วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ชาวไนจีเรียได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล


ดร.อูเช เวโรนิกา อะมาซิโก
(Dr.Uche  Veronica  Amazigo )


ชาวไนจีเรียได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล

เมื่อวันที่ 22  พฤศจิกายน 2555  มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์     ได้แถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  ครั้งที่ 21  ประจำปี  2555    ณ ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก  ตึกสยามมินทร์   ชั้น โรงพยาบาลศิริราชว่าที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานเมื่อวันที่ 9  พฤศจิกายน 2555 ได้พิจารณาผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2555 จำนวน 75 ราย และที่ประชุมฯ ได้มีมติตัดสินมอบรางวัลฯ ในสาขาการแพทย์ให้แก่ เซอร์ไมเคิล เดวิด รอว์ลินส์ (Sir Michael  David Rawlins)   สัญชาติอังกฤษ ในสาขาสาธารณสุขให้แก่ ดร.อูเช เวโรนิกา อะมาซิโก (Dr.Uche  Veronica  Amazigo ) สัญชาติไนจีเรีย

ดร. อูเช  เวโรนิกา  อะมาซิโก      เป็นบุคคลสำคัญที่ได้พัฒนาชุมชนกว่า  500,000 ชุมชนใน  19 ประเทศ  ของทวีปอัฟริกา  ให้มีส่วนร่วมในการให้บริการทางการสาธารณสุข โดยระหว่างดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการควบคุมโรคตาบอดจากพยาธิในทวีปอัฟ ริกา  ระหว่างปี พ.ศ.2548-2554  ได้พัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนที่สามารถกำหนดการรักษา (communiy-directed treatment)  โดยการกระจายยารักษาโรคตาบอดจากพยาธิแก่คนในชุมชน โดยอาสาสมัครในชุมชน ในเวลาที่เหมาะสม  ก่อให้เกิดผลสำเร็จในการควบคุมโรคอย่างชัดเจน และมีความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์  อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบสุขภาพในชุมชน  ส่งผลให้อุบัติการณ์ของโรคลดลงอย่างมาก  ประมาณการว่าภายในปี พ.ศ.2558 ประชากรกว่า 90 ล้านคนต่อปี จะได้รับยารักษาโรคตาบอดจากพยาธิอย่างสม่ำเสมอ และสามารถป้องกันโรคตาบอดจากพยาธิได้ปีละกว่า  40,000 ราย ความสำเร็จเหล่านี้  เกิดจากการเชื่อมโยงงานวิจัยและระบบการบริหารจัดการโดยมุ่งเน้นบทบาทของ ชุมชนเป็นสำคัญ
      
นอกจากนี้  “ชุมชนผู้กำหนด”  ยังมีผลต่อระบบการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นและการควบคุมโรคอื่นๆ ด้วย  โดยมีการประเมินว่าแนวทางการดำเนินการดังกล่าว  ส่งผลให้ประชากรกว่า  11 ล้านคนในอัฟริกา  ได้รับประโยชน์จากการควบคุมมาลาเรีย และประชากรกว่า 37 ล้านคน  ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบ การบริการสาธารณสุขด้านอื่นๆ อีกด้วย
    
ดร. อูเช  เวโรนิกา  อะมาซิโก  สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านชีววิทยาและปรสิตวิทยาทางการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย  ได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงด้านโรคเขตร้อน จากสถาบันBernhard-Nocht Institute of Tropical Medicine   สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี   และการสาธารณสุขระหว่างประเทศ  จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล   เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ   พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น      เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร  อดุลยเดชวิกรม  พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ  1 มกราคม 2535  ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์  ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวล มนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล  และด้านการสาธารณสุข  1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา  แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัลประกาศนียบัตร  และเงินรางวัล  100,000  เหรียญสหรัฐ
พิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  จะจัดขึ้นในปลายเดือนมกราคม  พ.ศ. 2556       ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท   โดยก่อนวันงานพิธีพระราชทานรางวัลฯ มีกำหนดการจะมาเยือนคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะผู้ริเริ่มรางวัลอันทรงเกียรติจะเชิญผู้รับพระราชทานรางวัลฯ      และแสดงปาฐกถา เกียรติยศ  ในผลงานที่ได้รับด้วย

ดร. อูเช  เวโรนิกา  อะมาซิโก เป็นชาวไนจีเรียคนที่สองที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ก่อนหน้านี้ ดร.อาเดโตคุนโบ โอลูโวเล ลูคัส (Dr. Adetokunbo Oluwole Lucas) เคยได้รับรางวัลสาขาสาธารณสุขร่วมกับชาวนอร์เวย์เมื่อปี 2542


วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การรณรงค์ต่อต้านโรคโปลิโอในไนจีเรีย



การรณรงค์ต่อต้านโรคโปลิโอในไนจีเรีย

เมื่อวานนี้ (26 พฤศจิกายน 2555) มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ และมูลนิธิดันโกเต้ได้เปิดแถลงข่าวที่เมืองคาโน เมืองหลวงของรัฐคาโนว่า ทั้งสองมูลนิธิจะร่วมเป็นพันธมิตรจัดทำโครงการสี่ปีเพื่อสนับสนุนด้านการเงิน อุปกรณ์และวิชาการแก่รัฐบาลรัฐคาโนในการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอภายในรัฐดังกล่าว เมืองคาโนเป็นเมืองใหญ่มีประชากรเป็นอันดับสองของไนจีเรียและเป็นเมืองที่มีโรคโปลิโอระบาดมาตั้งแต่ปี 2546

โครงการดังกล่าวเป็นผลจากการหารือระหว่างนายนายอาลิโก ดันโกเตนักธุรกิจที่มั่งคั่งที่สุดในไนจีเรีย (และในทวีปแอฟริกา) กับนายบิล เกตในระหว่างที่นายดันโกเตเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาเมื่อเร็วๆ นี้

ปัจจุบันไนจีเรียเป็นหนึ่งในสามประเทศที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรคโปลิโอ อีกสองประเทศได้แก่ปากีสถานและแอฟกานิสถาน

เมื่อเดือนธันวาคม 2553 มีรายงานว่ามูลนิธิบิลล์ และเมลินดา เกตส์ได้บริจาคเงินจำนวน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐให้แก่นักวิจัยมหาวิทยาลัยลีดส์ เพื่อพัฒนาวัคซีนต่อต้านโปลิโอชนิดใหม่

วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

บัณทิตไนจีเรียตกงาน



บัณทิตไนจีเรียตกงาน

มีสถิติบัณฑิตตกงานซึ่ง นสพ. Thisday นำมาลงพิมพ์ไว้เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555

เขาบอกว่า ทุกปี มีบัณทิตที่จบการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศหางานทำไม่ได้หรือที่เรียกว่าตกงานนั่นแหละ ประมาณ ร้อยละ 85  แล้วคนที่ไปสมัครงานไว้ตามที่ต่างๆนั้นกว่าจะมีจดหมายเรียกตัวให้ไปสอบสัมภาษณ์ได้ต้องรอไปประมาณ 1-2 ปี  และกว่าจะหางานทำได้จริงๆก็จะต้องใช้เวลาประมาณ 5-8 ปี

คนที่รับภาระจากการที่บัณฑิตตกงานคือพ่อแม่ที่อาบเหงื่อต่างน้ำส่งเสียให้ลูกได้เรียนระดับมหาวิทยาลัยแล้ว เมื่อเรียนจบมาก็ยังต้องช่วยเหลือเจือจานลูกต่อไป ทั้งที่พ่อแม่บางคนก็ไม่มีรายได้ประจำอะไรด้วยเช่นกัน

สถิติบอกอีกว่าคนไนจีเรียที่ประสบความสำเร็จ มีหน้าที่การงานดีๆทำคนหนึ่งๆ นั้นจะมีบัณฑิตตกงานมาอาศัยอยู่กินหรือพึ่งพาอยู่จำนวน 3-5 คน นี่เป็นเรื่องปกติ

สภาพที่บัณฑิตหางานทำไม่ได้เช่นนี้ทำให้ชาวไนจีเรียเริ่มไม่แน่ใจว่า ที่เคยเชื่อว่าการศึกษาจะช่วยให้คนเลื่อนชั้นในสังคมได้นั้นเป็นเรื่องจริง

สนใจสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.vanguardngr.com/2012/11/unemployment-nigeria-sitting-on-keg-of-gun-powder/

วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ความเสียหายจากมหาอุทกภัย



ความเสียหายจากมหาอุทกภัย

สำนักงานบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ ไนจีเรีย เปิดเผยว่าความเสียหายจากมหาอุทกภัยในประเทศไนจีเรียที่มีฝนตกหนักและน้ำท่วมบ่าหลายพื้นที่ทั่วประเทศระหว่างเดือนกรกฎาคม 2555 ถึงเดือนตุลาคม 2555 ประชาชนได้รับผลกระทบจำนวน 7.7 ล้านคน โดยมีผู้เสียชีวิต 363 ราย มีประชาชนต้องอพยพออกจากพื้นที่น้ำท่วมจำนวน 1.2 ล้านคน และบริษัทน้ำมันต่างได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วม ทั้งนี้สำนักงานความร่วมมือเพื่อภารกิจด้านมนุษยธรรมสหประชาชาติ แถลงว่า ได้รับโครงการเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูชาวไนจีเรียที่ได้รับความเดือดร้อนจากมหาอุทกภัยเป็นงบประมาณ 6 พันล้านไนร่า (38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ประธานาธิบดีกู้ดลัก โจนาธาน ได้จัดตั้งคณะกรรมการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกถัย เพื่อเป็นองค์กรกลางในการรับบริจาคความช่วยเหลือจากประชาชน ร้านค้า และองค์การการกุศลต่างๆ รวมทั้งเป็นหน่วยงานกลางในการประสานให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนในรัฐต่างๆ ซึ่งปรากฏว่าองค์กรดังกล่าวได้รับคำชมจากสื่อมวลชนว่าสามารถปฏิบัติภารกิจแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วรวมทั้งสามารถระดมเงินบริจาคเบื้องต้นจำนวน 2.5 พันล้านไนร่าเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน และจำนวน 150 ล้านไนร่าเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงานคณะกรรมการดังกล่าวด้วย

ปรับแก้ : 13 พฤศจิกายน 2555

พี่น้องวิลเลียมส์มาเยือนนครลากอส

 วีนัสและเซเรนาร่วมเต้นรำกับเด็กๆนักเรียนในสนามหน้าโรงเรียน
 สองพี่น้องถ่ายภาพร่วมกับเด็กนักเรียนภายหลังการสนทนา
 วีนัสสอนน้องๆ ตีลูกเทนนิส
นาย Babatunde Fashola ผู้ว่าราชการรัฐลากอส(ที่สามจากซ้าย) ต้อนรับนักเทนนิสและคุณแม่

พี่น้องวิลเลียมส์มาเยือนนครลากอส

 วีนัส วิลเลียมส์ และเซเรนา วิลเลียม สองพี่น้องนักเทนนิสระดับโลกชาวอเมริกัน พร้อมด้วยคุณแม่โอราซีน ไพร้ซ์เดินทางไปเยือนนครลากอส ประเทศไนจีเรีย ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2555

ในโอกาสดังกล่าวนักเทนนิสทั้งสองได้รับเชิญไปร่วมสอนเทนนิสแก่เด็กๆและไปเยี่ยมโรงเรียนเพื่อสนทนากับเด็กๆ ทั้งนี้ผู้ว่าราชการรัฐลากอสได้เชิญนักเทนนิสทั้งสองพร้อมด้วยมารดาเข้าพบและมอบของที่ระลึกให้ด้วย

สื่อมวลชนในไนจีเรียปลื้มกับการเยือนของนักเทนนิสทั้งสอง โดยเห็นว่าเป็นโอกาสสร้างฝันในหัวใจของเด็กๆไนจีเรีย

Standard&Poor’s และ Moody’s ปรับเลื่อนเรตติ้งไนจีเรีย



Standard&Poor’s และ Moody’s ปรับเลื่อนเรตติ้งไนจีเรีย

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ศกนี้ สถาบัน Standard&Poor’s และ Moody’s ปรับเลื่อนเรตติ้งไนจีเรีย โดย Standard&Poor’s ประกาศปรับเพิ่มเรตติ้งไนจีเรียด้านเสถียรภาพการเงินจากเดิม B+ เป็น BB- ทั้งนี้ได้ให้เครดิตกับการที่ทุนสำรองของประเทศเพิ่มขึ้น และการที่รัฐบาลแสดงความแน่วแน่ที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจ อาทิ ลดการอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า และปรับปรุงระบบธนาคารพาณิชย์

Moody’s ได้ปรับเลื่อนเรตติ้งไนจีเรีย เป็น Ba3 ด้วย

แผนกู้เงินต่างประเทศ 9.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ



แผนกู้เงินต่างประเทศ 9.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ศกนี้ ดร.โกซี โคอันโจ อิวัลลา รัฐมนตรีคลังไนจีเรียเปิดเผยต่อคณะกรรมาธิการความช่วยเหลือ เงินกู้และหนี้สาธารณะสภาผู้แทนราษฎรว่า ช่วงปี 2012-2014 รัฐบาลมีแผนที่จะกู้เงินจากต่างประเทศจำนวน 9.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  ทั้งนี้เมื่อรวมยอดเงินกู้ใหม่นี้แล้วยอดหนี้เงินกู้จากต่างประเทศรวมจะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 18.87 ของGDP เท่านั้น

รัฐบาลได้เสนอกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อใช้ในโครงการพัฒนาประเทศในปีงบประมาณ 2013 แล้วจำนวน 7.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายงบประมาณดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา ส่วนยอดเงินกู้อีกจำนวน 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น รัฐบาลจะเสนอกู้ในปีงบประมาณ 2014 

มอ’ไซด์รับจ้าง



มอไซด์รับจ้าง

กรุงอาบูจามีกฎหมายห้ามรถจักรยานยนต์หรือมอไซด์รับจ้างวิ่งบริการในพื้นที่ตัวเมือง
มอไซด์รับจ้างหรือที่ชาวไนจีเรียเรียกโอคาด้านอกจากห้ามวิ่งในตัวเมืองหลวงแล้ว รัฐอื่นบางรัฐได้แก่ ลากอส เอนุกุ อัควา-อิบอม ริฟเวอร์ และเดลต้า ก็ห้ามโอคาด้าวิ่งบริการหรือจำกัดพื้นที่ให้บริการด้วยเช่นกัน
รัฐเดลต้าซึ่งเป็นรัฐล่าสุดที่ออกกฎหมายห้ามโอคาด้าวิ่งรับส่งผู้โดยสารในตัวเมืองเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ศกนี้ โดยรัฐบาลรัฐเดลต้าได้จัดซื้อรถสามล้อเครื่องจำนวน 1,250 คัน มาให้ผู้ขับขี่โอคาด้าซื้อในราคาขายขาดทุนด้วย เพื่อช่วยเหลือให้มีอาชีพทำมาหากินได้ต่อไป และเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับประชาชนผู้ใช้บริการโอคาด้าประจำวันด้วย
สาเหตุสำคัญซึ่งทุกรัฐที่ห้ามโอคาด้าวิ่งบริการรับส่งผู้โดยสารในตัวเมืองมักใช้อ้างคือปัญหาด้านความปลอดภัย เนื่องจากมีผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้นมักปรากฏด้วยว่าโอคาด้าพัวพันกับอาชญากรรม และที่สำคัญคือผู้ใช้รถใช้ถนนทั่วไปเบื่อหน่ายกับการขับขี่รถฉวัดเฉวียนและไม่เคารพกฎจราจรของโอคาด้าส่วนมาก

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประวัติศาสตร์สังเขปของไนจีเรีย


ประวัติศาสตร์สังเขปของไนจีเรีย
ในศตวรรษที่ 18 ดินแดนที่เป็นไนจีเรียในปัจจุบันเคยเป็นศูนย์กลางของการค้าทาส และอังกฤษได้เข้ายึดเมืองท่าลากอสในเดือนสิงหาคม 2394 ต่อมาได้ขยายอิทธิพลไปยังดินแดนโดยรอบเมืองท่าลากอสและลุ่มแม่น้ำไนเจอร์จนนำไปสู่การจัดตั้งบริษัท Royal Niger Company ซึ่งมีการจัดการทางการเมืองของตนเอง จนถึงวันที่ 1 มกราคม 2443 บริษัทฯ จึงได้โอนดินแดนให้อยู่ในการปกครองของอังกฤษและได้จัดตั้งอาณานิคมและรัฐในอารักขาแห่งไนจีเรียเมื่อปี 2457

สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2503 และได้เป็นสาธารณรัฐเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2506 หลังจากนั้น ได้มีรัฐประหารเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2509 และเกิดความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและภูมิภาค เนื่องจากชนเผ่า Hausa ทางเหนือเกรงว่าจะถูกครอบงำโดยชนเผ่า Igbo ทางตะวันออกของประเทศ ภูมิภาคตะวันออกจึงตัดสินใจถอนตัวและจัดตั้งเป็นสาธารณรัฐแห่งไบอาฟรา (Republic of Biafra) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2510 นับเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองนองเลือดที่ยืดเยื้อ เพราะการแทรกแซงจากต่างประเทศและภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง ในที่สุด เมื่อปี 2513 สาธารณรัฐแห่งไบอาฟราก็พ่ายแพ้

ต่อมามีความพยายามหลายครั้งที่จะให้มีการปกครองโดยพลเรือน แต่ฝ่ายทหารขัดขวาง หลังจากที่นาย Ken Saro-wiwa ผู้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนของรัฐ Ogoni และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของประชาชน  อีก 7 คน ถูกประหารชีวิตเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2538 ไนจีเรียก็ถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศเครือจักรภพเป็นการชั่วคราว พลเอก Sani Abacha ซึ่งขึ้นเป็นผู้นำของไนจีเรียตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2536 ได้ให้คำมั่นว่าจะจัดให้มีการถ่ายโอนอำนาจการปกครองให้กับรัฐบาลพลเรือน ซึ่งจะมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในเดือนตุลาคม 2541 แต่พลเอก Abacha ถึงแก่อนิจกรรมก่อน เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2541 ด้วยโรคหัวใจวาย คณะรัฐมนตรีปกครองชั่วคราว (Provisional Ruling Council) จึงได้เลือกพลเอก Abdulsalam Abubakar เสนาธิการทหารเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี แทนพลเอก Abacha

พลเอก Abubakar ตระหนักถึงสถานการณ์ของรัฐบาลทหารที่ถูกต่อต้านจากประชาชนและนานาชาติ จึงมีท่าทีผ่อนปรนและประนีประนอมมากขึ้น โดยได้ปล่อยนักโทษการเมือง ซึ่งหนึ่งในนักโทษการเมืองคนสำคัญที่ได้รับการปล่อยตัวคือ พลเอก Olusegun Obasanjo จากนั้น พลเอก Abubakar ได้ให้สัญญาว่าจะลาออกและคืนอำนาจให้ประชาชน โดยได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2542 ซึ่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนั้นปรากฏว่า พลเอก Olusegun Obasanjo หัวหน้าพรรค People’s Democratic Party (PDP) ได้รับชัยชนะด้วยคะแนนท่วมท้น รวมทั้งพรรค PDP ก็ได้รับเสียงข้างมากในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร และได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2542 นับเป็นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกในรอบ 15 ปี และเป็นครั้งแรกที่ไนจีเรียสามารถเปลี่ยนการปกครองจากรัฐบาลทหารสู่รัฐบาลพลเรือนด้วยวิธีเลือกตั้งทั่วไปได้สำเร็จ และได้กลับเข้าเป็นประเทศสมาชิกของกลุ่มประเทศเครือจักรภพอีกครั้ง

ที่มา: เว็บไซต์กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ http://sameaf.mfa.go.th/th/country/africa/detail.php?ID=74