วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ดูน เซ็นเตอร์

อาคารดูน เซ็นเตอร์

อาคารดูน เซ็นเตอร์

อาคารดูน เซ็นเตอร์ตั้งอยู่ที่เลขที่ 44 อากุยยิ อิรอนซี เวย์ ตำบลไมตามา กรุงอาบูจา ด้านหน้าเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ต ขายสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งอาหารและเครื่องใช้ในบ้าน อุปกรณ์ของใช้ในครัวหลากหลาย ด้านหลังเป็นอพาร์เม้นต์ราคาแพง มีทั้งห้องแบบสติวดิโอ ห้องสองห้องนอน และห้องสามห้องนอน จัดบริการเป็นแบบเซอร์วิส อพาร์ตเม้นต์ของบ้านเรา

อพาร์ตเม้นต์เซอร์วิสแบบนี้สะดวกสำหรับผู้ที่เดินทางมาพำนักชั่วคราวในกรุงอาบูจา เพราะมีร้านอาหารอย่างดีอยู่ที่ชั้นห้าไว้บริการ และในซุปเปอร์มาร์เก็ตก็มีร้านกาแฟ ร้านขนมเค็ก ร้านอาหาร ร้านไก่ย่างแบบไก่ย่างห้าดาวบ้านเราไว้บริการ รวมทั้งมีร้านเบเกอรี่ที่ทำขนมสดจากเตาหลากหลายชนิดไว้บริการอีกด้วย ส่วนน้ำและเครื่องดื่มมีให้เลือกตามสะดวกเช่นกัน หรือหากต้องการทำครัวก็สามารถซื้อหาของสดจากซุปเปอร์มาร์เก็ตขึ้นไปทำกินในห้องได้

ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่นี่เหมาะสำหรับลูกค้ามุสลิมเพราะไม่วางเนื้อหมูขาย มีแต่เนื้อไก่ ปลา แพะ แกะ และเนื้อวัว นอกจากนั้นยังมีอาหารทะเลแช่แข็งขายอีกด้วย 

การเข้าและออกพื้นที่ต้องผ่านยามรักษาความปลอดภัย ตอนเย็นจะมีแขกมาใช้บริการร้านอาหารและซื้ออาหารจากซุปเปอร์มาร์เก็ตกันหนาแน่น แต่ยามก็จะตรวจรถทุกคันโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หากสถานที่จอดรถด้านในเต็มยามจะบอกให้จอดรถด้านนอกริมถนน

ซุปเปอร์มาร์เก็ตเปิดเวลา 09.00 - 22.00 น. ทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์เปิดเวลา 11.00 น. และปิดเวลา 22.00 น.วันที่ลูกค้ามากที่สุดคือวันศุกร์และวันเสาร์ทุกสัปดาห์ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมเว็บไซต์ทางการของอาคารดูน เซ็นเตอร์ได้ที่ http://www.dunescenter.com/products/ 

แท็กซี่ที่อาบูจา

แท็กซี่ที่อาบูจา

รถโดยสารรับจ้างทั่วไปหรือรถแท็กซี่ในกรุงอาบูจาเป็นรถสีเขียวแถบขาวอย่างที่เห็นนี้ บางคันไม่มีแถบขาว บางคันประตูหลังและหลังคาเป็นสีส้ม หรือสีขาว แต่แท็กซี่ทุกคันต้องมีเลขจดทะเบียนพ่นไว้ตัวโตๆ เหนือกันชนด้านหลัง อย่างไรก็ตามนอกจากแท็กซี่จดทะเบียนแล้วยังมีคนนำรถส่วนตัวมาวิ่งหากินเป็นรถแท็กซี่ด้วยเช่นกัน รถพวกนี้ส่วนใหญ่จะมีสีเทา สีแดง   ตามถนนทั่วไปจะหารถแท็กซี่ไม่ยาก เพราะแท็กซี่จะวิ่งหาผู้โดยสารอยู่ตลอดเวลา และหากพบว่ามีคนเดินอยู่ข้างถนน หรือยืนอยู่ริมถนนก็จะกดแตรเรียก หากสนใจที่จะใช้บริการก็โบกให้รถเข้ามาจอดได้ การขึ้นรถแท็กซี่ควรต้องตกลงราคากับคนขับก่อน เพื่อไม่ให้มีปัญหา

แท็กซี่บางคันแม้ว่าจะรับผู้โดยสารแล้ว แต่หากมีผู้โดยสารเรียกอีกก็จะหยุดรับหากเห็นว่าจะเดินทางไปทางเดียวกัน ดังนั้น ก่อนจะขึ้นแท็กซี่ หากไม่อยากให้รับผู้โดยสารอื่นให้บอกว่า drop แล้วถามว่าไปที่นั่นที่นี่ราคาเท่าไหร่ซึ่งค่าโดยสารจะคิดตามระยะทาง แต่หากท่านคิดว่าไม่เป็นไรรับผู้โดยสารกลางทางก็ได้ เวลาเรียกแท็กซี่ก็บอกว่า along แล้วจึงบอกว่าจะไปไหนคิดเท่าไหร่ แบบนี้ค่าโดยสารจะถูกประมาณแค่ 50 ไนราเท่านั้น

ตลาดเกษตรกร

 ตลาดเกษตรกรตั้งอยู่ริมถนนใหญ่มีที่จอดรถให้ด้วย
ที่นี่นิยมขายสินค้าเป็นกระจาดหรือตะกร้า แต่หากอยากเลือกแล้วชั่งกิโลก็ขายให้เช่นกัน
 ผักกาดหอม มันฝรั่ง หัวหอม ข้าว วางขายแบบนี้
ที่แผงเดียวกันยังมีผักอีกหลายหลากอย่างที่เห็น ขายไม่แพง และต่อราคาได้

ตลาดเกษตรกร

ตลาดเกษตรกรในกรุงอาบูจาเป็นตลาดขายสินค้าเกษตรจากไร่แบบเดียวกับตลาด อตก. ของบ้านเรา โดยองค์การบริหารนครหลวงเป็นผู้บริหาร สินค้าที่นี่สด สะอาด ราคาไม่แพง และต่อราคากันได้ ปกติเจ้าของจะไม่เข้ามาจุกจิกกับลูกค้า จะปล่อยให้เลือกให้พอใจ แล้วเอาถุงมารับของไปชั่งกิโลให้ หรือเอาไปวางรอคิดเงิน หากซื้อกันเป็นตะกร้าหรือเป็นกระจาด


วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555


ประวัติ ดร. โกซี โอคุนโจ อิวาลลา (Dr. Ngozi Okonjo Iweala)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไนจีเรีย

เกิด                   13 มิถุนายน 1954
สถานที่เกิด        เมืองโอกวาชิ  อูคุ  รัฐเดลต้า
สมรส                สมรสแล้วกับ น.พ. อิเคมบา อิวาลลา มีบุตร ธิดา 4 คน

การศึกษา          มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (1977) และปริญญาดุษฎีบัณฑิตด้านเศรษฐกิจภูมิภาคและการพัฒนาจากสถาบันทคโนโลยีแมสซาชุเซต (1981) สหรัฐอเมริกา

อาชีพ   
1989-91           ผู้ช่วยพิเศษรองประธานอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการ ธนาคารโลก
1995-97           ผู้อำนวยการสำนักงานยุทธศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงสถาบัน ธนาคารโลก
1997 – 2000    ผู้อำนวยการประเทศ ธนาคารโลก รับผิดชอบประเทศมาเลเซีย มองโกเลีย ลาว และกัมพูชา
2000 – 2003    รองประธานรับผิดชอบภูมิภาคตะวันออกกลาง
2003 – 2006    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังประเทศไนจีเรีย
มิ.ย. ส.ค. 2006           รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไนจีเรีย
2007 -  ก.ค. 2011         ผู้อำนวยการบริหาร ธนาคารโลก รับผิดชอบภูมิภาคแอฟริกา เอเชียใต้ ยุโรป และเอเชียกลาง
ก.ค. 2011- ปัจจุบัน        รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังประเทศไนจีเรีย

เกียรติประวัติ
2006                นิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยบราวน์
2005                รางวัล Global Finance Minister of the Year  จาก Euromoney Magazine
2004                รางวัล Hero of the Year จากนิตยสาร European Time Magazine จากผลงานการปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศไนจีเรีย

ฤดูกาลที่อาบูจา

 สุดสายตาที่ตำบลไมตามา กรุงอาบูจาในฤดูฝน

ฤดูกาลที่อาบูจา


อากาศที่อาบูจามี 2 ฤดู คือฤดูฝน และฤดูร้อน ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน ตุลาคม โดยระหว่างฤดูฝนอุณหภูมิในเวลากลางวันประมาณ 28 – 30 องศาเซลเซียสและเวลากลางคืนประมาณ 22 - 23 องศาเซลเซียส ส่วนฤดูร้อน อุณหภูมิระหว่างเวลากลางวันประมาณ 30 - 40 องศาเซลเซียส แต่เวลากลางคืนอุณหภูมิจะลดลงเหลือประมาณ 12 องศาเซลเซียส ดังนั้นในฤดูร้อนตกเย็นลงอากาศก็เริ่มเย็น


ช่วงฤดูฝนมีฝนตกทุกวัน ไม่ตกเช้าก็ตกบ่าย ไม่บ่ายก็ค่ำ ช่วงเช้ามีหมอกลงทั่วไป อากาศเย็นสบายแต่พอตกบ่าย ประมาณบ่ายสองโมงไป อากาศจะค่อนข้างเย็นไปจนดึก บางวันเย็นจนต้องหาเสื้อแขนยาวหนาๆมาใส่นอน


ช่วงต่อระหว่างฤดูฝนกับฤดูร้อน เป็นช่วงที่มีลมสินค้าตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน นำเอาฝุ่นละออง ความหนาวเย็นและความแห้งแล้งจากทะเลทรายซาฮาราเข้ามาด้วย ช่วงนี้ชาวพื้นเมืองเรียกว่า ฮาร์มัตตัน (Harmattan)”

วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สถานทูตไทยในกรุงอาบูจา

สถานทูตไทยในกรุงอาบูจา


สถานทูตไทยตั้งอยู่ที่เลขที่ 24 ถนนเทนเนสซี ครีสเซนท์ (ถนนซอยจากถนนปานามา) เขตไมตามา กรุงอาบูจา อาคารสำนักงานแห่งนี้รัฐบาลไทยเช่าจากเอกชนไนจีเรีย ปัจจุบันมีข้าราชการจากประเทศไทยประจำการจำนวน 5 คน

ประเทศไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไนจีเรียเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2505 และในปีต่อมารัฐบาลไทยได้ตัดสินใจเปิดสถานทูตไทยที่กรุงลากอส เมืองหลวงของไนจีเรียขณะนั้น นับเป็นสถานทูตแห่งแรกของไทยในทวีปแอฟริกา แต่เนื่องจากไทยประสบปัญหาเรื่องงบประมาณและความปลอดภัยในพื้นที่ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2539 คณะรัฐมนตรีมีมติตามข้อเสนอของกระทรวงการต่างประเทศให้ปิดสถานทูตไทยที่กรุงลากอสชั่วคราว ซึ่งสถานทูตได้ปิดทำการตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2539 ต่อมา เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2549 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ปิดสถานทูตที่กรุงลากอสเป็นการถาวรและย้ายมาเปิดสถานทูตที่กรุงอาบูจา เมืองหลวงใหม่ ซึ่งสถานทูตแห่งใหม่ที่กรุงอาบูจาสามารถเปิดดำเนินการได้เมื่อเดือนธันวาคม 2549

ปัจจุบันนายสมชาย เภาเจริญดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต

เงินไนราของไนจีเรีย

เงินไนราของไนจีเรีย


เงินไนราเป็นเงินตราที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายของไนจีเรีย ธนาคารกลางของประเทศเป็นผู้จัดพิมพ์ธนบัตรเหล่านี้ ในช่วงปี 2554 เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐมีราคาระหว่าง 151.05 - 165.1 ไนรา การแข็งหรืออ่อนค่าของเงินไนราเป็นไปตามกลไกตลาด และเป็นผลมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลก เพราะไนจีเรียมีรายได้จากการขายน้ำมันดิบประมาณร้อยละ 80 ของรายได้รวมของรัฐบาล

ธนบัตรไนราประกอบด้วยราคา 5 ไนรา 10 ไนรา 20 ไนรา 50 ไนรา100 ไนรา 200 ไนรา 500 ไนรา และ 1,000 ไนรา มีข่าวว่าในปี 2555 นี้ธนาคารกลางมีแผนที่จะจัดพิมพ์ธนบัตรราคา 2,000 ไนรา และ 5,000 ไนรา เพิ่มขึ้นอีกสองราคา และจะผลิตเหรียญ 5 ไนรา 10 ไนรา 20 ไนรา และ 50 ไนรา แทนธนบัตรที่ใช้อยู่ปัจจุบัน

คำแนะนำที่ได้รับจากคนที่อยู่ที่ไนจีเรียมานานบอกว่า ธนบัตรไนรากลิ่นแรง และสกปรก เมื่อจับต้องแล้วต้องล้างมือฟองกสบู่ให้สะอาด และให้แน่ใจว่าหมดกลิ่น

ข้าวไทยที่กรุงอาบูจา

ข้าวไทยที่กรุงอาบูจา

มาถึงอาบูจาก็ไปหาซื้อข้าวไทยมาหุง ไปได้ข้าวตรามงกุฏมาขนาด 5 กิโลกรัม ราคาถุงละ 2020 ไนรา ข้างในเป็นข้าวนึ่ง หรือพาบอยไร้ซ์ ไม่เคยทานมาก่อน แต่ก็หุงไม่ยาก พออยู่ไปได้สองสัปดาห์ไปหาได้ข้าวตรานางรำ เป็นข้าวขาว เมล็ดขาว สวย รสชาติอร่อยถูกปากมาอีก คราวนี้เลยซื้อมาตุนไว้สามถุง ราคาถุงละ (5 กิโลกัรม) 2,035 ไนรา ต่อมามีคนไปเดินตลาดเจอข้าวตรานางรำนี้ที่ร้านหนึ่งในเมืองจึงขอให้เขาซื้อมาฝากทีนี้ราคาถุงละ 2,375 ไนรา ราคาสินค้าที่นี่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับร้านที่วางขายจะตั้งราคาตามต้นทุนของเขา เราเองก็ซื้อตามที่ของมี จะไม่ซื้อก็ได้แต่ในที่สุดหากไม่มีของก็ต้องซื้ออยู่เอง ทีนี้ต้องซื้อข้าวจากประเทศอื่นที่ทานแล้วไม่คุ้นปากก็เป็นได้จากที่มีสถานการณ์ประท้วงในกรุงอาบูจาช่วงเดือนมกราคม 2555 ทำให้ร้านค้าปิดตัวยาวนานในช่วงดังกล่าว ทำให้คิดว่าต้องซื้อข้าวเก็บไว้บ้าง เผื่อว่ามีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นอีกจะได้มีข้าวทาน

ชาวไนจีเรียทานข้าวกันเป็นล่ำเป็นสัน ปีละประมาณ 5.2 ล้านตัน แต่ผลิตข้าวภายในประเทศได้เองเพียง 3 ล้านตัน ต้องนำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 2.2 - 2.4 ล้านตัน โดยนำเข้าจากประเทศไทย อินเดีย ปากีสถาน จีน เวียดนาม บราซิล สหรัฐอเมริกา และอียิปต์ ฯลฯ ข้าวที่นำเข้านั้นหากเป็นข้าวนึ่งหรือพาบอยไร้ซ์ ไทยครองตลาดไนจีเรีย เพราะมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 90 ทีเดียว

มีคนบอกว่า ข้าวไทยได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศไนจีเรียเนื่องจากเป็นข้าวคุณภาพ เมล็ดยาว หุงไม่ติดกัน แต่ข้าวไทยก็ราคาแพงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับข้าวขนิดเดียวกันจากประเทศอื่น ข้าวอินเดียราคาถูกที่สุดในตลาดแต่ชาวไนจีเรียไม่นิยมบริโภค เนื่องจากเป็นข้าวเก่าและคุณภาพไม่ดี

ข้าวที่ไนจีเรียผลิตเองเรียกว่าข้าวโอฟาดา เมล็ดกลม สีเหลืองทอง เป็นข้าวที่นิยมในประเทศ แต่ราคาแพงเมื่อเปรียบเทียบกับราคาข้าวนำเข้า