วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับประเทศไนจีเรีย


ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับประเทศไนจีเรีย

สภาพภูมิศาสตร์:    ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกาทิศเหนือติดกับสาธารณรัฐไนเจอร์ ทิศใต้ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก บริเวณอ่าวกินี ทิศตะวันออกติดกับสาธารณรัฐแคเมอรูนและสาธารณรัฐชาด ทิศตะวันตกติดกับสาธารณรัฐเบนิน
สภาพภูมิอากาศ :   อยู่ในเขตร้อน สภาพอากาศร้อนชื้น มี 2 ฤดู  คือฤดูฝนระหว่างเดือน พ.ค. พ.ย.
และฤดูร้อนระหว่างเดือนธ.ค. เม.ย. ช่วงนี้จะมีลงเหนือพัดเอาฝุ่นละอองมาจากทะเลทรายซาฮาราเรียกว่าฮามาตัน (Hamatan) ปกคลุมท้องฟ้าทั่วไป
พื้นที่ :               923,769 ตารางกิโลเมตร
                       เมืองหลวง :        กรุงอาบูจา
เมืองสำคัญอื่นๆ : นครลากอส (เมืองหลวงเก่า) คาโน อิบาดัน พอร์ตฮาร์คอร์ต อิดานา
ภาษา :              ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ภาษาพื้นเมืองที่สำคัญได้แก่ ภาษาเฮาซา โยรุบา อิกโบ และฟุรานี (ไนจีเรียมีภาษาพูดมากกว่า 500 ภาษา)
ประชากร :         ประมาณ 162 ล้านคน (ธ.โลกปี 2554)
ศาสนา :            อิสลามร้อยละ 50 คริสต์ร้อยละ 40 และความเชื่อดั้งเดิมร้อยละ 10
สกุลเงิน :           ไนร่า (Naira) โดย 1 บาทประมาณ 5.05 ไนร่า

รูปแบบการปกครอง : แบบสาธารณรัฐประกอบด้วยฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงและอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี ไม่เกิน 2 สมัย
โครงสร้างเศรษฐกิจ : จีดีพี  273.042 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ      ประกอบด้วยภาคภาคเหมืองแร่ ร้อยละ 45 (โดยมีสัดส่วนการส่งออก(น้ำมัน)ร้อยละ 95) ภาคเกษตรกรรมร้อยละ  26 ภาคบริการร้อยละ 24 และภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 5
ระบบการศึกษา : ระดับประถมศึกษา 6 ปี มัธยมศึกษา 6 ปี
  ระดับมหาวิทยาลัย 4 ปี (ปริญญาตรี) หรือเรียนอาชีวศึกษา (Ordinary National Diploma) และอีก 2 ปีได้รับ Higher National Diploma (เทียบเท่าปริญญาตรี)ระดับปริญญาโท (Master Degree) หลักสูตร 1 ปี 6 เดือน
 ระดับปริญญาเอก (Ph.D.) หลักสูตร 4 ปี
ธนาคาร :           เปิดทำการวันจันทร์ ศุกร์ ระหว่าง 08.00 –  16.30 น.
โทรศัพท์ :          ระบบ GSM และ CDMA มีโทรศัพท์บ้านและสำนักงาน โทรศัพท์มือถือต้องซื้อบัตร ส่วนโทรศัพท์สาธารณะมีจำนวนน้อย
โทรศัพท์ระหว่างประเทศจากไนจีเรีย 009
รหัสประเทศ 234
รหัสกรุงอาบูจา 09
ระบบขนส่งมวลชน : มีรถบัสให้บริการระหว่างเมืองต่างๆ มีรถแท็กซี่ให้บริการบริเวณตัวเมือง
รวมทั้งมีรถแท็กซี่ให้บริการจากท่าอากาศยาน เอ็นนัมดี อาซิกิเว ไปยังตัวเมืองกรุงอาบูจาใช้เวลาประมาณ 40 นาที  ( 36 กม.) ราคาค่าบริการประมาณ 3,000-4000 ไนร่า
การขับขี่รถยนต์ : ใช้พวงมาลัยซ้าย
สาธารณูปโภค : น้ำประปายังไม่สะอาดตามมาตรฐานสากลไฟฟ้าดับทุกวัน ถนนเชื่อมระหว่างเมืองต่างๆค่อนข้างขรุขระ
ระบบสื่อสาร : เครือข่ายโทรศัพท์ยังใช้การไม่ได้ดี สัญญาณอินเตอร์เนตค่อนข้างช้า
การเข้าเมือง : ชาวไทยต้องยื่นขอรับวีซ่าตามวัตถุประสงค์ อาทิ เพื่อการท่องเที่ยว หรือทำงาน ก่อนที่จะเดินทางไปไนจีเรีย โดยสามารถติดต่อได้ที่สอท.ไนจีเรีย (ที่อยู่ 412 สุขุมวิท 71 แขวงพระโขนง เขตวัฒนา กทม. 10110 โทร. 02 711 3076-8; 02 711 3547 แฟ็กซ์ 02 392 6398 วันจันทร์ ศุกร์ ระหว่างเวลา 10.00 – 12.00 น.)

ที่มา : จากเอกสารสาระน่ารู้ก่อนเดินทาง จากเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ http://www.mfa.go.th และ http://www.consular.go.th

วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วันนี้ทำอะไรกินดี


วันนี้ทำอะไรกินดี

อาหารที่เตรียมไว้ตามที่เห็นนั้นจะทำสองอย่าง คือแกงจืดหัวผักกาด และกุ้งผัดพริกไทยดำ ที่บ้านซื้อผักสดจากร้านดูน ซุปเปอร์มาร์เก็ต ส่วนกุ้งนั้นเป็นกุ้งแช่แข็งซื้อจากร้านฟิชช็อบ ซึ่งเป็นร้านขายอาหารทะเลแช่แข็งโดยเฉพาะ ร้านนี้มีแต่ฟรีซเซอร์ใส่กุ้งหมึก ปู ปลา ไม่มีชั้นวางสินค้าอื่น

ปัญหาของผักสดที่เมืองนี้คือนอกจากราคาแพงมากแล้วยังมักเป็นสินค้ามีตำหนิ เกิดจากการโยนในขั้นตอนการขนส่งและการจัดวางสินค้าทำให้ช้ำบ้าง เกิดจากการไม่คัดเลือกผักบ้าง อย่างหัวผักกาดนั้นวันดีคืนร้ายก็จะไปได้หัวผักกาดที่มีเสี้ยนทั้งหัว ต้นหอมนั้นแน่นอนว่า ซื้อมาแล้วก็ต้องมาล้าง มาคัด เลือกใช้และเลือกทิ้ง แคร๊อตนั้นวันที่ซื้อได้แคร๊อตสดๆจับแล้วตึงเหมือนพึ่งเก็บมาใหม่ๆ ก็จะเป็นวันที่โชคดี ขิงที่วางขายก็เป็นขิงแก่เสียมาก ไม่เคยเจอร์ขิงอ่อนหัวใหญ่ๆ

ที่บ้านทานหนักไปทางเนื้อไก่ อาหารทะเล อาทิ  กุ้ง หมึก ปลา (ซื้อเนื้อปลาชำแหละแล้วแช่แข็งนำมาเก็บไว้ในตู้เย็น) และผักซ้ำๆ ที่วางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ต เพียงแต่นำมาดัดแปลงว่าจะทำอะไรทาน เมนูอาหารที่ดาวน์โหลดจากเว็บบล็อกจึงเป็นประโยชน์ ช่วยให้การทำอาหารทานสนุกยิ่งขึ้น

ผมชอบทำอาหาร ทำไม่เก่งนะ แต่ชอบทำ

ปรับแก้ : 13 พฤศจิกายน 2555

วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2555

มหาอุทกภัยที่ไนจีเรีย


มหาอุทกภัยที่ไนจีเรีย

อันที่จริง ไนจีเรียประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี ที่เป็นเช่นนี้ เนื่่องจากไนจีเรียมีฝนตกชุกในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม - กันยายน แต่ปีนี้ฝนตกที่ไนจีเรียมากกว่าปกติโดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายน 2555 เป็นต้นมา กล่าวคือหากจะดูสถิติปริมาณน้ำฝนในปีนี้เทียบกับปีที่ผ่านๆมาแล้ว ต้องย้อนไปถึงสี่สิบปีจึงจะพบปริมาณน้ำฝนขนาดนี้ พูดภาษาหนังสือพิมพ์ก็ต้องว่าฝนปีนี้เป็นฝนสี่สิบปีตกครั้งนึง

สภากาชาดไนจีเรียรายงานว่า น้ำท่วมปีนี้มีประชาชนต้องอพยพออกจากถิ่นอาศัยกลายเป็นคนไม่มีบ้านจะอยู่แล้ว 120,000 คน  และมีคนอีกหลายพันที่ย้ายเข้าไปอยู่ตามค่ายที่พักชั่วคราวแล้วยังไม่พ้นน้ำต้องอพยพหนีน้ำต่อไปอีก

นอกจากน้ำท่วมจะทำลายชีวิตชาวบ้านและบ้านเรือนแล้ว ยังทำลายพืชผลการเกษตรตามท้องนาท้องไร ่่และทำลายถนนหนทางซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมไปด้วย องค์การสหประชาชาติรายงานว่าเกษตรกรไนจีเรียจำนวนหลายรายหมดเนื้อหมดตัวไปกับน้ำท่วมในครั้งนี้ สื่อหนังสือพิมพ์ไนจีเรียจึงรายงานแสดงความวิตกว่าบ้านเมืองจะประสบภาวะขาดแคลนอาหารหลังน้ำท่วม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเกรงชาวบ้านจะตื่นตกใจจึงออกมาแถลงแล้วว่า ทางการได้เตรียมเมล็ดพันธุ์พืชไว้ให้เกษตรกรปลูกทดแทนเมื่อน้ำลดลงแล้ว แต่สื่อก็ยังรายงานต่อไปอีกว่าขณะนี้อาหารในท้องตลาดราคาแพง และสินค้าจำเป็นอาทิ น้ำมันก๊าดขาดแคลนแล้ว

ประธานาธิบดีกู๊ดลัก โจนาธานแถลงเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ศกนี้ว่า รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 17.6 พันล้านไนร่าเพื่อช่วยเหลือรัฐและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในปีนี้ และรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยเพื่อรับผิดชอบงานนี้โดยตรงแล้ว ทันทีที่ประธานาธิบดีแถลงข่าวไป ก็มีสื่อรายงานว่า มีชาวบ้านที่เดือดร้อนจากน้ำท่วมออกมาประกาศว่าความช่วยเหลือของรัฐบาลต้องเป็นเงินสดเท่านั้น จึงจะเอา

วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2555

คนไทยร่วมออกร้านงานแชริตี้ บาซาร์

ท่านทูตสมชาย เภาเจริญและภริยานำทีมคนไทยมาออกร้านในงานแชริตี้ บาซาร์

คุณสมสวยฯ หนึ่งในคนไทยที่ทำอาหารมาวางขาย

คุณณัฐ จากร้าน"สวัสดี" นำแกงเขียวหวานไก่ ข้าวสวย และสปริงโรลมา

 ท่านทูตสมชายฯ ร่วมรับแขกที่แวะมาซื้อของชำร่วยที่ซุ้มไทย

ขนมไทยและของชำร่วยที่ซุ้มไทย

คนไทยร่วมออกร้านงานแชริตี้ บาซาร์

เมื่อวันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม 2555 ท่านเอกอัครราชทูตสมชาย เภาเจริญและภริยาได้นำครอบครัวข้าราชการและสมาคมคนไทยในอาบูจาเข้าร่วมขายอาหารในงานแชริตี้ บาซาร์ซึ่งจัดโดยสมาคมคู่สมรสหัวหน้าสำนักงานและสถานเอกอัครราชทูต(Association of Spouses of Heads of Missions : ASOHOM)ในกรุงอาบูจา

กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์หาทุนเพื่อบริจาคช่วยเหลือโครงการสังคมสงเคราะห์ในประเทศไนจีเรีย ซึ่ง ASOHOM กรุงอาบูจาจัดเป็นประจำทุกปี และในปีนี้คุณทัศนี เภาเจริญ ภริยาท่านเอกอัครราชทูตซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานกับสมาคม ASOHOM ที่นครโฮจิมินห์มาก่อนได้เข้าร่วมเป็นกรรมการดำเนินงานของสมาคม ASOHOM ิอาบูจาด้วย

อยากกินผัดไทยมะ



อยากกินผัดไทยมะ

ใครที่อ่านเรื่อง"ที่สนามบิน" อาจพอทราบว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวและเส้นสปาเก็ตตี้เป็นของห้ามนำเข้า ซึ่งความจริงก็ไม่ต้องนำติดตัวมาให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรปรับดอกครับ เพราะที่นี่มีเส้นก๋วยเตี๋ยวจากเมืองไทยวางขายที่ร้านพาร์กแอนด์ซ็อป และไม่ได้มีแต่เส้นอย่างเดียว ยังมีน้ำปรุงรสสำหรับใส่ผัดไทยให้มีรสชาติเป็นแบบที่กินที่เมืองไทยอีกด้วย

ผัดไทยสำเร็จนี้ปรุงง่าย ใช้เวลาแค่สิบห้านาทีก็ได้ทานแล้ว ข้างกล่องก๋วยเตี๋ยวเขาพิมพ์วิธีทำผัดไทยไว้ชัดเจน หนึ่งทำไง สองทำไง สามทำไง จะเติมน้ำผัดไทยตอนไหน บอกไว้หมด

โวเล โชยินก้า นักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมคนแรกของแอฟริกา



โวเล โชยินก้า นักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมคนแรกของแอฟริกา

โวเล โชยินก้าเป็นนักเขียนไนจีเรียที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อปี 1986 ชื่อทางการของท่านคือ  Akinwande Oluwole Soyinka เป็นคนพื้นเพเมืองอาเบโอคูต้า รัฐโอกุน เกิดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 1934 สมัยที่ไนจีเรียยังเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร บิดาเป็นนักบวชและเป็นครูใหญ่โรงเรียนเซ็นต์ปีเตอร์  คุณตาของโวเลก็เป็นนักบวชเช่นกัน โวเลเป็นบุตรคนที่สี่ในจำนวนี่น้องหกคน

โวเลเป็นคนเรียนหนังสือเก่งมาแต่เด็กๆ และมีความสามารถในการเขียนตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน และเรียนจบปริญญาตรี-โท สาขาวรรณคดีอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยลีดส์ สหราชอาณาจักร และด้วยผลงานดีเด่นมหาวิทยาลัยได้มอบปริญญากุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้ในเวลาต่อมาด้วย

นอกจากงานเขียนบทละคร กวีนิพนธ์ และนวนิยายแล้ว โวเลยังเป็นที่รู้จักในฐานะเป็นนักเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมืองคนหนึ่ง  

ปัจจุบันโวเลยังมีชีวิตอยู่ และเป็นตำนานของบ้านเมือง 

ผู้ที่สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://www.nobelprize.org/nobel_prizes/literature/laureates/1986/

วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สถิติประชากรไนจีเรีย



สถิติประชากรไนจีเรีย

เรื่องน่าปวดหัวสำหรับคนทำงานที่ไนจีเรียคือการที่ต้องไปติดตามสืบหาข้อมูลสถิติต่างๆในประเทศนี้ เพราะสถิติที่ได้มาอาจไม่ตรงกันแล้วแต่ว่าไปเอามาจากไหน

อย่างสถิติจำนวนประชากรนั้น หากจะยึดตามสถิติที่ธนาคารโลกใช้อยู่ก็ตัวเลขหนึ่ง หากจะยึดตามที่สื่อมวลชนรายงานว่ารัฐมนตรีมักใช้อ้างอิงก็อีกตัวเลขหนึ่ง แต่หากต้องการสถิติที่จะใช้อ้างได้หลายเรื่องต้องไปใช้สถิติจาก Country Report ของ Economist Intelligence Unit เพราะสำนักนี้เขาอ้างตัวเลขไปใช้ครบวงจร โดยตัวเลขประชากรนั้นสำนักแห่งนี้เขาอ้างตัวเลขประมาณการเมื่อกลางปี 2012 ของสำนักงานสำรวจจำนวนประชากรสหรัฐอเมริกา ซึ่งระบุว่าไนจีเรียมีประชากรจำนวน 170.1 ล้านคน

ธนาคารโลกนั้นระบุตัวเลขประชากรไนจีเรียปี 2011 ว่ามีจำนวน 162, 470, 737 คน

เครดิตภาพ: จากเว็บไซต์ http://www.populationlabs.com/Nigeria_Population.asp

เปิดบัญชีธนาคารที่อาบูจา

ธนาคารกลางไนจีเรีย

เปิดบัญชีธนาคารที่อาบูจา

ที่ไนจีเรียการเดินเข้าธนาคารไม่ได้เป็นเรื่องใครใคร่เข้าก็เข้าได้ ต้องผ่านการตรวจของพนักงานรักษาความปลอดภัยก่อน ใครไม่คุ้นอาจรู้สึกว่าบ้านเมืองนี้ไม่ปลอดภัย แต่หากคุ้นแล้วก็จะรู้สึกว่าธนาคารก็เหมือนที่ไหนๆ ที่การรักษาความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นสำหรับที่นี่ เพราะห้างร้านต่างๆ ใครก็ทำกัน

เมื่อทราบเช่นนี้ก็จะได้ไม่แปลกใจที่การไปเปิดบัญชีที่ธนาคารจะต้องแสดงเอกสารต่อไปนี้
1. รูปขนาดติดหนังสือเดินทาง       2 ใบ
2. บัตรประจำตัวหรือหนังสือเดินทางพร้อมสำเนา
3. บัตรประจำตัวคนต่างด้าวหรือใบอนุญาตให้พำนักในประเทศพร้อมสำเนา
4. หนังสือแนะนำตัวจากบริษัทนายจ้าง
5. หนังสือรับรองจากลูกค้าปัจจุบันของธนาคาร
6. สัญญาเช่าบ้านหรือใบแจ้งหนี้ค่าขนขยะ (เพื่อยืนยันการมีถิ่นพำนักตามที่แจ้ง)

ธนาคารที่นี่ไม่มีสมุดคู่ฝาก แต่จะแจ้งยอดเงินในบัญชีผ่านทางอินเตอร์เนต ทั้งนี้ลูกค้าต้องรักษาเลขบัญชีเป็นความลับ เพราะไม่เช่นนั้นอาจถูกมิจฉาชีพนำไปใช้ประโยชน์โดยมิชอบได้

วันจันทร์-พฤหัสบดี ธนาคารเปิดทำการ 08.00 - 15.00 น. วันศุกร์เปิดทำการ 08.00 - 13.00 น. หยุดวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ

แกงเผ็ดที่อาบูจา

แกงเผ็ดกระป๋อง

แกงเผ็ดที่อาบูจา

อยู่ที่อาบูจาก็ทำอาหารไทยทานได้ง่ายๆ อย่างแกงเผ็ดกระป๋องนี้มีน้ำแกงรสดี และฟักทองอยู่ข้างใน เอามาเทใส่หม้อแกง เติมเนื้ออะไรที่อยากทานแล้วอุ่นบนเตา สักครู่ก็ได้แกงอร่อยทานกับข้าวสวยร้อนๆ หอมตลบไปทั้งห้อง 

ราคาที่ตั้งใจให้เห็นนั้นเป็นราคาไนร่า อยากทราบราคาไทยก็หารด้วย 5 

นอกจากแกงเผ็ดที่รสชาตินุ่มนวลแบบนี้แล้วยังมีแกงมัสหมั่นกระป๋องอีกด้วย ทานง่าย เพียงเปิดกระป๋องแล้วเติมเนื้อที่อยากเติมลงไป ตั้งเตาสักครู่ก็ได้อาหารอร่อยทานแล้ว 

อาหารสำเร็จรูปยี่ห้อนี้มีหลายหลากให้ซื้อหา รวมไปถึงเครื่องแกง และน้ำปลา

วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

อีก 10 ปี ไนจีเรียจะเป็นผู้ส่งออกโกโก้อันดับหนึ่งของโลก




อีก 10 ปี ไนจีเรียจะเป็นผู้ส่งออกโกโก้อันดับหนึ่งของโลก

รัฐบาลของประธานาธิบดีกู๊ดลัก โจนาธานประกาศโครงการปรับปรุงผลผลิตโกโก้ (Cocoa Transformation Agenda) โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มผลผลิตโกโก้ไนจีเรียโดยตั้งเป้าหมายว่า โครงการดังกล่าวจะสร้างงานใหม่ในภาคเกษตรกรรมจำนวน 365,000 ตำแหน่งงาน และสร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้น

โกโก้เป็นพืชเศรษฐกิจที่นำเงินตราเข้าประเทศไนจีเรียโดยเมื่อปี 2010 ไนจีเรียผลิตโกโก้ได้ 427,800 ตัน เป็นอันดับสี่ของโลก รองจากกานา ผลิตได้ 632,037 ตัน อินโดนีเซีย ผลิตได้ 810,100 ตัน และโกตดิวัวร์ ซึ่งผลิตได้ 1,242,100 ล้านตัน

ตามแผนเพิ่มผลผลิตรัฐบาลไนจีเรียมีเป้าหมายที่จะผลิตโกโก้ให้ได้จำนวน 500,000 ตันในปี 2015 และจำนวน 1,000,000 ตันในปี 2018 โดยมีมาตรการส่งเสริมเกษตรกรดังนี้

1.      แจกต้นกล้าลูกผสมสายพันธุ์ดี 8 สายพันธุ์ ซึ่งให้ผลดกกว่าสายพันธุ์เดิม 5 เท่า (2,000 กิโลกรัม/ เฮกตาร์)และปลูกเพียง 2 ปีก็สามารถออกผลให้เก็บเกี่ยวได้ เพื่อให้เกษตรกรปลูกทดแทนต้นโกโก้พันธุ์เดิมซึ่งให้ผลผลิตน้อย (450 กิโลกรัม/ เฮกตาร์) และต้องใช้เวลา 4-5 ปีกว่าจะให้ผล ปัจจุบันรัฐบาลได้แจกจ่ายเมล็ดพันธ์สายพันธ์ใหม่ให้เกษตรกรโดยไม่คิดมูลค่าไปแล้วจำนวน 114 ล้านเมล็ด (ประมาณ 3.6 ล้านฝัก)

2.      ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เกษตรกร

2.1  บริษัท MARS Incorporated ผู้ผลิตซ็อกโกเล็ตรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งให้การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทไนจีเรียจำนวน 4 คน เกี่ยวกับเทคนิกการปรับปรุงพันธุ์โกโก้ในอินโดนีเซีย โดยบุคลากรดังกล่าวจะนำความรู้ไปปรับปรุงสายพันธุ์โกโก้นำร่องในนิคมโอดา โกโก้ เอสเตทที่เมืองอาคูเร รัฐออนโด และนิคมอิคอม โกโก้ เอสเตท ในรัฐครอสริเวอร์ ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกรวม 200,000 เฮกตาร์

2.2  รัฐบาลไนจีเรียร่วมกับมูลนิธิเวิล์ด โกโก้จัดทำโครงการฝึกอบรมเทคนิกสมัยใหม่ในการเพิ่มผลผลิตแก่เกษตรกรชาวสวนโกโก้ไนจีเรียตามแผนระยะเวลา 3 ปีโดยมีเป้าหมายที่จะอบรมเกษตรกรจำนวน 100,000 รายและภายในปี 2018 การเพิ่มผลผลิตจะพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น

3.      การควบคุมมาตรฐานผลผลิต
ทางการไนจีเรียกำลังยกร่างมาตรการในการควบคุมคุณภาพและส่งเสริมแบนด์สินค้า โดยจะห้ามการใช้ยาฆ่าแมลงที่มีสารตกค้างเกินมาตรฐาน โดยขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ประกาศรายชื่อเคมีภัณฑ์การเกษตรที่อนุญาตให้ใช้ในสวนโกโก้แล้วดังนี้
-          Funguran OH; Ridomil Gold Plus 66WP และ Champ DP สำหรับกำจัดเชื้อรา
-          Actara 25WG สำหรับฆ่าแมลง

4.      จัดตั้งกลไกส่งเสริมการตลาดและการลงทุน

4.1  จัดตั้งบรรษัท Cocoa Marketing and Trade Development Corporation (CMTC) เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมการตลาด และเพิ่มมูลค่าสินค้าภายในประเทศ

4.2  จัดตั้ง กองทุน Cocoa Investment Fund เพื่อส่งเสริมการลงทุนทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับหวงโซ่มูลค่าของโกโก้

ผู้บริหารมูลนิธิโกโก้โลก (World Cocoa Foundation: WCF) ประเมินว่า หากรัฐบาลไนจีเรียดำเนินนโยบายเพิ่มผลผลิตในระดับนี้ไปเรื่อยๆ ในปี 2010 ไนจีเรียจะเป็นประเทศผู้ผลิตโกโก้อันดับหนึ่งของโลก