไนจีเรีย และร่วมหารือข้อราชการเต็มคณะ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวขอบคุณทางการไนจีเรียในการให้ความช่วยเหลือคนไทย 4 คน ที่ถูกจับเป็นตัวประกัน และได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2556 รวมทั้งแสดงความพร้อม ที่จะยกระดับความสัมพันธ์กับไนจีเรียเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ มุ่งเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็นสองเท่า จาก 1.45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในปัจจุบัน เป็น 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 5 ปีข้างหน้า และประกาศที่จะดำเนินความร่วมมือกับไนจีเรียในสาขาที่มีความสนใจร่วมกัน อาทิ ความมั่นคงด้านพลังงาน ความมั่นคงทางอาหาร และความร่วมมือด้านการพัฒนา ขณะที่ฝ่ายไนจีเรียได้ตอบรับโครงการความร่วมมือ กับไทย และทั้งสองฝ่ายยืนยันให้การสนับสนุนกันในเวทีระหว่างประเทศ และแสดงความพร้อม ในการร่วมมือกันในหลายมิติไม่ว่าจะใน ระดับทวิภาคี ระดับภูมิภาค และในเวทีระหว่างประเทศ

            ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการประชุม Political Consultation ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยและไนจีเรียด้วย

            หลังจากนั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการฯ ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกู๊ดลัก โจนาธาน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐไนจีเรีย ณ ทำเนียบประธานาธิบดี โดยทั้งสองฝายได้หารือในประเด็นสำคัญใน ความสัมพันธ์ทวิภาคี และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการฯ ได้แจ้งคำเชิญของนายกรัฐมนตรีต่อ ประธานาธิบดีเพื่อเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการและเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำในกรอบ Thai-Africa Initiative ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557

            ในช่วงบ่าย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการฯ ได้พบหารือกับนายโอลูเซกัน โอลูโตยิน อกันกา รัฐมนตรีด้านการค้าและการลงทุนของ ไนจีเรีย เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการเพิ่มพูนมูลค่าการค้าระหว่างกัน และความร่วมมือด้านการค้าต่าง ๆ อาทิ ข้าว พลังงาน รวมถึงผลักดันให้มีการลงนามความตกลงการค้า

            รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการฯ ยังได้พบหารือกับกลุ่มนักธุรกิจผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของ ไนจีเรีย เกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค และทิศทางการเพิ่มพูนมูลค่าการนำเข้าข้าวจากประเทศไทย ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการฯ จะนำปัญหาที่ภาคเอกชนประสบ อาทิ ปัญหาการแบกรับภาษี นำเข้าข้าว ไปหาทางแก้ไขร่วมกับรัฐบาลไนจีเรียต่อไป

            ในวันที่ 21 สิงหาคม 2556 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการฯ ได้เข้าเยี่ยมคารวะนาย Anyim Pius Anyim ตำแหน่ง Secretary of the Government of Nigeria เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาความ สัมพันธ์ทวิภาคี โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวแสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนนโยบาย Transformation ของประธานาธิบดีไนจีเรีย และโครงการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งประเทศไนจีเรีย

            ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการฯ ได้พบปะกับผู้แทนแรงงานไทย 4 คน ซึ่งทำงานอยู่ที่รัฐ River States ซึ่งถูกลักพาเป็นตัวประกันเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2556 และต่อมาถูกปล่อยตัวเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2556 โดยได้พูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การงาน และชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งผู้แทนคนไทยได้กล่าวขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศในความห่วงใย และการให้ความช่วยเหลือจากเหตุการณ์ดังกล่าว

            ไนจีเรียมีประชากรประมาณ 170 ล้านคน ถือเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในทวีปแอฟริกา มีบทบาทสำคัญในเรื่องสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และยังเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 2 ของไทยในทวีปแอฟริกา โดยเป็นตลาดส่งออกข้าวนึ่งอันดับ ๑ ของไทยในตลาดโลก การเยือนครั้งนี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งและมีความหมายต่อการยกระดับความสัมพันธ์ไทย - ไนจีเรียเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ต่อไปในอนาคต

            เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2556 นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางถึงกรุงอาบูจา สาธารณรัฐไนจีเรีย ในภารกิจการเยือนสาธารณรัฐไนจีเรียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 20 - 21 สิงหาคม 2556 โดยนับเป็นการเยือนไนจีเรียครั้งแรกของรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย นับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี พ.ศ. 2505

            ในช่วงเช้า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการฯ ได้เดินทางไปเข้าเยี่ยมคารวะนายโอลูเบนกา อาโยเดจิ อาชิรุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไนจีเรีย และร่วมหารือข้อราชการเต็มคณะ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวขอบคุณทางการไนจีเรียในการให้ความช่วยเหลือคนไทย 4 คน ที่ถูกจับเป็นตัวประกัน และได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2556 รวมทั้งแสดงความพร้อม ที่จะยกระดับความสัมพันธ์กับไนจีเรียเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ มุ่งเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็นสองเท่า จาก 1.45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในปัจจุบัน เป็น 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 5 ปีข้างหน้า และประกาศที่จะดำเนินความร่วมมือกับไนจีเรียในสาขาที่มีความสนใจร่วมกัน อาทิ ความมั่นคงด้านพลังงาน ความมั่นคงทางอาหาร และความร่วมมือด้านการพัฒนา ขณะที่ฝ่ายไนจีเรียได้ตอบรับโครงการความร่วมมือ กับไทย และทั้งสองฝ่ายยืนยันให้การสนับสนุนกันในเวทีระหว่างประเทศ และแสดงความพร้อม ในการร่วมมือกันในหลายมิติไม่ว่าจะใน ระดับทวิภาคี ระดับภูมิภาค และในเวทีระหว่างประเทศ

            ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการประชุม Political Consultation ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยและไนจีเรียด้วย

            หลังจากนั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการฯ ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกู๊ดลัก โจนาธาน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐไนจีเรีย ณ ทำเนียบประธานาธิบดี โดยทั้งสองฝายได้หารือในประเด็นสำคัญใน ความสัมพันธ์ทวิภาคี และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการฯ ได้แจ้งคำเชิญของนายกรัฐมนตรีต่อ ประธานาธิบดีเพื่อเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการและเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำในกรอบ Thai-Africa Initiative ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557

            ในช่วงบ่าย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการฯ ได้พบหารือกับนายโอลูเซกัน โอลูโตยิน อกันกา รัฐมนตรีด้านการค้าและการลงทุนของ ไนจีเรีย เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการเพิ่มพูนมูลค่าการค้าระหว่างกัน และความร่วมมือด้านการค้าต่าง ๆ อาทิ ข้าว พลังงาน รวมถึงผลักดันให้มีการลงนามความตกลงการค้า

            รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการฯ ยังได้พบหารือกับกลุ่มนักธุรกิจผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของ ไนจีเรีย เกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค และทิศทางการเพิ่มพูนมูลค่าการนำเข้าข้าวจากประเทศไทย ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการฯ จะนำปัญหาที่ภาคเอกชนประสบ อาทิ ปัญหาการแบกรับภาษี นำเข้าข้าว ไปหาทางแก้ไขร่วมกับรัฐบาลไนจีเรียต่อไป

            ในวันที่ 21 สิงหาคม 2556 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการฯ ได้เข้าเยี่ยมคารวะนาย Anyim Pius Anyim ตำแหน่ง Secretary of the Government of Nigeria เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาความ สัมพันธ์ทวิภาคี โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวแสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนนโยบาย Transformation ของประธานาธิบดีไนจีเรีย และโครงการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งประเทศไนจีเรีย

            ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการฯ ได้พบปะกับผู้แทนแรงงานไทย 4 คน ซึ่งทำงานอยู่ที่รัฐ River States ซึ่งถูกลักพาเป็นตัวประกันเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2556 และต่อมาถูกปล่อยตัวเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2556 โดยได้พูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การงาน และชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งผู้แทนคนไทยได้กล่าวขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศในความห่วงใย และการให้ความช่วยเหลือจากเหตุการณ์ดังกล่าว

            ไนจีเรียมีประชากรประมาณ 170 ล้านคน ถือเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในทวีปแอฟริกา มีบทบาทสำคัญในเรื่องสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และยังเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 2 ของไทยในทวีปแอฟริกา โดยเป็นตลาดส่งออกข้าวนึ่งอันดับ 1 ของไทยในตลาดโลก การเยือนครั้งนี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งและมีความหมายต่อการยกระดับความสัมพันธ์ไทย - ไนจีเรียเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ต่อไปในอนาคต

ที่มา: เว็บไซต์กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา http://sameaf.mfa.go.th/th/news/detail.php?ID=4592&SECTION=DEP_ACT



วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ปัญหาความปลอดภัยของสตรี



ปัญหาความปลอดภัยของสตรี

สำนักงานทนายของรัฐ (Office of Public Defender) กระทรวงยุติธรรมรัฐลากอสเปิดเผยว่าในช่วงหกเดือนแรกของปี 2556 มีคดีข่มขืนกระทำชำเราเกิดขึ้นในรัฐลากอสแล้ว จำนวน 93 ราย โดยจำแนกคดีเป็นรายเดือนได้ดังนี้ เดือนมกราคม  7 ราย กุมภาพันธ์ 6 ราย มีนาคม 24 ราย เมษายน 21 ราย พฤษภาคม 29 ราย และมิถุนายน 6 ราย

 สถิติดังกล่าวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2555 ซึ่งมีคดีข่มขืนกระทำชำเราในรัฐลากอสเพียงจำนวน 42 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 51

สำนักงานทนายของรัฐ เป็นหน่วยงานสังกัดกรมสิทธิพลเมือง กระทรวงยุติธรรมรัฐลากอส ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2543 เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้ด้อยโอกาสทั้งในคดีอาญาและคดีแพ่งโดยไม่คิดมูลค่า


วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ไนจีเรียนำเข้ารถยนต์ปีละ 600 พันล้านไนร่า



ไนจีเรียนำเข้ารถยนต์ปีละ 600 พันล้านไนร่า

ปัจจุบันไนจีเรียนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศปีละประมาณ 200,000 คัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 600 พันล้านไนร่า

รถยนต์ที่นำเข้าแต่ละปีดังกล่าวเป็นรถใหม่ถอดด้ามประมาณ 50,000 คัน และเป็นรถเก่าหรือรถมือสองประมาณ 150,000 คัน

หากจำแนกรถนำเข้าเป็นรถนยนต์นั่งโดยสาร (passenger cars)  รถบรรทุก และรถเพื่อใช้ประโยชน์อื่นๆ การนำเข้ารถยนต์นั่งโดยสารมีมูลค่ารวม 400 พันล้านไนร่า ส่วนรถบรรทุกและรถใช้งานอื่นๆมูลค่ารวม 200 พันล้านไนร่า

(อัตราแลกเปลี่ยน 5 ไนร่า = 1 บาท)

ที่มา: National Automotive Council (NAC)

วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ไนจีเรียจะส่งนักบินอวกาศในปี 2015


ไนจีเรียจะส่งนักบินอวกาศในปี 2015

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเปิดเผยว่า ในปี 2015 ไนจีเรียมีแผนที่จะส่งนักบินอวกาศขึ้นไปสู่วงโคจรในอวกาศ โดยจะยิงจรวดขนส่งอวกาศที่ฐานบินอวกาศเมืองเอเป รัฐลากอส

โครงการอวกาศของไนจีเรียเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศไนจีเรียกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยขณะนี้ไนจีเรียส่งวิศวกรจากสำนักงานวิจัยและพัฒนาอวกาศแห่งชาติ จำนวน 12 คนไปเข้ารับการฝึกอบรมที่ประเทศจีน เพื่อพัฒนาจรวดขนส่งอวกาศ

นอกจากการส่งนักบินอวกาศแล้ว สำนักงานวิจัยและพัฒนาอวกาศไนจีเรียยังมีแผนที่จะส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรในอวกาศอีก 2 ดวง 

วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

อาบูจาติดอันดับเมืองค่าครองชีพสูงในแอฟริกา



อาบูจาติดอันดับเมืองค่าครองชีพสูงในแอฟริกา

จากการเปิดเผยของ Economist Intelligence Unit (EIU) เมื่อเร็วๆนี้ ระบุว่า กรุงอาบูจาเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงเป็นอันดับสองของทวีปแอฟริกา ในขณะที่นครลากอสเมืองหลวงเก่าและศูนย์กลางธุรกิจการค้าของไนจีเรียติดอันดับสี่

การศึกษาดังกล่าวเป็นการเปรียบเทียบค่าครองชีพของเมืองใหญ่ในทวีปแอฟริกาจำนวน 25 เมือง โดยกรุงลูอันดา ประเทศแองโกลาเป็นเมืองที่มีอัตราค่าครองชีพสูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง และอันดับที่ 25 ได้แก่กรุงแอดดิสอาบาบา ประเทศเอธิโอเปีย


สำหรับกรุงอาบูจา นอกจากเป็นเมืองที่ค่าครองชีพสูงติดอันดับแล้ว ยังเป็นเมืองที่ประชากรบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ล บุหรี่ และยาเสพติดในอัตราสูงเป็นอันดับที่ 12 ของบรรดาเมืองใหญ่ทั้ง 25 เมืองอีกด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดาบก็แกว่ง มือก็ไกว


ดาบก็แกว่ง มือก็ไกว

ไอชา อุมาร์ เป็นคนขับแท็กซี่ในกรุงอาบูจา เป็นแท็กซี่หญิงเพียงไม่กี่คนที่ทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำเลี้ยงลูกสองคน

ไอชา อายุ 34 ปี เริ่มอาชีพขับแท็กซี่มาเมื่อ 5 ปีก่อน ด้วยความจำเป็นเนื่องจากหย่าร้างกับสามีต้องกลายเป็น "ซิงเกิ้ล มัม" ต้องหาเลี้ยงลูกที่เธอหอบหิ้วมาไว้กับเธอสองคน ปัจจุบันคนโตอายุ 7 ขวบคนเล็ก 5 ขวบ เนื่องจากการหย่าร้างกับ

ที่ไอชาเป็นข่าววันนี้เนื่องจากหนังสือพิมพ์พากันลงพิมพ์เรื่องราวของเธอในฐานะที่เป็นคนขับแท็กซี่หญิงคนแรกของกรุงอาบูจา แม้ว่าเธอจะทำอาชีพนี้มานานแล้วก็ตาม ความน่าสนใจเกี่ยวกับไอช่า ไม่ใช่เพียงการเป็นหญิงแกร่งที่เลือกทำอาชีพนี้ทั้งที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่ขับแท็กซี่อยู่ แต่ความน่าสนใจอยู่ที่วิธีคิดของเธอเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ โดยเธอมีทัศนะว่าหากเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วเธอจะทำ และเธอเชื่อว่า ไม่มีอาชีพใดที่สงวนไว้สำหรับผู้ชายเท่านั้นที่ทำได้ ชีวิตนี้สั้นผู้หญิงเราควรจะลืมคำว่าหยิ่งไปเลย แต่ควรจะทำอะไรก็ได้ที่เราตั้งใจอยากจะทำ และเมื่อลงมือทำแล้วต้องคิดบวกอย่าคิดลบ และเดินหน้าทำสิ่งที่ถูกต้อง ผู้หญิงเราต้องมีความเชื่อในตัวเองก่อนที่จะให้คนอื่นมาเชื่อในตัวเรา

แนนอนว่าอาชีพขับแท็กซี่ไม่ใช่อาชีพแรกๆของเธอ ก่อนจะมาขับแท็กซี่เธอเคยประกอบอาชีพอย่างอื่นมาก่อนรวมทั้งเป็นแม่ค้าขายเสื้อผ้า

ชีวิตของแม่บ้านขับแท็กซี่อย่างไอชานับว่าหนักเอาการ เธอต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ตีห้าเพื่อละหมาด และทำอาหารให้ลูกก่อนอาบน้ำแต่งตัวขับแท็กซี่ออกไปทำงานตอนแปดโมงเช้า โดยเธอจะจอดรอรับผู้โดยสารอยู่บริเวณตลาดวูเซ่  ตลาดใหญ่กลางกรุงอาบูจา อยู่ทั้งวัน จนห้าโมงเย็นจึงกลับบ้าน อาบน้ำทานข้าวกับลูก เธอยอมรับว่า ตลอดเวลา 5 ปี ที่ขับแท็กซี่ ไม่มีเวลาให้กับลูกเท่าที่ควร ทำงานสัปดาห์ละเจ็ดวัน

ที่จริงไอชาเคยเรียนในมหาวิทยาลัยมาก่อน แต่ออกเสียกลางคันเมื่อเรียนอยู่ชั้นปีที่สอง เมื่อสี่เดือนที่แล้วเธอตัดสินใจกลับไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง โดยเข้าศึกษาในวืทยาลัยการศึกษาที่รัฐไนเจอร์ เอกและโทภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส โดยตั้งความหวังไว้ว่าเมื่อเธอเรียนจบปริญญาตรีจะหางานอื่นทำ งานที่พอจะทำให้เธอมีเวลาอยู่กับลูกได้มากกว่านี้ ทุกวันนี้ไอช่าออกแท็กซี่สัปดาห์ละสี่วัน ที่เหลือสามวันเธอไปเรียนหนังสือ

นอกจากไอชาแล้วในกรุงอาบูจามีผู้หญิงขับแท็กซี่อีกสองคน ซึ่งทั้งสองคนบอกกับไอชาว่า เธอเป็นแรงบัลดาลใจของพวกเขา

 เดรดิตภาพ : http://www.couriermail.com.au/news/no1-ladies-taxi-agency/story-e6frerdf-1226619332964

Next Cash & Carry



Next Cash & Carry

ร้าน Next Cash & Carry เป็นร้านขายสินค้าที่จัดวางสินค้าแบบเดียวกับแม็กโครในเมืองไทย อาคารที่เห็นนี้เป็นร้านแรกที่เปิดบริการในประเทศไนจีเรีย ตั้งอยู่ริมถนน Amada Bello Way ห่างจากตัวเมืองอาบูจาประมาณ 4 กิโลเมตร มีลานสำหรับจอดรถยนต์ไว้บริการลูกค้า 400 คัน ภายในติดเครื่องปรับอากาศ และติดตั้งเครื่องปั่นไฟไว้สำรองกรณีไฟฟ้าดับด้วย

หากเปรียบเทียบกับร้านขายสินค้าขนาดใหญ่แห่งอื่นๆที่มีอยู่ในกรุงอาบูจา ในวันธรรมดาร้านนี้ค่อนข้างเงียบ ไม่มีลูกค้าพลุกพล่านเท่าที่ควร ร้านอาหารที่ตั้งอยู่ภายในก็ไม่ค่อยมีคนเช่นกัน แต่สินค้าของที่นี่ราคาถูกกว่าร้านไหนๆ ในอาบูจาดังนั้นในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ร้านนี้จะมีลูกค้ามาซื้อสินค้าจำนวนมาก





วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ร้านคุณโมหมัด





ร้านคุณโมหมัด

คุณโมหมัดเป็นเจ้าของแผงลอยที่ตลาดเกษตรกร ซึ่งอยากเรียกว่าตลาด อตก. สินค้าที่ขายเป็นผลไม้และผักที่ปลูกในพื้นที่รอบๆกรุงอาบูจา ใครที่สนใจอยากทราบว่าที่นี่มีผลไม้อะไรบ้างก็ลองคลิกภาพทั้งสี่นี้ดู ของที่นี่ราคาไม่แพง และอนุญาตให้เลือกได้ด้วย

วันที่คุณโมหมัดไม่มาที่ร้านจะซื้อของได้ถูกกว่า เพราะเด็กลูกจ้างใจดีมักลดราคาให้ตามที่ต่อราคา ไม่อิดออด วันนี้คุณโมหมัดมาเองก็ใช่ว่าจะขอลดไม่ได้ ซื้อกล้วยหอม ที่แบ่งขายชุดละ 4 ผลราคา 300 ไนร่า จำนวน 2 ชุดแกขายให้ราคา 400 ไนร่าเอง

วันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ไนจีเรียชนะ



ไนจีเรียชนะ

ในการลงฟาดแข้งนัดตัดเชือกฟุตบอลกลุ่มเอฟเพื่อเข้าไปแข่งเวิลร์คัพปี 2557 ที่ประเทศบราซิล ระหว่างทีมฟุตบอลไนจีเรียกับเคนยาที่สนามฟุตบอลคาซารานี สเตเดียม กรุงไนโรบี เมืองหลวงของเคนยาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2556 สร้างความชุ่มชื่นใจให้กับชาวไนจีเรียทั้งประเทศเมื่อทีมไนจีเรียสามารถเอาชนะเคนยาได้ 1-0

ไนจีเรียทำประตูชัยได้ก่อนหมดเวลาครึ่งหลัง โดยอาหเม็ด มุซารับลูกที่มิเตล โอบีวางพานมาให้ แล้วเดาะบอลข้ามหัวนายทวารเคนยาที่ถลันออกมาตามตะคลุบลูก

ลูกบอลเข้าไปตุงตาข่าย เป็นประตู ในนาทีที่ 81 ของการแข่งขัน

การฟาดแข้งนัดนี้เป็นครั้งที่สองที่ทั้งสองทีมมาพบกัน โดยในนัดแรกไนจีเรียเป็นเจ้าบ้านแข่งขันที่สนามฟุตบอลเมืองคาราบาร์เมื่อสองเดือนก่อนทั้งสองทีมกินกันไม่ลงทำประตูเสมอกัน 1-1 นัดนั้นเคนยาเล่นเป็นพระเอกและเป็นฝ่ายประเดิมประตูได้ก่อน กว่าไนจีเรียจะตามมาตีเสมอได้ก็เล่นเอาแฟนบอลใจหายใจคว่ำ ในนัดนั้นเอ็นนัมดี โอดุอามาดี เป็นผู้ทำประตูเสมอให้ไนจีเรียได้สำเร็จ

โดยที่ฝีเท้าของทั้งสองทีมสูสีกัน ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าการฟาดแข้งนัดนี้แฟนบอลไนจีเรียจะใจจดใจจ่อเพียงใดกับเกมส์การแข่งขัน ยิ่งเป็นนัดเยือนที่ทีมต้องไปแข่งที่เคนยาด้วยแล้ว ใครๆก็ไม่มั่นใจ เพราะกลัวนักฟุตบอลแพ้เสียงเชียร์ในสนาม เมื่อผลออกมาสมใจ แฟนบอลไนจีเรียต่างมีความสุข ไปที่ไหนได้ยินแต่คนคุยเรื่องไนจีเรียชนะ

ฟุตบอลเป็นกีฬายอดนิยมของไนจีเรีย และฟุตบอลทีมชาติของไนจีเรียมีชื่อเรียกว่า ซุปเปอร์ อีเกิ้ล

ดาวดวงที่ล่วงหล่นจากฟากฟ้าไกล


ดาวดวงที่ล่วงหล่นจากฟากฟ้าไกล

ในบรรดาความภาคภูมิใจที่ชาวไนจีเรียทุกคนมีอยู่ในหัวใจตรงกันประการหนึ่งคือการที่บ้านเมืองนี้มีนักเขียนที่มีชื่อเสียงเลื่องระบือไกลอย่างนายชินูอา อาเชเบ นักเขียนอมตะที่ทำให้โลกทั้งโลกรู้ซึ้งถึงจิตวิญญาณของชาวแอฟริกัน

นายอาเชเบเป็นคนเผ่าอิกโบ มีพื้นเพอยู่ที่เมืองโอกิดี รัฐอนัมบรา เกิดเมื่อ  16 พฤศจิกายน 1930        จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย University College ซื่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น University of Ibadan โดยศึกษามาทางด้านภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์และเทววิทยา

นายอาเชเบเป็นนักเขียนมีผลงานด้านนวนิยาย เรื่องสั้น วรรณศิลป์ เรียงความ บทวิจารณ์วรรณกรรม บทความความเห็นทางการเมือง และ non- fiction โดยในบั้นปลายของชีวิตใช้ชีวิตเป็นนักวิชาการด้านภาษาอังกฤษและวรรณคดีอยู่ที่ Bard College และมหาวิทยาลัย บราวน์ สหรัฐอเมริกาก่อนเสียชีวิต

งานเขียนที่สร้างชื่อให้แก่นายอาเชเบมีอาทิ Things Fall Apart,No Longer at Ease, Arrow of God, A Man of the People, Anthills of the Savannah.

ตลอดชีวิตได้รับยกย่องจากสถาบันอุดมศึกษาทั้งจากสหราชอาณาจักร สก๊อตแลนด์ แคนาดา แอฟริกาใต้  ไนจีเรีย และสหรัฐอเมริการวมกว่า 30 แห่งมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้  นอกจากนั้นยังได้รับยกย่องจากสถาบันวรรณกรรมระหว่างประเทศอีกหลายแห่ง


นายอาเชเบเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2556 ที่รัฐแมสซาชุเซต สหรัฐอเมริกา และญาตินำศพกลับมาฝังที่บ้านเกิดเมื่อ 23 พฤษภาคม 2556

วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

วันอลเวงในกรุงอาบูจา


วันอลเวงในกรุงอาบูจา

วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน ที่ผ่านมา เป็นวันแรกที่ทางการห้ามรถเมล์เล็กสีเขียว และรถสามล้อเครื่องสีเหลืองเข้าไปวิ่งรับส่งผู้โดยสารในบริเวณย่านธุรกิจกลางเมืองหรือย่านศูนย์ราชการ โดยบอกว่าจะจัดรถเมล์ใหญ่คันยาวๆที่จุผู้โดยสารได้คราวละมากๆมาให้บริการแทน โดยกำหนดสถานที่จอดพักสำหรับรถเมล์เล็กสีเขียวไว้ตามจุดเชื่อมถนนนอกเมือง และรถสามล้อสีส้มนั้นกำหนดให้วิ่งรับส่งผู้โดยสารได้เฉพาะตามหมู่บ้าน หรือตามซอยเล็กซอยน้อย ไม่ให้ออกมาเพ่นพ่านในตัวเมือง

แต่เช้าวันจันทร์ที่ผ่านมาผู้โดยสารที่เคยใช้บริการรถเมล์เล็กก็พบว่าตัวเองต้องยืนรอรถเมล์จนขาแข็ง รถก็ยังไม่มา แล้วไม่ได้มีคนเดียวที่ยืนรอรถเมล์ตามจุดต่างๆ หากเป็นคนร่วมร้อยที่รอขึ้นรถอยู่ตามป้ายรถเมล์ โดยคนที่ยืนรอนานและท้อก็ต้องจับแท็กซี่ นั่งรวมๆกันเข้าไปในเมือง แต่ที่มีจำนวนมากก็คือคนที่ตัดสินใจเดิน ส่วนที่ยังรอรถก็พบว่าตัวเองต้องต่อคิดเพื่อขึ้นรถเมล์ และเป็นคิวที่ยาวมาก ร้อนก็ร้อน พอรถประจำทางมาก็มีผู้โดยสารนั่งมาเต็มคันรถ คนที่รออยู่ตามป้านรถจะเบียดขึ้นไปก็เบียดได้อีกไม่กี่คน ที่เข้าไปข้างในรถไม่ได้ก็ห้อยโหนอยู่ที่บันไดรถเป็นกลุ่มใหญ่ น่าหวาดเสียวยิ่ง

นอกจากรถประจำทางใหม่จะไม่พอแล้ว ซ้ำทางการยังไม่ได้จัดระเบียบเสียอีกด้วย คือที่นี่ไม่มีองค์การขนส่งมวลชนที่ดูแลให้บริการวิ่งรถประจำทางรับส่งผู้โดยสารเหมือนที่เมืองไทย สภาพที่เกิดขึ้นคือ ข้าราชการที่ไม่มีประสบการณ์เป็นผู้เข้ามาบริหารจัดการ มีรถกี่คันก็ปล่อยให้วิ่งรับส่งผู้โดยสารไป โดยไม่จัดสายหรือจัดพื้นที่รับผิดชอบในการวิ่งบริการ รถทุกคันจึงกลายเป็นรถหวานเย็นเหมือนกันหมด รอเท่าไหร่ก็ไม่มา มาแล้วคนแน่น

การจัดระเบียบเดินรถใหม่ในพื้นที่กลางเมืองหลวงนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณรถรับจ้างสาธารณะที่วิ่ง และจอดรอรับผู้โดยสารเต็มถนนไปหมด พื้นที่การจราจรที่มีน้อยอยู่แล้วเลยยิ่งทำให้การจราจรติดขัดไม่มีเวลา คือบริเวณย่านธุรกิจกลางเมือง หรือย่านศูนย์ราชการนั้นรถติดได้ทั้งวัน ไม่ต้องพูดถึงช่วงรถมาก


จากที่ฟังเสียงสื่อมวลชนที่สะท้อนปัญหาเห็นใครๆก็เรียกร้องให้เพิ่มรถ และจัดระบบการเดินรถใหม่ให้ตรงเวลามากกว่านี้ และไม่รอนานจนไปทำงานไม่ทัน

วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ปัญหาเยาวชนไนจีเรีย



ปัญหาเยาวชนไนจีเรีย

ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ปีนี้ มีข่าวที่เป็นเรื่องทอล์กออฟเดอะทาวน์เรื่องหนึ่งที่มีการรายงานไปทุกสื่อในต่างประเทศและในไนจีเรีย เป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ตำรวจในรัฐอิโมบุกเข้าตรวจค้นจับกุมบ้านหลังหนึ่ง พบหญิงวัยรุ่น 17 คน ทารก 11 คน ถูกขังอยู่ในบ้านหลังนั้น

ข่าวรายงานว่า ผู้หญิงและเด็กที่ตรวจพบเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้าเด็กทารก โดยเด็กผู้หญิงในบ้านแห่งนี้จะมีชายวัย 23 ปีรายหนึ่งเป็นผู้ร่วมประเวณีเพื่อให้ตั้งครรภ์ และเมื่อเด็กทารกคลอดออกมาแล้วก็จะมีนายหน้าไปติดต่อขายเด็กให้กับครอบครัวที่แต่งงานแล้วไม่มีบุตร

ราคาเด็กทารกที่ซื้อขายกันในท้องตลาดขณะนี้ตกคนละ 6,400 ดอลลาร์สหรัฐ

อันที่จริงการจับกุมครั้งนี้ไม่ได้เป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมกระบวนการค้าเด็กทารก ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2551 มามีรายงานการจับกุมคดีแบบนี้ในประเทศมาแล้ว 6 ครั้ง

การที่ขบวนการค้าทารกยังมีอยู่อย่างไม่รู้จักหมดนี้ เนื่องจากมีตลาดรองรับเด็กทารกพวกนี้ เพราะจากสถิติขององค์การอนามัยโลกมีคู่สมรสไนจีเรียที่ไม่สามารถมีบุตรได้ถึง 12 ล้านคู่ ซึ่งคู่สมรสกลุ่มนี้หลังจากความพยายามโดยใช้วิธีทางการแพทย์ไม่ประสบผลแล้วก็มักยินดีที่จะรับเด็กทารกมาเป็นบุตรบุญธรรม

ปัญหาอีกประการหนึ่งที่แก้กันไม่ตกในบ้านเมืองนี้ คือการที่เด็กหญิงไนจีเรียที่เข้าเรียนหนังสือในชั้นประถมศึกษานั้น มีเพียงร้อยละ 12 เท่านั้นที่จะได้เข้าเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษา ทำให้เด็กหญิงเหล่านี้มีโอกาสตกเป็นเหยื่อของการชักจูงให้หารายได้โดยการตั้งครรภ์ทารกเพื่อขายให้กับครอบครัวที่ต้องการซึ่งมีตลาดกว้าง นอกจากการชักจูงโดยตรงแล้ว การชักจูงภายหลังจากที่พวกเธอเกิดอุบัติเหตุตั้งครรภ์ก่อนการสมรสก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้พวกเธอเห็นดีเห็นงามไปกับการเข้ากลุ่มค้าทารก เพราะในสังคมไนจีเรียนั้นการตั้งครรภ์ก่อนการสมรสเป็นเรื่องน่าอับอายเสียหาย และแทบจะถูกขับออกจากชุมชนเลยทีเดีว


วันเด็กแห่งชาติ



วันเด็กแห่งชาติ

วันที่ 27 พฤษภาคม ทุกปีเป็นวันเด็กแห่งชาติของไนจีเรีย มีการจัดงานวันเด็กตามเมืองต่างๆกันทุกรัฐทั่วประเทศ รวมทั้งในกรุงอาบูจา เมืองหลวงของประเทศ

วันเด็กเป็นวันหยุดราชการสำหรับนักเรียนโรงเรียนชั้นประถม และมัธยม

งานวันเด็กปีนี้ประธานาธิบดีกู๊ดลัก โจนาธานสัญญากับเด็กๆว่าจะจัดสายด่วยพิเศษสำหรับให้เด็กแจ้งเหตุเมื่อเกิดกรณีการละเมิดสิทธิเด็ก รวมทั้งจะจัดตั้งกองทุนเป็นมูลนิธิเพื่อส่งเสริมกิจกรรมของเด็ก


นอกจากภาครัฐแล้ว องค์กรทางศาสนา องค์กรภาคเอกชนและNGOs ต่างจัดกิจกรรมสำหรับเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่ด้อยโอกาสในสังคมในวันนี้ด้วย 

วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

รู้ได้ไงว่าเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยเก๊

รู้ได้ไงว่าเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยเก๊

เมื่อเดือนมีนาคม 2556 สำนักงานคณะกรรมการมหาวิทยาลัยไนจีเรียได้ออกแจ้งเตือนให้นักเรียนและผู้ปกครองทราบรายชื่อของมหาวิทยาลัยที่เปิดดำเนินการเรียนการสอน โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากทางราชการหรือที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยเก๊ ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ รวม 49 แห่ง

นอกจากเปิดเผยรายชื่อแล้ว สำนักงานคณะกรรมการมหาวิทยาลัยไนจีเรียได้ออกคำแนะนำสำหรับผู้ที่กำลังจะเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไนจีเรียว่า วิธีดูว่ามหาวิทยาลัยแห่งนั้นเป็นมหาวิทยาลัยจริงหรือเก๊ให้ดูจาก
  1. ไม่ปรากฎชื่อของมหาวิทยาลัยในรายชื่อมหาวิทยาลัยในไนจีเรียที่สำนักงานคณะกรรมการมหาวิทยาลัยไนจีเรียจัดทำขึ้นและเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์  http://www.nuc.edu.ng
  2. สอบถามสำนักงานคณะกรรมการมหาวิทยาลัยไนจีเรียแล้วได้รับคำคอบว่าไม่เคยได้ยินชื่อมหาวิทยาลัยดังกล่าว รวมทั้งผู้ปกครองของคุณ ญาติ เพื่อนบ้านและรวมทั้งตัวคุณก็ไม่เคยได้ยินชื่อมหาวิทยาลัยนั้นมาก่อน
  3. มหาวิทยาลัยไม่มีเว็บไซต์เป็นทางการของตนเอง
  4. มหาวิทยาลัยอ้างว่าเป็นศูนย์ศึกษาหรือเป็นมหาวิทยาลัยในเครือของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ
  5. มหาวิทยาลัยอ้างว่าเป็นแคมปัสย่อยของมหาวิทยาลัยไนจีเรียที่มีชื่อซึ่งคุณไม่เคยได้ยิน
  6. มหาวิทยาลัยไม่มีอาคารเรียนถาวรของตนเอง ผู้เรียนต้องไปเข้าเรียนตามห้องเรียนของโรงเรียนมัธยมศึกษา หรือ โรงเรียนประถมศึกษา หรือตามโคนต้นไม้
  7. มหาวิทยาลัยโฆษณาว่าเข้าศึกษาได้โดยไม่ต้องสอบ JAMB (Joint Admission and Maticulation Board)
  8. หากเข้าตามนี้แล้วให้แน่ใจว่าไม่ควรเปลืองเงินและเสียเวลาลงทะเบียนเรียนที่มหาวิทยาลัยดังกล่าว

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าหาอ่านรายละเอียดรายชื่อมหาวิทยาลัยเก๊ได้ที่เว็บไซต์ http://www.nuc.edu.ng/nucsite/File/Monday%20Bulletin/MB%202013/18%20March.2013finaldoc.pdf


วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

กับข้าวมาแล้ว

แซม พ่อค้าขายผักกับรถคู่ชีพสีแดงแปร๊ด
ผักปลูกเองจากสวน สด และน่าทาน
กับข้าวมาแล้ว


ที่บ้านพักมีรั้วรอบขอบชิดแน่นหนา  และใครจะเข้าตามตรอกออกตามประตูก็ต้องผ่านยามรักษาการสองคน  ดังนั้นเมื่อกลับเข้ามาบริเวณบ้านแล้วก็จะไม่ได้เห็นหน้าใครอีก

แต่ทุกวันศุกร์ราวทุ่มกว่าๆ ที่นี่จะมีรถยนต์สีแดงนำผักหญ้าเข้ามาขายให้ลูกค้าประจำ คนขายชื่ออะไรจำยากมาก เลยเรียกแกว่าแซม 

ตาแซมเนี่ยแกเป็นคนอารมณ์ดี พอรถมาจอดหน้าบ้านแกก็จะยกถุงใส่ผักสองถุงออกมา แล้วล้วงผักออกมาวางเรียงไว้หน้าประตู เสร็จแล้วก็จะมากดออดประตูเรียกให้เจ้าของบ้านออกมาดูผักที่แกเอามาขาย ปกติก็จะมี บวบ  ถั่วฝักยาว น้ำเต้า แตงกวา มะเขือเทศ มะเขือยาว หอมแดง มะระขี้นก ฟักทอง แตงไทย มะละกอ ผักโขมบ้าน แคร็อต แกบอกว่าผักที่นำมาขายเป็นผักปลูกเองจากสวนด

ที่เห็นเป็นถุงพลาสติกนั้นราคาสองร้อยไนร่ายืนพื้น คิดเป็นเงินไทยก็เอาห้าหาร ง่ายๆลงตัวไม่ต้องคิดเศษ  ถุงใหญ่หน่อยราคาสามร้อยสี่ร้อย ราคาที่เรียกนั้นต่อได้นะ แต่ตาแซมแกไม่ค่อยยอม เรามักใช้วิธีขอให้แกเอาของออก เพราะต้องการไม่มาก แล้วแกก็คิดส่วนลดให้ตามของ

ที่ว่าแกอารมณ์ดีคือชวนแกคุยได้ถามไถ่ได้ว่าของที่แกนำมานั้นเอาไปทำอะไรกินดี แกจะบอกให้อย่างตั้งใจ หรืออยากฝากให้แกหาผักอะไรมาให้ครั้งหน้าแกก็จะรับปากโดยเร็ว (แต่ไม่ค่อยได้ตามที่สั่ง)

ศุกร์ที่ผ่านมาแกเอามะละกอมาขายให้
เรา: มะละกอไม่สวยง่ะ มีตำหนิตรงเนี้ย พลางชี้ให้ดู
แซม : ไม่เป็นไรครับ ตำหนินั่นเป็นเพราะมะละกอพิงอยู่กับกำแพง ไม่เสียดอกครับ
เรา: แล้วนี่อีกกี่วันจะกินได้ล่ะเนี่ย
แซม: สองวันก็ทานได้แล้วครับ
เรา: ขายยังไงล่ะ
แซม: ลูกละสองร้อยไนร่าครับ
เรา: แน่ใจนะว่าไม่เสีย
แซม: หากผ่าแล้วเสียเที่ยวหน้ามาให้บอกได้ครับจะเอาลูกใหม่มาให้
เรา: อ้าว ไม่คืนเงินหรือ
แซม: ไม่คืนครับ แต่จะเอามะละกอลูกใหม่มาให้ ตาแซมยืนยันหน้ายิ้มๆ

เพิ่งผ่ามะละกอลูกนี้ทานเมื่อค่ำวันจันทร์  เนื้อเหลืองสวย หอม หวาน แต่แม่บ้านอดบ่นไม่ได้ว่าหากเชื่อแซมผ่าทานตั้งกะวันอาทิตย์ก็จะสุกพอดี

สองวันของแซมคือสองวันเป๊ะๆ

วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556



มื้อกลางวัน

แม้ว่าอาบูจาจะเป็นเมืองหลวง แต่หาอาหารรับประทานไม่ง่าย วิธีที่สะดวกที่สุดสำหรับตัวเองก็คือทำอาหารจากบ้านมาทานที่สำนักงาน พอดีที่ทำงานมีเตาไมโครเวฟได้อาศัยอุ่นอาหารทานได้

ตัวเองชอบทานอาหารจืด เลยทำผัดผักอะไรง่ายๆมาทานกลางวันบ่อยๆ อย่างมื้อเมื่อวานนี้ทำผัดบวบมาทานกับข้าว ใส่แคร็อต กุ้ง และไข่ไก่ ตักข้าวมามากเป็นพิเศษเพราะเห็นกับข้าวแล้วนึกอร่อย

ที่จริงข้าวและกับสำหรับมื้อกลางวันนั้นเตรียมไว้ตั้งแต่ตอนเย็นวาน แล้วใส่ตู้เย็นไว้ ตื่นเช้าก็เอาใส่ถุงพลาสติกมาด้วย ชีวิตเป็นอย่างนี้ทุกวัน

มีเหมือนกันที่บางวันเตรียมอาหารกลางวันใส่ถุงพลาสติกไว้แล้วลืมหยิบมา เดี๋ยวนี้รู้สึกลืมง่าย

วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556




การนิรโทษกรรมอดีตผู้ว่าการรัฐบาเยลซ่า          

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2556 ประธานาธิบดีกู๊ดลัก โจนาธานได้ให้การนิรโทษกรรมนาย Diepreye Solomon Peter Alamieyeseigha อดีตผู้ว่าการรัฐบาเยลซาช่วงปี 1999 – 2005 ซึ่งถูกจับในข้อหาทุจริตยักยอกเงินแผ่นดิน และในครั้งนั้นท่านอดีตผู้ว่าการรัฐนอกจากถูกจับขึ้นฟ้องศาลแล้ว ยังถูกสภาในรัฐบาเยลซากล่าวโทษว่ากระทำผิดจรรยาบรรณและลงมติให้ขับท่านพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการรัฐบาเยลซาด้วย

อันที่จริงคดีความของท่านอดีตผู้ว่าการรัฐบาเยลซาเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2005 และอัยการส่งคดีฟ้องศาลไปตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2007 โดยกล่าวโทษ 6 ข้อหา ซึ่งในครั้งนั้นท่านอดีตผู้ว่าการก็ไม่ได้ต่อสู้คดีในศาลหากยอมรับว่ากระทำผิดจริงตามฟ้อง และในวันรุ่งขึ้น 27 กรกฎาคม 2556 ศาลจึงพิพากษาให้จำคุกท่านอดีตผู้ว่าการรัฐความผิดละ 2 ปี โดยนับตั้งแต่ท่านถูกจับกุม ส่วนความผิดที่ศาลระวางโทษข้อหาละ 2 ปีนั้นวิธีนับของศาลก็คือนับพร้อมกันทุกคดีความผิดจากวันที่ถูกจับกุม ซึ่งหากนับจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิพากษาลงโทษท่านก็ถูกจับกุมมาเกือบครบกำหนดสองปีแล้ว ดังนั้นภายหลังคำพิพากษาเมื่อเจ้าหน้าที่นำตัวไปคุมเรือนจำไม่กี่ชั่วโมงก็ปล่อยให้ท่านป็นอิสระ

ถึงแม้คดีความจะสิ้นสุดแล้ว แต่อัยการแผ่นดินก็ยังติดตามทรัพย์สินของทางราชการที่ถูกท่านอดีตผู้ว่าการรัฐฉ้อโกงไป โดยในปี 2009 รัฐบาลไนจีเรียได้จ้างทนายความในอังกฤษให้ติดตามยึดทรัพย์เป็นบ้านพร้อมที่ดิน รวม 4 รายการซึ่งเป็นของท่านอดีตผู้ว่าการรัฐ ซึ่งหนึ่งในจำนวนนี้เป็นบ้านราคา 1,750,000 ปอนด์ ซึ่งท่านอดีตผู้ว่าการซื้อมาโดยชำระเป็นเงินสดและใช้เป็นบ้านพักในกรุงลอนดอนเมื่อเดินทางไปประเทศอังกฤษ

นอกจากนั้นรัฐบาลยังได้ขอให้ทางการสหรัฐอเมริกาติดตามยึดทรัพย์สินของท่านอดีตผู้ว่าการรัฐในกองทุนค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ (brokerage fund) ที่แมซาชูเซตซึ่งเป็นของท่านอดีตผู้ว่าการรัฐ จำนวน 401,931 ดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งยึดบ้านที่มลรัฐแมรี่แลนด์ มูลค่า 600,000 ดอลลาร์สหรัฐด้วยเมื่อเดือนมิถุนายน 2012 ศาลสหพันธ์ในมลรัฐแมสซาชูเซต ได้มีคำสั่งอนุมัติให้ยึดทรัพย์ดังกล่าวด้วยแล้ว

การที่ท่านประธานาธิบดีให้นิรโทษกรรมแก่อดีตผู้ว่าการรัฐซึ่งเป็นเพื่อนหรือเจ้านายเก่าของท่าน(สมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการรัฐบาเยลซา) ที่จริงก็ไม่ได้ช่วยให้พ้นผิด คดีความก็จบไปแล้ว เจ้าตัวก็รับผิดไปแล้ว ทรัพย์สินก็ถูกยึดคืนไปหมดแล้ว คงเห็นว่า น่าจะมาเริ่มต้นชีวิตกันใหม่ เรื่องที่แล้วก็แล้วกันไป แบบนั้นเพราะคนเรามีทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดี วันที่จับได้ว่าทำผิด ไม่นึกถึงวันที่ทำความดีงามเลยก็ดูกระไร

แต่บังเอิญว่าท่านอดีตผู้ว่าการรัฐและท่านประธานาธิบดีท่านเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเดียวกัน คือพรรค PDP ด้วยกัน เรื่องนี้เลยกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันยาว

แกงส้มที่รัก



แกงส้มที่รัก

เย็นวานนี้ทำแกงส้มปลา ได้เครื่องแกงที่นำติดตัวมาจากกรุงเทพฯ มีน้ำมะขามสำเร็จเตรียมไว้ด้วย แต่ไม่ต้องใช้ เพราะทำตามขนาดที่ระบุไว้ข้างซองน้ำพริกแกงส้มรสชาติได้เรื่องแล้ว  ผักที่ใส่มีถั่วฝักยาว กล่ำปลี แคร็อต แอ็บเปิ้ล  อย่างหลังนี้ลองใส่ไปงั้นเอง ให้มีผักหลายหลาก  

ที่บ้านยังมีอุปกรณ์ในการปรุงอาหารที่เป็นซองอยู่อีกแยะ ของพวกนี้ช่วยทำให้หายคิดถึงกับข้าวที่เมืองไทย และช่วยให้เจริญอาหาร

ปลาที่ใช้เป็นเนื้อปลาสำเร็จรูปแช่แข็งซื้อที่นี่ แต่เป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ร้านขายอาหารทะเลแช่แข็งที่นี่ชื่อร้าน "ฟิชช็อบ" อยู่ย่านวูเซ่สอง(Wuse 2) มีทุกอย่างให้เลือกซื้อ

ผู้นำไนจีเรียประกาศภาวะฉุกเฉินใน 3 รัฐ หลังกบฏโจมตีหลายระลอก



ผู้นำไนจีเรียประกาศภาวะฉุกเฉินใน 3 รัฐ หลังกบฏโจมตีหลายระลอก

ประธานาธิบดีไนจีเรียประกาศภาวะฉุกเฉินใน 3 รัฐทางตะวันออกของประเทศ หลังจากกลุ่มติดอาวุธมุสลิมก่อเหตุโจมตีหลายระลอกในช่วงที่ผ่านมา...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 15 พ.ค. ว่า นายกู้ดลักค์ โจนาธาน ประธานาธิบดีแห่งประเทศไนจีเรีย ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน 3 รัฐ คือ บอร์โน, แอดามาวา และโยเบ หลังจากกลุ่มติดอาวุธมุสลิม 'โบโก ฮารัม' ก่อเหตุโจมตีนองเลือดหลายระลอก เขายังสั่งให้ส่งทหารไปยังรัฐดังกล่าวเพิ่มด้วย

กลุ่มโบโก ฮารัม ถูกกล่าวโทษว่าเป็นผู้ก่อเหตุความรุนแรงในไนจีเรียตั้งแต่ปี 2010 และทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 2,000 คน โดยมีจุดมุ่งหมายคือการโค่นล้มรัฐบาล และก่อตั้งรัฐที่ปกครองโดยกฎหมายอิสลามขึ้นทางตอนเหนือของประเทศ

ทั้งนี้ โทรทัศน์ไนจีเรียได้เผยแพร่แถลงการณ์ของนายโจนาธาน เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยเขาระบุว่า สิ่งที่ไนจีเรียกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ ไม่ใช่แค่การใช้ความรุนแรง หรือการก่ออาชญากรรม แต่เป็นการก่อกบฏและการจลาจลโดยฝีมือกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อเอกภาพของประเทศ

นอกจากนี้ ประธานาธิบดี ยังอ้างถึงการโจมตีอาคารรัฐบาลและการเข่นฆ่าเจ้าหน้าที่ของรัฐและพลเรือนในช่วงที่ผ่านมา และระบุว่าพฤติการณ์เหล่านี้เป็นการประกาศสงคราม
"เราจะตามล่าพวกเขา เราจะล่อพวกเขาออกมาและจับกุมตัวมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม" นายโจนาธาน กล่าว.

ที่มา: ข่าวไทยรัฐออนไลน์ 15 พ.ค. 2556 http://www.thairath.co.th/content/oversea/344936 

วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ปัญหาของโรงเรียนเอกชนไนจีเรีย



ปัญหาของโรงเรียนเอกชนไนจีเรีย

ดร.แมรี อิยายี กรรมการผู้อำนวยการโรงเรียนแครี คอลเลจ ที่นครลากอส ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งเปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ทุกวันนี้โรงเรียนประสบปัญหาผู้ปกครองไม่ยอมชำระค่าเล่าเรียน ทวงก็ไม่ได้ โวยวาย  มีหลายรายมาเจรจาขอผ่อนผันกับทางโรงเรียน แต่พอครบกำหนดชำระเงินกลับจ่ายเป็นเช็กล่วงหน้า ซึ่งโรงเรียนต้องรอจนถึงกำหนดจึงนำเช็กไปเข้าธนาคารกลับกลายเป็นเช็กไม่มีเงินอีก ปัญหานี้กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโรงเรียน

ดร.อายายีท่านเข้าใจดีว่าเป็นผลกระทบมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศ แต่ ท่านก็เห็นว่าผู้ปกครองน่าวางแผนการใช้จ่ายของครอบครัวให้เหมาะกับสถานะทางเศรษฐกิจของตน เพราะโรงเรียนมีตั้งมากมายหลายแห่งให้เลือกมีทั้งที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายแพง และที่ใช้ค่าใช้จ่ายถูกลงมา และเมื่อเลือกแล้วก็ต้องรู้ว่าตนมีบุตรกี่คนที่ต้องชำระค่าเล่าเรียนก็ควรจัดหาไว้ให้พร้อม ไม่ต้องให้ทวงถามกัน

ทุกวันนี้โรงเรียนเองก็มีภาระค่าใช้จ่ายทั้งเงินกู้ธนาคารเพื่อสร้างอาคารเรียน เงินเดือนและสวัสดิการของครูและพนักงาน ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าน้ำ ค่าไฟ

ดร.อายายีบอกด้วยว่า นักเรียนโรงเรียนของท่านเป็นเด็กวัยรุ่น มาโดนทวงค่าเล่าเรียนก็อายเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ท่านบอกว่าทุกวันนี้ภาวนาให้เศรษฐกิจดีขึ้นเสียที ผู้ปกครองกลุ่มนี้จะได้มีโอกาสแสดงความรับผิดชอบ