วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2555

พลังงานไฟฟ้าไนจีเรียยังขาดแคลน

เขื่อนเจบบา ในรัฐไนเจอร์

พลังงานไฟฟ้าไนจีเรียยังขาดแคลน

ปัจจุบันไนจีเรียมีความต้องการบริโภคไฟฟ้าทั่วประเทศประมาณ 14,000 เมกะวัตต์ แต่รัฐบาลสามารถจัดหาให้บริการได้เพียง 3,825 เมกะวัตต์เท่านั้น แต่ที่ผลิตได้เพียงเท่านี้ขีดความสามารถในการผลิตรวมของโรงไฟฟ้าในประเทศไนจีเรียมีประมาณ 6,600 เมกะวัตต์ แต่ที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้นั้นเนื่องมาจากประสบปัญหาทางเทคนิกและประกอบกับขาดการซ่อมบำรุงเครื่องจักรที่มีอายุการใช้งานมานาน

ตัวอย่างเห็นได้ชัดดังเช่นกรณีสถานีไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเจบบา ในรัฐไนเจอร์  ซึ่งสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำจากลำน้ำไนเจอร์ และสถานีผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำเปิดใช้มาตั้งแต่ปี 2528 มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 540 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของปริมาณไฟฟ้าใช้อยู่ในปัจจุบันสามารถให้บริการไฟฟ้าแก่ประชาชนได้ 364,000 ครัวเรือน  ปรากฏว่าตั้งแต่เปิดใช้งานมา 24 ปี โรงไฟฟ้าแห่งนี้ไม่เคยซ่อมบำรุง จนกระทั่งเมื่อปี 2552 เกิดเครื่องปั่นไฟฟ้าตัวหนึ่งชำรุด ทำให้การผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าจากสถานนีไฟฟ้าแห่งนี้ชะงักลง

รัฐบาลใช้เวลาสองปีในการเจรจาจัดหาแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยีในการซ่อมแซมสถานีไฟฟ้าพลังน้ำแห่งนี้ ในที่สุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 กระทรวงพลังงานได้ลงนามความตกลงกับสำนักงาน JICA ประเทศญี่ปุ่น โดยไจก้าจะให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่ไนจีเรียมูลค่า 4 พันล้านไนร่า เพื่อซ่อมเครื่องปั่นไฟที่ชำรุดและซ่อมบำรุงเครื่องจักรของสถานีไฟฟ้าดังกล่าว โดยกำหนดแล้วเสร็จในปี 2556  

วันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555

รถไฟกำลังจะมา


รถไฟกำลังจะมา

คนงานกำลังวางรางรถไฟในกรุงอาบูจา โครงการดังกล่าวรัฐบาลไนจีเรียได้รับความช่วยเหลือเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนจากสาะารณรัฐประชาชนจีน

เดครดิตภาพ: หนังสือพิมพ์ This Day ฉบับวันที่ 18 ธันวาคม 2555

ผู้ว่าฯแบ็งก์ชาติไนจีเรียว่าโลกสมัยใหม่ความรู้เข้ามาแทนที่ทรัพยากรธรรมชาติ


ผู้ว่าฯแบ็งก์ชาติไนจีเรียว่าโลกสมัยใหม่ความรู้เข้ามาแทนที่ทรัพยากรธรรมชาติ


ดร.ซานุซี ลามิโด ซานุซี ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศไนจีเรีย กล่าวในระหว่างการบรรยายหัวข้อ การจ้างงาน ทักษะ คุณค่า โอกาส และความเปลี่ยนแปลงของบัณฑิตจากมหาวิทยาลัย ที่มหาวิทยาลัยคาลาบาร์ ว่า บัณฑิตที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไนจีเรียในอดีตจนถึงช่วงกลางทศวรรษ 1970 จะสามารถแข่งขันในตลาดแรงงานกับบัณฑิตที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศได้ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไป บัณฑิตที่เรียนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไนจีเรียไม่สามารถแข่งขันในตลาดแรงงานได้อีกต่อไป โดยเห็นได้จากจำนวนบัณฑิตที่หางานทำไม่ได้ โดยสถิติปี 2554 มีบัณฑิตตกงานถึงร้อยละ 20 โดยจำนวนนี้เป็นบัณฑิตระดับปริญญาโทร้อยละ 5.1 และบัณฑิตระดับปริญญาเอกร้อยละ 9.1

ดร.ซานุซี กล่าวว่า แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกขณะนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้และการขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคมที่ก้าวหน้า ซึ่งแนวโน้มนี้มีผลกระทบต่อตลาดแรงงานไนจีเรียด้วย กล่าวคือ นายจ้างสมัยใหม่เลือกที่จะจ้างงานบัณฑิตที่ไม่เพียงแต่มีความรู้ในสาขาที่ศึกษามา แต่ยังเลือกหาคนที่มีทักษะในชีวิตอีกด้วย โดยนายจ้างคาดหวังว่าลูกจ้างที่มีคุณสมบัติดังกล่าวจะเพิ่มคุณค่าให้แก่องค์กรของนายจ้างสูงสุด

ดร.ซานุซีสรุปว่า ในโลกสมัยใหม่ ประเทศใดก็ตามที่หวังพึ่งอยู่แต่ทรัพยากรธรรมชาติเพียงอย่างเดียวเพื่อการสร้างเศรษฐกิจที่ก้าวหน้ารุ่งเรืองย่อมไม่มีทางประสบความสำเร็จ และไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ เพราะโลกปัจจุบันขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้สาขาต่างๆ

ไนจีเรียห้ามนำเข้าน้ำตาล


ไนจีเรียห้ามนำเข้าน้ำตาล

นายโอลูเซกุน อากันดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและการลงทุนแถลงเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2555 ว่ารัฐบาลไนจีเรียจะห้ามนำเข้าน้ำตาลตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 เป็ต้นไป

มาตรการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรมน้ำตาลของประเทศ ตามแผนดังกล่าวกำหนดให้ผู้ถือใบอนุญาตนำเข้าน้ำตาล brown sugar เพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรมฟอกขาวในประเทศต้องเป็นผู้ที่เป็นเจ้าของฟาร์มปลูกอ้อยด้วย

แผนแม่บทดังกล่าวหากสามารถบรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้จะสร้างงานตรง 117 ตำแหน่ง ผลิตกระแสไฟฟ้า 411.7 เมกาวัตต์/ปี ประหยัดเงินตราปีละ 565.8 ล้านไนร่า ผลิตน้ำตาลได้ 1.7 ล้านตัน/ปี และผลิตเอธานอลได้ 116 ล้านลิตร/ปี

ไนจีเรียจะออกบัตรเหลืองรุ่นใหม่


ไนจีเรียจะออกบัตรเหลืองรุ่นใหม่

กระทรวงสาธารณสุขไนจีเรียเปิดเผยว่า รัฐบาลมีแผนจะออกบัตรเหลือง (Yellow Card) รับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองรุ่นใหม่ใช้แทนบัตรเหลืองปัจจุบัน โดยบัตรเหลืองรุ่นใหม่นี้จะระบุเลขรหัสและข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของบัตรไว้ด้วย สำหรับเป็นเอกสารติดตัวเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ ทั้งนี้ทางการไนจีเรียจะทะยอยเปลี่ยนมาใช้บัตรเหลืองรุ่นใหม่แทนบัตรรุ่นเก่าที่หมดอายุ และสำหรับผู้ที่ขอรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองรายใหม่จะได้รับบัตรเหลืองรุ่นใหม่

ไนจีเรียมีประวัติพบผู้ป่วยโรคไข้เหลืองแพร่ระบาดครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2538 โดยพบผู้ป่วยติดเชื่อจำนวน 25 ราย ซึ่งเสียชีวิตเพียงรายเดียว

ปัจจุบันไนจีเรียเป็นประเทศที่มีรายชื่อรวมอยู่ในกลุ่มประเทศจำนวน 44 ประเทศที่องค์การอนามัยโลกระบุให้เป็นประเทศที่เสี่ยงต่อโรคไข้เหลือง 

วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

องค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศจัดลำดับไนจีเรียดีกว่าปีกลาย



องค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศจัดลำดับไนจีเรียดีกว่าปีกลาย

องค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกาเปิดเผยผลการจัดลำดับประเทศที่มีความโปร่งใสโดยได้จัดไนจีเรียอยู่ในลำดับที่ 139 ร่วมกับอาเซอไบจัน เคนยา เนปาลและปากีสถานโดยมีคะแนน 27 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ทั้งนี้จากการสำรวจ 176 ประเทศ

ไนจีเรียมีสถิติลำดับความโปร่งใสดังนี้ ลำดับที่ 143 จาก 183 ประเทศ เมื่อปี 2554 ลำดับที่ 134 จาก 178 ประเทศ เมื่อปี 2553 ลำดับที่ 130 จาก 180 ประเทศ เมื่อปี 2552 ลำดับที่ 121 จาก 180 ประเทศ เมื่อปี 2551 ลำดับที่ 147 จาก 180 ประเทศ เมื่อปี 2550 และอันดับที่ 153 จาก 180 ประเทศ เมื่อปี 2549

รัฐบาลไนจีเรียยอมรับผลการจัดลำดับดังกล่าว โดยเห็นว่าการที่ลำดับของไนจีเรียในปีนี้ดีขึ้นแสดงว่านโยบายต่อต้านคอรัปชั่นของประธานาธิบดีกู๊ดลัก โจนาธาน ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จ

ผู้สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://cpi.transparency.org/cpi2012/results/   

วัณโรค โรคหอบหืด และโรคทรวงอกอื่นๆ ยังแพร่ระบาดในไนจีเรีย



วัณโรค โรคหอบหืด และโรคทรวงอกอื่นๆ ยังแพร่ระบาดในไนจีเรีย

สมาคมโรคทรวงอกไนจีเรียเปิดเผยว่า นอกจากโรคไข้มาเลเรีย และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องแล้ว ไนจีเรียมีผู้ป่วยด้วยโรควัณโรค หอบหืด และโรคทรวงอกอื่นๆ ประมาณ 15 ล้านคน ทั้งนี้เป็นผลมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันและการรักษาตัวเอง

สมาคมเรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งศูนย์อนามัยโรคทรวงอกระดับภูมิภาคขึ้นใน 6 ภูมิภาคของไนจีเรียได้แด่ ภาคตะวันอกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนกลาง ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคใต้ตอนใต้ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อรณรงค์ให้การรักษา และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคดังกล่าวให้ประชาชนทราบ

ปัจจุบันสมาคมโรคทรวงอกไนจีเรียมีโครงการร่วมกับสมาคมโรคทรวงอกอเมริกา และสมาคมโรคทรวงอกแอฟริกา เพื่อกำจัดโรควัณโรค โรคหอบหืด และโรคทรวงอกอื่นๆ ให้หมดจากไนจีเรีย