วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ไนจีเรียจะส่งนักบินอวกาศในปี 2015


ไนจีเรียจะส่งนักบินอวกาศในปี 2015

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเปิดเผยว่า ในปี 2015 ไนจีเรียมีแผนที่จะส่งนักบินอวกาศขึ้นไปสู่วงโคจรในอวกาศ โดยจะยิงจรวดขนส่งอวกาศที่ฐานบินอวกาศเมืองเอเป รัฐลากอส

โครงการอวกาศของไนจีเรียเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศไนจีเรียกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยขณะนี้ไนจีเรียส่งวิศวกรจากสำนักงานวิจัยและพัฒนาอวกาศแห่งชาติ จำนวน 12 คนไปเข้ารับการฝึกอบรมที่ประเทศจีน เพื่อพัฒนาจรวดขนส่งอวกาศ

นอกจากการส่งนักบินอวกาศแล้ว สำนักงานวิจัยและพัฒนาอวกาศไนจีเรียยังมีแผนที่จะส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรในอวกาศอีก 2 ดวง 

วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

อาบูจาติดอันดับเมืองค่าครองชีพสูงในแอฟริกา



อาบูจาติดอันดับเมืองค่าครองชีพสูงในแอฟริกา

จากการเปิดเผยของ Economist Intelligence Unit (EIU) เมื่อเร็วๆนี้ ระบุว่า กรุงอาบูจาเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงเป็นอันดับสองของทวีปแอฟริกา ในขณะที่นครลากอสเมืองหลวงเก่าและศูนย์กลางธุรกิจการค้าของไนจีเรียติดอันดับสี่

การศึกษาดังกล่าวเป็นการเปรียบเทียบค่าครองชีพของเมืองใหญ่ในทวีปแอฟริกาจำนวน 25 เมือง โดยกรุงลูอันดา ประเทศแองโกลาเป็นเมืองที่มีอัตราค่าครองชีพสูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง และอันดับที่ 25 ได้แก่กรุงแอดดิสอาบาบา ประเทศเอธิโอเปีย


สำหรับกรุงอาบูจา นอกจากเป็นเมืองที่ค่าครองชีพสูงติดอันดับแล้ว ยังเป็นเมืองที่ประชากรบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ล บุหรี่ และยาเสพติดในอัตราสูงเป็นอันดับที่ 12 ของบรรดาเมืองใหญ่ทั้ง 25 เมืองอีกด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดาบก็แกว่ง มือก็ไกว


ดาบก็แกว่ง มือก็ไกว

ไอชา อุมาร์ เป็นคนขับแท็กซี่ในกรุงอาบูจา เป็นแท็กซี่หญิงเพียงไม่กี่คนที่ทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำเลี้ยงลูกสองคน

ไอชา อายุ 34 ปี เริ่มอาชีพขับแท็กซี่มาเมื่อ 5 ปีก่อน ด้วยความจำเป็นเนื่องจากหย่าร้างกับสามีต้องกลายเป็น "ซิงเกิ้ล มัม" ต้องหาเลี้ยงลูกที่เธอหอบหิ้วมาไว้กับเธอสองคน ปัจจุบันคนโตอายุ 7 ขวบคนเล็ก 5 ขวบ เนื่องจากการหย่าร้างกับ

ที่ไอชาเป็นข่าววันนี้เนื่องจากหนังสือพิมพ์พากันลงพิมพ์เรื่องราวของเธอในฐานะที่เป็นคนขับแท็กซี่หญิงคนแรกของกรุงอาบูจา แม้ว่าเธอจะทำอาชีพนี้มานานแล้วก็ตาม ความน่าสนใจเกี่ยวกับไอช่า ไม่ใช่เพียงการเป็นหญิงแกร่งที่เลือกทำอาชีพนี้ทั้งที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่ขับแท็กซี่อยู่ แต่ความน่าสนใจอยู่ที่วิธีคิดของเธอเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ โดยเธอมีทัศนะว่าหากเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วเธอจะทำ และเธอเชื่อว่า ไม่มีอาชีพใดที่สงวนไว้สำหรับผู้ชายเท่านั้นที่ทำได้ ชีวิตนี้สั้นผู้หญิงเราควรจะลืมคำว่าหยิ่งไปเลย แต่ควรจะทำอะไรก็ได้ที่เราตั้งใจอยากจะทำ และเมื่อลงมือทำแล้วต้องคิดบวกอย่าคิดลบ และเดินหน้าทำสิ่งที่ถูกต้อง ผู้หญิงเราต้องมีความเชื่อในตัวเองก่อนที่จะให้คนอื่นมาเชื่อในตัวเรา

แนนอนว่าอาชีพขับแท็กซี่ไม่ใช่อาชีพแรกๆของเธอ ก่อนจะมาขับแท็กซี่เธอเคยประกอบอาชีพอย่างอื่นมาก่อนรวมทั้งเป็นแม่ค้าขายเสื้อผ้า

ชีวิตของแม่บ้านขับแท็กซี่อย่างไอชานับว่าหนักเอาการ เธอต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ตีห้าเพื่อละหมาด และทำอาหารให้ลูกก่อนอาบน้ำแต่งตัวขับแท็กซี่ออกไปทำงานตอนแปดโมงเช้า โดยเธอจะจอดรอรับผู้โดยสารอยู่บริเวณตลาดวูเซ่  ตลาดใหญ่กลางกรุงอาบูจา อยู่ทั้งวัน จนห้าโมงเย็นจึงกลับบ้าน อาบน้ำทานข้าวกับลูก เธอยอมรับว่า ตลอดเวลา 5 ปี ที่ขับแท็กซี่ ไม่มีเวลาให้กับลูกเท่าที่ควร ทำงานสัปดาห์ละเจ็ดวัน

ที่จริงไอชาเคยเรียนในมหาวิทยาลัยมาก่อน แต่ออกเสียกลางคันเมื่อเรียนอยู่ชั้นปีที่สอง เมื่อสี่เดือนที่แล้วเธอตัดสินใจกลับไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง โดยเข้าศึกษาในวืทยาลัยการศึกษาที่รัฐไนเจอร์ เอกและโทภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส โดยตั้งความหวังไว้ว่าเมื่อเธอเรียนจบปริญญาตรีจะหางานอื่นทำ งานที่พอจะทำให้เธอมีเวลาอยู่กับลูกได้มากกว่านี้ ทุกวันนี้ไอช่าออกแท็กซี่สัปดาห์ละสี่วัน ที่เหลือสามวันเธอไปเรียนหนังสือ

นอกจากไอชาแล้วในกรุงอาบูจามีผู้หญิงขับแท็กซี่อีกสองคน ซึ่งทั้งสองคนบอกกับไอชาว่า เธอเป็นแรงบัลดาลใจของพวกเขา

 เดรดิตภาพ : http://www.couriermail.com.au/news/no1-ladies-taxi-agency/story-e6frerdf-1226619332964

Next Cash & Carry



Next Cash & Carry

ร้าน Next Cash & Carry เป็นร้านขายสินค้าที่จัดวางสินค้าแบบเดียวกับแม็กโครในเมืองไทย อาคารที่เห็นนี้เป็นร้านแรกที่เปิดบริการในประเทศไนจีเรีย ตั้งอยู่ริมถนน Amada Bello Way ห่างจากตัวเมืองอาบูจาประมาณ 4 กิโลเมตร มีลานสำหรับจอดรถยนต์ไว้บริการลูกค้า 400 คัน ภายในติดเครื่องปรับอากาศ และติดตั้งเครื่องปั่นไฟไว้สำรองกรณีไฟฟ้าดับด้วย

หากเปรียบเทียบกับร้านขายสินค้าขนาดใหญ่แห่งอื่นๆที่มีอยู่ในกรุงอาบูจา ในวันธรรมดาร้านนี้ค่อนข้างเงียบ ไม่มีลูกค้าพลุกพล่านเท่าที่ควร ร้านอาหารที่ตั้งอยู่ภายในก็ไม่ค่อยมีคนเช่นกัน แต่สินค้าของที่นี่ราคาถูกกว่าร้านไหนๆ ในอาบูจาดังนั้นในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ร้านนี้จะมีลูกค้ามาซื้อสินค้าจำนวนมาก





วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ร้านคุณโมหมัด





ร้านคุณโมหมัด

คุณโมหมัดเป็นเจ้าของแผงลอยที่ตลาดเกษตรกร ซึ่งอยากเรียกว่าตลาด อตก. สินค้าที่ขายเป็นผลไม้และผักที่ปลูกในพื้นที่รอบๆกรุงอาบูจา ใครที่สนใจอยากทราบว่าที่นี่มีผลไม้อะไรบ้างก็ลองคลิกภาพทั้งสี่นี้ดู ของที่นี่ราคาไม่แพง และอนุญาตให้เลือกได้ด้วย

วันที่คุณโมหมัดไม่มาที่ร้านจะซื้อของได้ถูกกว่า เพราะเด็กลูกจ้างใจดีมักลดราคาให้ตามที่ต่อราคา ไม่อิดออด วันนี้คุณโมหมัดมาเองก็ใช่ว่าจะขอลดไม่ได้ ซื้อกล้วยหอม ที่แบ่งขายชุดละ 4 ผลราคา 300 ไนร่า จำนวน 2 ชุดแกขายให้ราคา 400 ไนร่าเอง

วันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ไนจีเรียชนะ



ไนจีเรียชนะ

ในการลงฟาดแข้งนัดตัดเชือกฟุตบอลกลุ่มเอฟเพื่อเข้าไปแข่งเวิลร์คัพปี 2557 ที่ประเทศบราซิล ระหว่างทีมฟุตบอลไนจีเรียกับเคนยาที่สนามฟุตบอลคาซารานี สเตเดียม กรุงไนโรบี เมืองหลวงของเคนยาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2556 สร้างความชุ่มชื่นใจให้กับชาวไนจีเรียทั้งประเทศเมื่อทีมไนจีเรียสามารถเอาชนะเคนยาได้ 1-0

ไนจีเรียทำประตูชัยได้ก่อนหมดเวลาครึ่งหลัง โดยอาหเม็ด มุซารับลูกที่มิเตล โอบีวางพานมาให้ แล้วเดาะบอลข้ามหัวนายทวารเคนยาที่ถลันออกมาตามตะคลุบลูก

ลูกบอลเข้าไปตุงตาข่าย เป็นประตู ในนาทีที่ 81 ของการแข่งขัน

การฟาดแข้งนัดนี้เป็นครั้งที่สองที่ทั้งสองทีมมาพบกัน โดยในนัดแรกไนจีเรียเป็นเจ้าบ้านแข่งขันที่สนามฟุตบอลเมืองคาราบาร์เมื่อสองเดือนก่อนทั้งสองทีมกินกันไม่ลงทำประตูเสมอกัน 1-1 นัดนั้นเคนยาเล่นเป็นพระเอกและเป็นฝ่ายประเดิมประตูได้ก่อน กว่าไนจีเรียจะตามมาตีเสมอได้ก็เล่นเอาแฟนบอลใจหายใจคว่ำ ในนัดนั้นเอ็นนัมดี โอดุอามาดี เป็นผู้ทำประตูเสมอให้ไนจีเรียได้สำเร็จ

โดยที่ฝีเท้าของทั้งสองทีมสูสีกัน ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าการฟาดแข้งนัดนี้แฟนบอลไนจีเรียจะใจจดใจจ่อเพียงใดกับเกมส์การแข่งขัน ยิ่งเป็นนัดเยือนที่ทีมต้องไปแข่งที่เคนยาด้วยแล้ว ใครๆก็ไม่มั่นใจ เพราะกลัวนักฟุตบอลแพ้เสียงเชียร์ในสนาม เมื่อผลออกมาสมใจ แฟนบอลไนจีเรียต่างมีความสุข ไปที่ไหนได้ยินแต่คนคุยเรื่องไนจีเรียชนะ

ฟุตบอลเป็นกีฬายอดนิยมของไนจีเรีย และฟุตบอลทีมชาติของไนจีเรียมีชื่อเรียกว่า ซุปเปอร์ อีเกิ้ล

ดาวดวงที่ล่วงหล่นจากฟากฟ้าไกล


ดาวดวงที่ล่วงหล่นจากฟากฟ้าไกล

ในบรรดาความภาคภูมิใจที่ชาวไนจีเรียทุกคนมีอยู่ในหัวใจตรงกันประการหนึ่งคือการที่บ้านเมืองนี้มีนักเขียนที่มีชื่อเสียงเลื่องระบือไกลอย่างนายชินูอา อาเชเบ นักเขียนอมตะที่ทำให้โลกทั้งโลกรู้ซึ้งถึงจิตวิญญาณของชาวแอฟริกัน

นายอาเชเบเป็นคนเผ่าอิกโบ มีพื้นเพอยู่ที่เมืองโอกิดี รัฐอนัมบรา เกิดเมื่อ  16 พฤศจิกายน 1930        จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย University College ซื่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น University of Ibadan โดยศึกษามาทางด้านภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์และเทววิทยา

นายอาเชเบเป็นนักเขียนมีผลงานด้านนวนิยาย เรื่องสั้น วรรณศิลป์ เรียงความ บทวิจารณ์วรรณกรรม บทความความเห็นทางการเมือง และ non- fiction โดยในบั้นปลายของชีวิตใช้ชีวิตเป็นนักวิชาการด้านภาษาอังกฤษและวรรณคดีอยู่ที่ Bard College และมหาวิทยาลัย บราวน์ สหรัฐอเมริกาก่อนเสียชีวิต

งานเขียนที่สร้างชื่อให้แก่นายอาเชเบมีอาทิ Things Fall Apart,No Longer at Ease, Arrow of God, A Man of the People, Anthills of the Savannah.

ตลอดชีวิตได้รับยกย่องจากสถาบันอุดมศึกษาทั้งจากสหราชอาณาจักร สก๊อตแลนด์ แคนาดา แอฟริกาใต้  ไนจีเรีย และสหรัฐอเมริการวมกว่า 30 แห่งมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้  นอกจากนั้นยังได้รับยกย่องจากสถาบันวรรณกรรมระหว่างประเทศอีกหลายแห่ง


นายอาเชเบเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2556 ที่รัฐแมสซาชุเซต สหรัฐอเมริกา และญาตินำศพกลับมาฝังที่บ้านเกิดเมื่อ 23 พฤษภาคม 2556

วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

วันอลเวงในกรุงอาบูจา


วันอลเวงในกรุงอาบูจา

วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน ที่ผ่านมา เป็นวันแรกที่ทางการห้ามรถเมล์เล็กสีเขียว และรถสามล้อเครื่องสีเหลืองเข้าไปวิ่งรับส่งผู้โดยสารในบริเวณย่านธุรกิจกลางเมืองหรือย่านศูนย์ราชการ โดยบอกว่าจะจัดรถเมล์ใหญ่คันยาวๆที่จุผู้โดยสารได้คราวละมากๆมาให้บริการแทน โดยกำหนดสถานที่จอดพักสำหรับรถเมล์เล็กสีเขียวไว้ตามจุดเชื่อมถนนนอกเมือง และรถสามล้อสีส้มนั้นกำหนดให้วิ่งรับส่งผู้โดยสารได้เฉพาะตามหมู่บ้าน หรือตามซอยเล็กซอยน้อย ไม่ให้ออกมาเพ่นพ่านในตัวเมือง

แต่เช้าวันจันทร์ที่ผ่านมาผู้โดยสารที่เคยใช้บริการรถเมล์เล็กก็พบว่าตัวเองต้องยืนรอรถเมล์จนขาแข็ง รถก็ยังไม่มา แล้วไม่ได้มีคนเดียวที่ยืนรอรถเมล์ตามจุดต่างๆ หากเป็นคนร่วมร้อยที่รอขึ้นรถอยู่ตามป้ายรถเมล์ โดยคนที่ยืนรอนานและท้อก็ต้องจับแท็กซี่ นั่งรวมๆกันเข้าไปในเมือง แต่ที่มีจำนวนมากก็คือคนที่ตัดสินใจเดิน ส่วนที่ยังรอรถก็พบว่าตัวเองต้องต่อคิดเพื่อขึ้นรถเมล์ และเป็นคิวที่ยาวมาก ร้อนก็ร้อน พอรถประจำทางมาก็มีผู้โดยสารนั่งมาเต็มคันรถ คนที่รออยู่ตามป้านรถจะเบียดขึ้นไปก็เบียดได้อีกไม่กี่คน ที่เข้าไปข้างในรถไม่ได้ก็ห้อยโหนอยู่ที่บันไดรถเป็นกลุ่มใหญ่ น่าหวาดเสียวยิ่ง

นอกจากรถประจำทางใหม่จะไม่พอแล้ว ซ้ำทางการยังไม่ได้จัดระเบียบเสียอีกด้วย คือที่นี่ไม่มีองค์การขนส่งมวลชนที่ดูแลให้บริการวิ่งรถประจำทางรับส่งผู้โดยสารเหมือนที่เมืองไทย สภาพที่เกิดขึ้นคือ ข้าราชการที่ไม่มีประสบการณ์เป็นผู้เข้ามาบริหารจัดการ มีรถกี่คันก็ปล่อยให้วิ่งรับส่งผู้โดยสารไป โดยไม่จัดสายหรือจัดพื้นที่รับผิดชอบในการวิ่งบริการ รถทุกคันจึงกลายเป็นรถหวานเย็นเหมือนกันหมด รอเท่าไหร่ก็ไม่มา มาแล้วคนแน่น

การจัดระเบียบเดินรถใหม่ในพื้นที่กลางเมืองหลวงนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณรถรับจ้างสาธารณะที่วิ่ง และจอดรอรับผู้โดยสารเต็มถนนไปหมด พื้นที่การจราจรที่มีน้อยอยู่แล้วเลยยิ่งทำให้การจราจรติดขัดไม่มีเวลา คือบริเวณย่านธุรกิจกลางเมือง หรือย่านศูนย์ราชการนั้นรถติดได้ทั้งวัน ไม่ต้องพูดถึงช่วงรถมาก


จากที่ฟังเสียงสื่อมวลชนที่สะท้อนปัญหาเห็นใครๆก็เรียกร้องให้เพิ่มรถ และจัดระบบการเดินรถใหม่ให้ตรงเวลามากกว่านี้ และไม่รอนานจนไปทำงานไม่ทัน

วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ปัญหาเยาวชนไนจีเรีย



ปัญหาเยาวชนไนจีเรีย

ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ปีนี้ มีข่าวที่เป็นเรื่องทอล์กออฟเดอะทาวน์เรื่องหนึ่งที่มีการรายงานไปทุกสื่อในต่างประเทศและในไนจีเรีย เป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ตำรวจในรัฐอิโมบุกเข้าตรวจค้นจับกุมบ้านหลังหนึ่ง พบหญิงวัยรุ่น 17 คน ทารก 11 คน ถูกขังอยู่ในบ้านหลังนั้น

ข่าวรายงานว่า ผู้หญิงและเด็กที่ตรวจพบเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้าเด็กทารก โดยเด็กผู้หญิงในบ้านแห่งนี้จะมีชายวัย 23 ปีรายหนึ่งเป็นผู้ร่วมประเวณีเพื่อให้ตั้งครรภ์ และเมื่อเด็กทารกคลอดออกมาแล้วก็จะมีนายหน้าไปติดต่อขายเด็กให้กับครอบครัวที่แต่งงานแล้วไม่มีบุตร

ราคาเด็กทารกที่ซื้อขายกันในท้องตลาดขณะนี้ตกคนละ 6,400 ดอลลาร์สหรัฐ

อันที่จริงการจับกุมครั้งนี้ไม่ได้เป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมกระบวนการค้าเด็กทารก ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2551 มามีรายงานการจับกุมคดีแบบนี้ในประเทศมาแล้ว 6 ครั้ง

การที่ขบวนการค้าทารกยังมีอยู่อย่างไม่รู้จักหมดนี้ เนื่องจากมีตลาดรองรับเด็กทารกพวกนี้ เพราะจากสถิติขององค์การอนามัยโลกมีคู่สมรสไนจีเรียที่ไม่สามารถมีบุตรได้ถึง 12 ล้านคู่ ซึ่งคู่สมรสกลุ่มนี้หลังจากความพยายามโดยใช้วิธีทางการแพทย์ไม่ประสบผลแล้วก็มักยินดีที่จะรับเด็กทารกมาเป็นบุตรบุญธรรม

ปัญหาอีกประการหนึ่งที่แก้กันไม่ตกในบ้านเมืองนี้ คือการที่เด็กหญิงไนจีเรียที่เข้าเรียนหนังสือในชั้นประถมศึกษานั้น มีเพียงร้อยละ 12 เท่านั้นที่จะได้เข้าเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษา ทำให้เด็กหญิงเหล่านี้มีโอกาสตกเป็นเหยื่อของการชักจูงให้หารายได้โดยการตั้งครรภ์ทารกเพื่อขายให้กับครอบครัวที่ต้องการซึ่งมีตลาดกว้าง นอกจากการชักจูงโดยตรงแล้ว การชักจูงภายหลังจากที่พวกเธอเกิดอุบัติเหตุตั้งครรภ์ก่อนการสมรสก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้พวกเธอเห็นดีเห็นงามไปกับการเข้ากลุ่มค้าทารก เพราะในสังคมไนจีเรียนั้นการตั้งครรภ์ก่อนการสมรสเป็นเรื่องน่าอับอายเสียหาย และแทบจะถูกขับออกจากชุมชนเลยทีเดีว


วันเด็กแห่งชาติ



วันเด็กแห่งชาติ

วันที่ 27 พฤษภาคม ทุกปีเป็นวันเด็กแห่งชาติของไนจีเรีย มีการจัดงานวันเด็กตามเมืองต่างๆกันทุกรัฐทั่วประเทศ รวมทั้งในกรุงอาบูจา เมืองหลวงของประเทศ

วันเด็กเป็นวันหยุดราชการสำหรับนักเรียนโรงเรียนชั้นประถม และมัธยม

งานวันเด็กปีนี้ประธานาธิบดีกู๊ดลัก โจนาธานสัญญากับเด็กๆว่าจะจัดสายด่วยพิเศษสำหรับให้เด็กแจ้งเหตุเมื่อเกิดกรณีการละเมิดสิทธิเด็ก รวมทั้งจะจัดตั้งกองทุนเป็นมูลนิธิเพื่อส่งเสริมกิจกรรมของเด็ก


นอกจากภาครัฐแล้ว องค์กรทางศาสนา องค์กรภาคเอกชนและNGOs ต่างจัดกิจกรรมสำหรับเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่ด้อยโอกาสในสังคมในวันนี้ด้วย