วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

รู้ได้ไงว่าเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยเก๊

รู้ได้ไงว่าเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยเก๊

เมื่อเดือนมีนาคม 2556 สำนักงานคณะกรรมการมหาวิทยาลัยไนจีเรียได้ออกแจ้งเตือนให้นักเรียนและผู้ปกครองทราบรายชื่อของมหาวิทยาลัยที่เปิดดำเนินการเรียนการสอน โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากทางราชการหรือที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยเก๊ ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ รวม 49 แห่ง

นอกจากเปิดเผยรายชื่อแล้ว สำนักงานคณะกรรมการมหาวิทยาลัยไนจีเรียได้ออกคำแนะนำสำหรับผู้ที่กำลังจะเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไนจีเรียว่า วิธีดูว่ามหาวิทยาลัยแห่งนั้นเป็นมหาวิทยาลัยจริงหรือเก๊ให้ดูจาก
  1. ไม่ปรากฎชื่อของมหาวิทยาลัยในรายชื่อมหาวิทยาลัยในไนจีเรียที่สำนักงานคณะกรรมการมหาวิทยาลัยไนจีเรียจัดทำขึ้นและเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์  http://www.nuc.edu.ng
  2. สอบถามสำนักงานคณะกรรมการมหาวิทยาลัยไนจีเรียแล้วได้รับคำคอบว่าไม่เคยได้ยินชื่อมหาวิทยาลัยดังกล่าว รวมทั้งผู้ปกครองของคุณ ญาติ เพื่อนบ้านและรวมทั้งตัวคุณก็ไม่เคยได้ยินชื่อมหาวิทยาลัยนั้นมาก่อน
  3. มหาวิทยาลัยไม่มีเว็บไซต์เป็นทางการของตนเอง
  4. มหาวิทยาลัยอ้างว่าเป็นศูนย์ศึกษาหรือเป็นมหาวิทยาลัยในเครือของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ
  5. มหาวิทยาลัยอ้างว่าเป็นแคมปัสย่อยของมหาวิทยาลัยไนจีเรียที่มีชื่อซึ่งคุณไม่เคยได้ยิน
  6. มหาวิทยาลัยไม่มีอาคารเรียนถาวรของตนเอง ผู้เรียนต้องไปเข้าเรียนตามห้องเรียนของโรงเรียนมัธยมศึกษา หรือ โรงเรียนประถมศึกษา หรือตามโคนต้นไม้
  7. มหาวิทยาลัยโฆษณาว่าเข้าศึกษาได้โดยไม่ต้องสอบ JAMB (Joint Admission and Maticulation Board)
  8. หากเข้าตามนี้แล้วให้แน่ใจว่าไม่ควรเปลืองเงินและเสียเวลาลงทะเบียนเรียนที่มหาวิทยาลัยดังกล่าว

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าหาอ่านรายละเอียดรายชื่อมหาวิทยาลัยเก๊ได้ที่เว็บไซต์ http://www.nuc.edu.ng/nucsite/File/Monday%20Bulletin/MB%202013/18%20March.2013finaldoc.pdf


วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

กับข้าวมาแล้ว

แซม พ่อค้าขายผักกับรถคู่ชีพสีแดงแปร๊ด
ผักปลูกเองจากสวน สด และน่าทาน
กับข้าวมาแล้ว


ที่บ้านพักมีรั้วรอบขอบชิดแน่นหนา  และใครจะเข้าตามตรอกออกตามประตูก็ต้องผ่านยามรักษาการสองคน  ดังนั้นเมื่อกลับเข้ามาบริเวณบ้านแล้วก็จะไม่ได้เห็นหน้าใครอีก

แต่ทุกวันศุกร์ราวทุ่มกว่าๆ ที่นี่จะมีรถยนต์สีแดงนำผักหญ้าเข้ามาขายให้ลูกค้าประจำ คนขายชื่ออะไรจำยากมาก เลยเรียกแกว่าแซม 

ตาแซมเนี่ยแกเป็นคนอารมณ์ดี พอรถมาจอดหน้าบ้านแกก็จะยกถุงใส่ผักสองถุงออกมา แล้วล้วงผักออกมาวางเรียงไว้หน้าประตู เสร็จแล้วก็จะมากดออดประตูเรียกให้เจ้าของบ้านออกมาดูผักที่แกเอามาขาย ปกติก็จะมี บวบ  ถั่วฝักยาว น้ำเต้า แตงกวา มะเขือเทศ มะเขือยาว หอมแดง มะระขี้นก ฟักทอง แตงไทย มะละกอ ผักโขมบ้าน แคร็อต แกบอกว่าผักที่นำมาขายเป็นผักปลูกเองจากสวนด

ที่เห็นเป็นถุงพลาสติกนั้นราคาสองร้อยไนร่ายืนพื้น คิดเป็นเงินไทยก็เอาห้าหาร ง่ายๆลงตัวไม่ต้องคิดเศษ  ถุงใหญ่หน่อยราคาสามร้อยสี่ร้อย ราคาที่เรียกนั้นต่อได้นะ แต่ตาแซมแกไม่ค่อยยอม เรามักใช้วิธีขอให้แกเอาของออก เพราะต้องการไม่มาก แล้วแกก็คิดส่วนลดให้ตามของ

ที่ว่าแกอารมณ์ดีคือชวนแกคุยได้ถามไถ่ได้ว่าของที่แกนำมานั้นเอาไปทำอะไรกินดี แกจะบอกให้อย่างตั้งใจ หรืออยากฝากให้แกหาผักอะไรมาให้ครั้งหน้าแกก็จะรับปากโดยเร็ว (แต่ไม่ค่อยได้ตามที่สั่ง)

ศุกร์ที่ผ่านมาแกเอามะละกอมาขายให้
เรา: มะละกอไม่สวยง่ะ มีตำหนิตรงเนี้ย พลางชี้ให้ดู
แซม : ไม่เป็นไรครับ ตำหนินั่นเป็นเพราะมะละกอพิงอยู่กับกำแพง ไม่เสียดอกครับ
เรา: แล้วนี่อีกกี่วันจะกินได้ล่ะเนี่ย
แซม: สองวันก็ทานได้แล้วครับ
เรา: ขายยังไงล่ะ
แซม: ลูกละสองร้อยไนร่าครับ
เรา: แน่ใจนะว่าไม่เสีย
แซม: หากผ่าแล้วเสียเที่ยวหน้ามาให้บอกได้ครับจะเอาลูกใหม่มาให้
เรา: อ้าว ไม่คืนเงินหรือ
แซม: ไม่คืนครับ แต่จะเอามะละกอลูกใหม่มาให้ ตาแซมยืนยันหน้ายิ้มๆ

เพิ่งผ่ามะละกอลูกนี้ทานเมื่อค่ำวันจันทร์  เนื้อเหลืองสวย หอม หวาน แต่แม่บ้านอดบ่นไม่ได้ว่าหากเชื่อแซมผ่าทานตั้งกะวันอาทิตย์ก็จะสุกพอดี

สองวันของแซมคือสองวันเป๊ะๆ

วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556



มื้อกลางวัน

แม้ว่าอาบูจาจะเป็นเมืองหลวง แต่หาอาหารรับประทานไม่ง่าย วิธีที่สะดวกที่สุดสำหรับตัวเองก็คือทำอาหารจากบ้านมาทานที่สำนักงาน พอดีที่ทำงานมีเตาไมโครเวฟได้อาศัยอุ่นอาหารทานได้

ตัวเองชอบทานอาหารจืด เลยทำผัดผักอะไรง่ายๆมาทานกลางวันบ่อยๆ อย่างมื้อเมื่อวานนี้ทำผัดบวบมาทานกับข้าว ใส่แคร็อต กุ้ง และไข่ไก่ ตักข้าวมามากเป็นพิเศษเพราะเห็นกับข้าวแล้วนึกอร่อย

ที่จริงข้าวและกับสำหรับมื้อกลางวันนั้นเตรียมไว้ตั้งแต่ตอนเย็นวาน แล้วใส่ตู้เย็นไว้ ตื่นเช้าก็เอาใส่ถุงพลาสติกมาด้วย ชีวิตเป็นอย่างนี้ทุกวัน

มีเหมือนกันที่บางวันเตรียมอาหารกลางวันใส่ถุงพลาสติกไว้แล้วลืมหยิบมา เดี๋ยวนี้รู้สึกลืมง่าย

วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556




การนิรโทษกรรมอดีตผู้ว่าการรัฐบาเยลซ่า          

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2556 ประธานาธิบดีกู๊ดลัก โจนาธานได้ให้การนิรโทษกรรมนาย Diepreye Solomon Peter Alamieyeseigha อดีตผู้ว่าการรัฐบาเยลซาช่วงปี 1999 – 2005 ซึ่งถูกจับในข้อหาทุจริตยักยอกเงินแผ่นดิน และในครั้งนั้นท่านอดีตผู้ว่าการรัฐนอกจากถูกจับขึ้นฟ้องศาลแล้ว ยังถูกสภาในรัฐบาเยลซากล่าวโทษว่ากระทำผิดจรรยาบรรณและลงมติให้ขับท่านพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการรัฐบาเยลซาด้วย

อันที่จริงคดีความของท่านอดีตผู้ว่าการรัฐบาเยลซาเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2005 และอัยการส่งคดีฟ้องศาลไปตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2007 โดยกล่าวโทษ 6 ข้อหา ซึ่งในครั้งนั้นท่านอดีตผู้ว่าการก็ไม่ได้ต่อสู้คดีในศาลหากยอมรับว่ากระทำผิดจริงตามฟ้อง และในวันรุ่งขึ้น 27 กรกฎาคม 2556 ศาลจึงพิพากษาให้จำคุกท่านอดีตผู้ว่าการรัฐความผิดละ 2 ปี โดยนับตั้งแต่ท่านถูกจับกุม ส่วนความผิดที่ศาลระวางโทษข้อหาละ 2 ปีนั้นวิธีนับของศาลก็คือนับพร้อมกันทุกคดีความผิดจากวันที่ถูกจับกุม ซึ่งหากนับจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิพากษาลงโทษท่านก็ถูกจับกุมมาเกือบครบกำหนดสองปีแล้ว ดังนั้นภายหลังคำพิพากษาเมื่อเจ้าหน้าที่นำตัวไปคุมเรือนจำไม่กี่ชั่วโมงก็ปล่อยให้ท่านป็นอิสระ

ถึงแม้คดีความจะสิ้นสุดแล้ว แต่อัยการแผ่นดินก็ยังติดตามทรัพย์สินของทางราชการที่ถูกท่านอดีตผู้ว่าการรัฐฉ้อโกงไป โดยในปี 2009 รัฐบาลไนจีเรียได้จ้างทนายความในอังกฤษให้ติดตามยึดทรัพย์เป็นบ้านพร้อมที่ดิน รวม 4 รายการซึ่งเป็นของท่านอดีตผู้ว่าการรัฐ ซึ่งหนึ่งในจำนวนนี้เป็นบ้านราคา 1,750,000 ปอนด์ ซึ่งท่านอดีตผู้ว่าการซื้อมาโดยชำระเป็นเงินสดและใช้เป็นบ้านพักในกรุงลอนดอนเมื่อเดินทางไปประเทศอังกฤษ

นอกจากนั้นรัฐบาลยังได้ขอให้ทางการสหรัฐอเมริกาติดตามยึดทรัพย์สินของท่านอดีตผู้ว่าการรัฐในกองทุนค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ (brokerage fund) ที่แมซาชูเซตซึ่งเป็นของท่านอดีตผู้ว่าการรัฐ จำนวน 401,931 ดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งยึดบ้านที่มลรัฐแมรี่แลนด์ มูลค่า 600,000 ดอลลาร์สหรัฐด้วยเมื่อเดือนมิถุนายน 2012 ศาลสหพันธ์ในมลรัฐแมสซาชูเซต ได้มีคำสั่งอนุมัติให้ยึดทรัพย์ดังกล่าวด้วยแล้ว

การที่ท่านประธานาธิบดีให้นิรโทษกรรมแก่อดีตผู้ว่าการรัฐซึ่งเป็นเพื่อนหรือเจ้านายเก่าของท่าน(สมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการรัฐบาเยลซา) ที่จริงก็ไม่ได้ช่วยให้พ้นผิด คดีความก็จบไปแล้ว เจ้าตัวก็รับผิดไปแล้ว ทรัพย์สินก็ถูกยึดคืนไปหมดแล้ว คงเห็นว่า น่าจะมาเริ่มต้นชีวิตกันใหม่ เรื่องที่แล้วก็แล้วกันไป แบบนั้นเพราะคนเรามีทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดี วันที่จับได้ว่าทำผิด ไม่นึกถึงวันที่ทำความดีงามเลยก็ดูกระไร

แต่บังเอิญว่าท่านอดีตผู้ว่าการรัฐและท่านประธานาธิบดีท่านเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเดียวกัน คือพรรค PDP ด้วยกัน เรื่องนี้เลยกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันยาว

แกงส้มที่รัก



แกงส้มที่รัก

เย็นวานนี้ทำแกงส้มปลา ได้เครื่องแกงที่นำติดตัวมาจากกรุงเทพฯ มีน้ำมะขามสำเร็จเตรียมไว้ด้วย แต่ไม่ต้องใช้ เพราะทำตามขนาดที่ระบุไว้ข้างซองน้ำพริกแกงส้มรสชาติได้เรื่องแล้ว  ผักที่ใส่มีถั่วฝักยาว กล่ำปลี แคร็อต แอ็บเปิ้ล  อย่างหลังนี้ลองใส่ไปงั้นเอง ให้มีผักหลายหลาก  

ที่บ้านยังมีอุปกรณ์ในการปรุงอาหารที่เป็นซองอยู่อีกแยะ ของพวกนี้ช่วยทำให้หายคิดถึงกับข้าวที่เมืองไทย และช่วยให้เจริญอาหาร

ปลาที่ใช้เป็นเนื้อปลาสำเร็จรูปแช่แข็งซื้อที่นี่ แต่เป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ร้านขายอาหารทะเลแช่แข็งที่นี่ชื่อร้าน "ฟิชช็อบ" อยู่ย่านวูเซ่สอง(Wuse 2) มีทุกอย่างให้เลือกซื้อ

ผู้นำไนจีเรียประกาศภาวะฉุกเฉินใน 3 รัฐ หลังกบฏโจมตีหลายระลอก



ผู้นำไนจีเรียประกาศภาวะฉุกเฉินใน 3 รัฐ หลังกบฏโจมตีหลายระลอก

ประธานาธิบดีไนจีเรียประกาศภาวะฉุกเฉินใน 3 รัฐทางตะวันออกของประเทศ หลังจากกลุ่มติดอาวุธมุสลิมก่อเหตุโจมตีหลายระลอกในช่วงที่ผ่านมา...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 15 พ.ค. ว่า นายกู้ดลักค์ โจนาธาน ประธานาธิบดีแห่งประเทศไนจีเรีย ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน 3 รัฐ คือ บอร์โน, แอดามาวา และโยเบ หลังจากกลุ่มติดอาวุธมุสลิม 'โบโก ฮารัม' ก่อเหตุโจมตีนองเลือดหลายระลอก เขายังสั่งให้ส่งทหารไปยังรัฐดังกล่าวเพิ่มด้วย

กลุ่มโบโก ฮารัม ถูกกล่าวโทษว่าเป็นผู้ก่อเหตุความรุนแรงในไนจีเรียตั้งแต่ปี 2010 และทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 2,000 คน โดยมีจุดมุ่งหมายคือการโค่นล้มรัฐบาล และก่อตั้งรัฐที่ปกครองโดยกฎหมายอิสลามขึ้นทางตอนเหนือของประเทศ

ทั้งนี้ โทรทัศน์ไนจีเรียได้เผยแพร่แถลงการณ์ของนายโจนาธาน เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยเขาระบุว่า สิ่งที่ไนจีเรียกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ ไม่ใช่แค่การใช้ความรุนแรง หรือการก่ออาชญากรรม แต่เป็นการก่อกบฏและการจลาจลโดยฝีมือกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อเอกภาพของประเทศ

นอกจากนี้ ประธานาธิบดี ยังอ้างถึงการโจมตีอาคารรัฐบาลและการเข่นฆ่าเจ้าหน้าที่ของรัฐและพลเรือนในช่วงที่ผ่านมา และระบุว่าพฤติการณ์เหล่านี้เป็นการประกาศสงคราม
"เราจะตามล่าพวกเขา เราจะล่อพวกเขาออกมาและจับกุมตัวมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม" นายโจนาธาน กล่าว.

ที่มา: ข่าวไทยรัฐออนไลน์ 15 พ.ค. 2556 http://www.thairath.co.th/content/oversea/344936 

วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ปัญหาของโรงเรียนเอกชนไนจีเรีย



ปัญหาของโรงเรียนเอกชนไนจีเรีย

ดร.แมรี อิยายี กรรมการผู้อำนวยการโรงเรียนแครี คอลเลจ ที่นครลากอส ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งเปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ทุกวันนี้โรงเรียนประสบปัญหาผู้ปกครองไม่ยอมชำระค่าเล่าเรียน ทวงก็ไม่ได้ โวยวาย  มีหลายรายมาเจรจาขอผ่อนผันกับทางโรงเรียน แต่พอครบกำหนดชำระเงินกลับจ่ายเป็นเช็กล่วงหน้า ซึ่งโรงเรียนต้องรอจนถึงกำหนดจึงนำเช็กไปเข้าธนาคารกลับกลายเป็นเช็กไม่มีเงินอีก ปัญหานี้กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโรงเรียน

ดร.อายายีท่านเข้าใจดีว่าเป็นผลกระทบมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศ แต่ ท่านก็เห็นว่าผู้ปกครองน่าวางแผนการใช้จ่ายของครอบครัวให้เหมาะกับสถานะทางเศรษฐกิจของตน เพราะโรงเรียนมีตั้งมากมายหลายแห่งให้เลือกมีทั้งที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายแพง และที่ใช้ค่าใช้จ่ายถูกลงมา และเมื่อเลือกแล้วก็ต้องรู้ว่าตนมีบุตรกี่คนที่ต้องชำระค่าเล่าเรียนก็ควรจัดหาไว้ให้พร้อม ไม่ต้องให้ทวงถามกัน

ทุกวันนี้โรงเรียนเองก็มีภาระค่าใช้จ่ายทั้งเงินกู้ธนาคารเพื่อสร้างอาคารเรียน เงินเดือนและสวัสดิการของครูและพนักงาน ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าน้ำ ค่าไฟ

ดร.อายายีบอกด้วยว่า นักเรียนโรงเรียนของท่านเป็นเด็กวัยรุ่น มาโดนทวงค่าเล่าเรียนก็อายเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ท่านบอกว่าทุกวันนี้ภาวนาให้เศรษฐกิจดีขึ้นเสียที ผู้ปกครองกลุ่มนี้จะได้มีโอกาสแสดงความรับผิดชอบ

วันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เรื่องหนักอกของยูนิเซฟไนจีเรีย


เรื่องหนักอกของยูนิเซฟไนจีเรีย

สำนักงานยูนิเซฟที่ไนจีเรียมีเว็บไซต์เตือนไว้ว่า ระวังการหลอกลวงต้มตุ๋น เพราะทุกวันนี้มีอยู่บ่อยๆที่มีผู้เอาชื่อของสำนักงานยูนิเซฟไปอ้างเพื่อหลอกลวงประชาชน อาทิ
-          อ้างว่าเป็นพนักงาน หรือที่ปรึกษาของสำนักงานยูนิเซฟ ขอเงินค่ารักษาพยาบาล หรือขอเงินซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินกลับบ้าน
-          อ้างว่าเป็นพนักงานของยูนิเซฟโทรศัพท์หรืออีเมลไปขอรับเงินบริจาค หรือแจ้งว่าผู้รับโทรศัพท์ถูกรางวัลของยูนิเซฟ
-          ส่งอีเมลถึงผู้รับแจ้งว่ายูนิเซฟให้ทุนการศึกษา หรือเสนอรับเข้าทำงานในสำนักงานยูนิเซฟ  แต่ผู้รับอีเมลต้องส่งเงินค่าธรรมเนียมให้ก่อน

ใครที่ได้รับโทรศัพท์ติดต่อในทำนองนี้ ยูนิเซฟยืนยันว่าโดนหลอกลวงต้มตุ๋น เพราะอย่างในกรณีแรกนั้นหากเป็นพนักงานหรือที่ปรึกษาของยูนิเซฟแล้ว ยูนิเซฟต้องจัดส่งให้เดินทางกลับภูมิลำเนาจนได้ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีที่สองเรื่องขอรับเงินบริจาคด้วยแล้ว ยูนิเซฟไม่เคยขอรับบริจาคด้วยวิธีดังกล่าว จะมอบหมายให้องค์กรใดดำเนินการก็จะมีชื่อผู้เกี่ยวข้องปรากฏในเว็บไซต์ และยืนยันด้วยว่า เว็บไซต์ อีเมล หรือโทรศัพท์ใดๆ ที่แจ้งว่าคุณได้รับรางวัลของยูนิเซฟ ล้วนเป็นเว็บไซต์ อีเมล และโทรศัพท์หลอกลวงทั้งสิ้น  ส่วนกรณีที่สามเรื่องการรับเข้าทำงานหรือการแจ้งข่าวใดๆนั้นยูนิเซฟไม่เคยเรียกเก็บเงิน

ลงท้ายเว็บไซต์ของยูนิเซฟไนจีเรียได้ลงตัวอย่างอีเมลหลอกลวงไว้ให้ผู้เข้ามาชมเว็บไซต์อ่าน พร้อมกับเตือนให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์ระวังไม่ส่งเงินให้ใครง่ายๆก่อนที่จะตรวจสอบเสียก่อน ที่สำคัญอีเมลที่ไม่รู้จักผู้ส่งนั้นหากบอกให้เปิดลิ้งค์ ที่แนบมากับอีเมลไม่ควรเปิดเลย เพราะอาจเป็นการเปิดรับเอาสปายแวร์เข้ามาในเครื่องคอมพิวเตอร์ได้

ผู้สนใจเข้าไปอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.unicef.org/nigeria/about_3355.html

วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

IMF ว่าปีนี้เศรษฐกิจไนจีเรียขาขึ้น


IMF ว่าปีนี้เศรษฐกิจไนจีเรียขาขึ้น

สำนักงานกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF แถลงเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ศกนี้ว่า ในปี 2556 เศรษฐกิจของไนจีเรียจะขยายตัวร้อยละ 7.2 เปรียบเทียบกับปี 2555 ซึ่งอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 6.3  ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงอยู่ที่ระดับต่ำกว่าร้อยละ 10 ทั้งนี้เป็นผลมาจากการใช้นโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาล 

โทรศัพท์กลับบ้าน




โทรศัพท์กลับบ้าน

การโทรศัพท์จากไนจีเรียถึงบ้านที่เมืองไทย ให้กดเลขดังนี้  +66(เครื่องหมายบวกและเลขหกสองตัว) แล้วตามด้วยหมายเลขโทรศัพท์ที่เมืองไทยโดยไม่ต้องกดเลข 0 ตัวแรก

อย่างโทรศัพท์ที่เมืองไทยหมายเลข 089 xxxxxxx แบบนี้เราก็กด +6689xxxxxxx  หรือหากจะโทรศัพท์เข้าเบอร์บ้านซึ่งเริ่มต้นด้วย 02 เช่น 02 xxxxxxx แบบนี้ก็กด +662xxxxxxx

ใครที่พกโทรศัพท์มาจากเมืองไทย และใช้ซิมการ์ดเป็นของทรูมูฟแล้ว เมื่อไปถึงประเทศไหนๆ โทรศัพท์จะส่งข้อความบอกวิธีการโทรศัพท์กลับมาเมืองไทย

โทรศัพท์จากไนจีเรียกลับเมืองไทยเสียค่าใช้จ่ายถูกกว่าโทรศัพท์จากเมืองไทยมาไนจีเรีย

ผู้ป่วยติดเชื้อที่รัฐเบนูเอ



ผู้ป่วยติดเชื้อที่รัฐเบนูเอ

เมื่อต้นเดือนเมษายน ศกนี้ ทางการรัฐเบนูเอเปิดเผยว่า ปัจจุบันในรัฐเบนูเอมีผู้ป่วยติดเชื้อ HIV/AIDS จำนวน 708,640 ราย  และมีทารกที่ได้รับเชื้อจากครรภ์มารดา จำนวน 319,000 ราย

ผู้ป่วยติดเชื้อในรัฐเบนูเอที่เปิดเผยในครั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับผู้ป่วยเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งมีจำนวน 400,000 ราย จะเห็นว่าจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเอบเท่าตัว ซึ่งหากในอีก 4 ปีข้างหน้าจำนวนผู้ป่วยติดเชื้ออาจจะเพิ่มขึ้นถึง 100,000 ราย หากรัฐบาลไม่ทำอะไรจขริงจังเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งเป็นที่แน่นอนด้วยว่าจำนวนทารกติดเชื้อจากครรภ์มารดาก็จะต้องเพิ่มขึ้นด้วย

จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อ HIV/AIDS ในไนจีเรียมีประมาณ 3 ล้านคน เป็นผู้ป่วยในรัฐเบนูเอมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ โดยผู้ป่วยมีอายุระหว่าง 24 – 34 ปี ซึ่งเป็นประชากรวัยทำงาน

ปัญหาและอุปสรรคของบุคคลากรภาครัฐในการดำเนินงานเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคมีสองประการได้แก่ ประการแรก ชุมชนตั้งข้อรังเกียจผู้ป่วยติดเชื้อและครอบครัว เนื่องจากเกรงว่าจะนำเชื้อโรคแพร่ไปสู่ลูกหลานของตน ผู้ป่วยที่รู้ตัวจึงไม่กล้าเปิดเผยแสดงตัว ซึ่งรวมถึงไม่กล้าไปเข้ารับการรักษายังสถานพยาบาลของรัฐซึ่งมีอยู่หลายแห่ง และประการที่สองคือคนในรัฐเบนูเอซึ่งเป็นมุสลิมไม่ส่งเสริมการคุมกำเนิด  ซึ่งรวมถึงการใช้ถุงยางอนามัย ทำให้การรณรงค์เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ปลอดภัยไม่ได้ผลในพื้นที่ 

เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร


เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

ไนจีเรียมีกฎหมายเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นหลักประกันสิทธิพลเมืองที่มีความประสงค์ร้องขอข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐ  ซึ่งตามข้อบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว สำนักงานของรัฐจะต้องอนุญาตให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร  หากปฏิเสธคำร้องดังกล่าวจะต้องชี้แจงเหตุผลใทราบภายใน 7 วันนับแต่ได้รับคำร้อง หรือหากจะต้องโอนคำร้องไปยังหน่วยงานรับผิดชอบจะต้องดำเนินการภายใน 3 วัน นับแต่ได้รับคำร้อง

ตามกฎหมายดังกล่าว หน่วยงานสาธารณะทุกแห่งมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในการเก็บรักษาบันทึกต่างๆ  และต้องการคุ้มกันแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐจากการถูกฟ้องร้องทางแพ่งหรือทางอาญาในการที่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารใดๆโดยสุจริตตามกฎหมายเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร.

ผู้ร้องที่สถาบันสาธารณะปฏิเสธการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสามารถยื่นฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมให้พิจารณาใช้อำนาจศาลบังคับได้ ทั้งนี้ สถาบันสาธารณะหรือพนักงานของรัฐที่ปฏิเสธโดยมิชอบไม่ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้ร้องขอมีโทษปรับเป็นเงินจำนวน 500,000 ไนร่า(3,200 ดอลลาร์สหรัฐ)  นอกจากนั้น การทำลายบันทึกของทางราชการโดยมิชอบเป็นความผิดมีโทษจำคุกไม่น้อยกว่า 1 ปี

วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

โรคเอดส์ไนจีเรีย : ผู้ชายตายก่อนผู้หญิง



โรคเอดส์ไนจีเรีย : ผู้ชายตายก่อนผู้หญิง

กองทุนโลกเพื่อต่อต้านโรคเอดส์ วัณโรค และไข้มาเลเรียแถลงว่า ปัจจุบันไนจีเรียเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยด้วยโรคเอดส์มากเป็นอันดับสองรองจากแอฟริกาใต้ แต่จากการตรวจสอบติดตามพบว่าผู้ป่วยติดเชื้เพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่ได้รับการรักษาควบคุมโรค และมีหญิงติดเชื้อที่ตั้งครรภ์เพียงร้อยละ 16 ที่ได้รับการรักษาเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารก ซึ่งหากสภาพยังเป็นอยู่เช่นนี้กองทุนโลกฯ เชื่อว่าจำนวนผู้ป่วยในประเทศไนจีเรียจะมากกว่าผู้ป่วยในแอฟริกาใต้ในที่สุด

เรื่องนี้ผู้บริหารกองทุนโลกฯ ได้เดินทางมาเจรจากับประธานาธิบดีไนจีเรียเพื่อขอให้จัดสรรงบประมาณแก้ไขปัญหาดังกล่าว และได้รับการสนองตอบจากประธานาธิบดีไนจีเรียโดยทันทีว่าจะเร่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

รายงานกล่าวด้วยว่า จากการติดตามสำรวจสถิติจากโรงพยาบาลทั่วประเทศพบว่า ผู้ป่วยโรคเอดส์ไนจีเรียที่เป็นเพศชายเสียชีวิตมากกว่าเพศหญิงเนื่องจากผู้ป่วยชายไม่ยอมเข้ารับการรักษาในขณะที่ผู้ป่วยหญิงเข้ารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาลมากกว่า

ไนจีเรียยังปลูกข้าวไม่พอสำหรับการบริโภค



ไนจีเรียยังปลูกข้าวไม่พอสำหรับการบริโภค

ไนจีเรียปลูกข้าวได้ปีละ 2.5 – 2.7 ล้านตัน แต่ประชากร 160 ล้านคน บริโภคข้าวปีละ 5 ล้านตัน ต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศปีละ 2.5 – 3.0 ล้านตัน

พื้นที่เพาะปลูกข้าวของไนจีเรียปัจจุบันมี 1.77 ล้านเฮกตาร์ ผลผลิตทั่วไปอยู่ที่ระดับ 1.3 ตัน/เฮกตาร์ ความจริงพื้นที่เหมาะสำหรับการปลูกข้าวของไนจีเรียยังมีอีกประมาณ 4.7 – 4.9 ล้านเฮกตาร์

พื้นที่เกษตรกรรมที่ใช้ในการปลูกข้าวของไนจีเรีย 1.77 ล้านเฮกตาร์นั้น หากเปรียบเทียบกับการใช้พื้นที่เพื่อปลูกพืชอาหารอย่างอื่นแล้วการปลูกข้าวใช้พื้นที่เป็นอันดับ 5 รองจากข้าวฟ่าง ซึ่งใช้พื้นที่เพาะปลูก 4 ล้านเฮกตาร์ ลูกเดือย 3.5 ล้านเฮกตาร์ มันสำปะหลัง 2 ล้านเฮกตาร์และ แยม 2 ล้านเฮกตาร์ เช่นกัน

ปัจจุบันไนจีเรียปลูกข้าวปีละครั้งโดยเริ่มไถหว่านประมาณเดือนพฤษภาคม มิถุนายน ข้าวที่ปลูกเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองหลากหลายพันธุ์และมีพันธุ์ข้าวนำเข้าเรียกว่า ไชน่า(china) นำเข้ามาจากประเทศจีน ทั้งนี้แรงงานส่วนใหญ่ในการทำนายังเป็นแรงงานสตรี

ไนจีเรียกำลังจะมีระบบ 4 จี

ผู้บริหารของglo และหัวเหว่ยในวันลงนามบันตึกความเข้าใจที่ลากอส 25 เมษายน 2556


ไนจีเรียกำลังจะมีระบบ 4 จี

บริษัทโกลบาคอมของไนจีเรีย(glo) ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายหนึ่งของที่นี่ประกอบกิจการมาแล้วสิบปี ได้เปิดตัวเมื่อวันที่ 25 เมษายน ศกนี้ว่าบริษัทได้ว่าจ้างให้บริษัทหัวเหว่ยจากประเทศจีนทำการอัพเกรดเครือข่ายของบริษัทเพื่อเตรียมเปืดให้บริการโทรคมนาคมระบบ 4 จีในไนจีเรีย

บริษัทเปิดเผยว่าสัญญาดังกล่าวมีมูลค่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำหนดดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน