วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2555

พลังงานไฟฟ้าไนจีเรียยังขาดแคลน

เขื่อนเจบบา ในรัฐไนเจอร์

พลังงานไฟฟ้าไนจีเรียยังขาดแคลน

ปัจจุบันไนจีเรียมีความต้องการบริโภคไฟฟ้าทั่วประเทศประมาณ 14,000 เมกะวัตต์ แต่รัฐบาลสามารถจัดหาให้บริการได้เพียง 3,825 เมกะวัตต์เท่านั้น แต่ที่ผลิตได้เพียงเท่านี้ขีดความสามารถในการผลิตรวมของโรงไฟฟ้าในประเทศไนจีเรียมีประมาณ 6,600 เมกะวัตต์ แต่ที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้นั้นเนื่องมาจากประสบปัญหาทางเทคนิกและประกอบกับขาดการซ่อมบำรุงเครื่องจักรที่มีอายุการใช้งานมานาน

ตัวอย่างเห็นได้ชัดดังเช่นกรณีสถานีไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเจบบา ในรัฐไนเจอร์  ซึ่งสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำจากลำน้ำไนเจอร์ และสถานีผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำเปิดใช้มาตั้งแต่ปี 2528 มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 540 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของปริมาณไฟฟ้าใช้อยู่ในปัจจุบันสามารถให้บริการไฟฟ้าแก่ประชาชนได้ 364,000 ครัวเรือน  ปรากฏว่าตั้งแต่เปิดใช้งานมา 24 ปี โรงไฟฟ้าแห่งนี้ไม่เคยซ่อมบำรุง จนกระทั่งเมื่อปี 2552 เกิดเครื่องปั่นไฟฟ้าตัวหนึ่งชำรุด ทำให้การผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าจากสถานนีไฟฟ้าแห่งนี้ชะงักลง

รัฐบาลใช้เวลาสองปีในการเจรจาจัดหาแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยีในการซ่อมแซมสถานีไฟฟ้าพลังน้ำแห่งนี้ ในที่สุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 กระทรวงพลังงานได้ลงนามความตกลงกับสำนักงาน JICA ประเทศญี่ปุ่น โดยไจก้าจะให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่ไนจีเรียมูลค่า 4 พันล้านไนร่า เพื่อซ่อมเครื่องปั่นไฟที่ชำรุดและซ่อมบำรุงเครื่องจักรของสถานีไฟฟ้าดังกล่าว โดยกำหนดแล้วเสร็จในปี 2556  

วันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555

รถไฟกำลังจะมา


รถไฟกำลังจะมา

คนงานกำลังวางรางรถไฟในกรุงอาบูจา โครงการดังกล่าวรัฐบาลไนจีเรียได้รับความช่วยเหลือเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนจากสาะารณรัฐประชาชนจีน

เดครดิตภาพ: หนังสือพิมพ์ This Day ฉบับวันที่ 18 ธันวาคม 2555

ผู้ว่าฯแบ็งก์ชาติไนจีเรียว่าโลกสมัยใหม่ความรู้เข้ามาแทนที่ทรัพยากรธรรมชาติ


ผู้ว่าฯแบ็งก์ชาติไนจีเรียว่าโลกสมัยใหม่ความรู้เข้ามาแทนที่ทรัพยากรธรรมชาติ


ดร.ซานุซี ลามิโด ซานุซี ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศไนจีเรีย กล่าวในระหว่างการบรรยายหัวข้อ การจ้างงาน ทักษะ คุณค่า โอกาส และความเปลี่ยนแปลงของบัณฑิตจากมหาวิทยาลัย ที่มหาวิทยาลัยคาลาบาร์ ว่า บัณฑิตที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไนจีเรียในอดีตจนถึงช่วงกลางทศวรรษ 1970 จะสามารถแข่งขันในตลาดแรงงานกับบัณฑิตที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศได้ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไป บัณฑิตที่เรียนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไนจีเรียไม่สามารถแข่งขันในตลาดแรงงานได้อีกต่อไป โดยเห็นได้จากจำนวนบัณฑิตที่หางานทำไม่ได้ โดยสถิติปี 2554 มีบัณฑิตตกงานถึงร้อยละ 20 โดยจำนวนนี้เป็นบัณฑิตระดับปริญญาโทร้อยละ 5.1 และบัณฑิตระดับปริญญาเอกร้อยละ 9.1

ดร.ซานุซี กล่าวว่า แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกขณะนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้และการขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคมที่ก้าวหน้า ซึ่งแนวโน้มนี้มีผลกระทบต่อตลาดแรงงานไนจีเรียด้วย กล่าวคือ นายจ้างสมัยใหม่เลือกที่จะจ้างงานบัณฑิตที่ไม่เพียงแต่มีความรู้ในสาขาที่ศึกษามา แต่ยังเลือกหาคนที่มีทักษะในชีวิตอีกด้วย โดยนายจ้างคาดหวังว่าลูกจ้างที่มีคุณสมบัติดังกล่าวจะเพิ่มคุณค่าให้แก่องค์กรของนายจ้างสูงสุด

ดร.ซานุซีสรุปว่า ในโลกสมัยใหม่ ประเทศใดก็ตามที่หวังพึ่งอยู่แต่ทรัพยากรธรรมชาติเพียงอย่างเดียวเพื่อการสร้างเศรษฐกิจที่ก้าวหน้ารุ่งเรืองย่อมไม่มีทางประสบความสำเร็จ และไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ เพราะโลกปัจจุบันขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้สาขาต่างๆ

ไนจีเรียห้ามนำเข้าน้ำตาล


ไนจีเรียห้ามนำเข้าน้ำตาล

นายโอลูเซกุน อากันดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและการลงทุนแถลงเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2555 ว่ารัฐบาลไนจีเรียจะห้ามนำเข้าน้ำตาลตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 เป็ต้นไป

มาตรการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรมน้ำตาลของประเทศ ตามแผนดังกล่าวกำหนดให้ผู้ถือใบอนุญาตนำเข้าน้ำตาล brown sugar เพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรมฟอกขาวในประเทศต้องเป็นผู้ที่เป็นเจ้าของฟาร์มปลูกอ้อยด้วย

แผนแม่บทดังกล่าวหากสามารถบรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้จะสร้างงานตรง 117 ตำแหน่ง ผลิตกระแสไฟฟ้า 411.7 เมกาวัตต์/ปี ประหยัดเงินตราปีละ 565.8 ล้านไนร่า ผลิตน้ำตาลได้ 1.7 ล้านตัน/ปี และผลิตเอธานอลได้ 116 ล้านลิตร/ปี

ไนจีเรียจะออกบัตรเหลืองรุ่นใหม่


ไนจีเรียจะออกบัตรเหลืองรุ่นใหม่

กระทรวงสาธารณสุขไนจีเรียเปิดเผยว่า รัฐบาลมีแผนจะออกบัตรเหลือง (Yellow Card) รับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองรุ่นใหม่ใช้แทนบัตรเหลืองปัจจุบัน โดยบัตรเหลืองรุ่นใหม่นี้จะระบุเลขรหัสและข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของบัตรไว้ด้วย สำหรับเป็นเอกสารติดตัวเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ ทั้งนี้ทางการไนจีเรียจะทะยอยเปลี่ยนมาใช้บัตรเหลืองรุ่นใหม่แทนบัตรรุ่นเก่าที่หมดอายุ และสำหรับผู้ที่ขอรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองรายใหม่จะได้รับบัตรเหลืองรุ่นใหม่

ไนจีเรียมีประวัติพบผู้ป่วยโรคไข้เหลืองแพร่ระบาดครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2538 โดยพบผู้ป่วยติดเชื่อจำนวน 25 ราย ซึ่งเสียชีวิตเพียงรายเดียว

ปัจจุบันไนจีเรียเป็นประเทศที่มีรายชื่อรวมอยู่ในกลุ่มประเทศจำนวน 44 ประเทศที่องค์การอนามัยโลกระบุให้เป็นประเทศที่เสี่ยงต่อโรคไข้เหลือง 

วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

องค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศจัดลำดับไนจีเรียดีกว่าปีกลาย



องค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศจัดลำดับไนจีเรียดีกว่าปีกลาย

องค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกาเปิดเผยผลการจัดลำดับประเทศที่มีความโปร่งใสโดยได้จัดไนจีเรียอยู่ในลำดับที่ 139 ร่วมกับอาเซอไบจัน เคนยา เนปาลและปากีสถานโดยมีคะแนน 27 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ทั้งนี้จากการสำรวจ 176 ประเทศ

ไนจีเรียมีสถิติลำดับความโปร่งใสดังนี้ ลำดับที่ 143 จาก 183 ประเทศ เมื่อปี 2554 ลำดับที่ 134 จาก 178 ประเทศ เมื่อปี 2553 ลำดับที่ 130 จาก 180 ประเทศ เมื่อปี 2552 ลำดับที่ 121 จาก 180 ประเทศ เมื่อปี 2551 ลำดับที่ 147 จาก 180 ประเทศ เมื่อปี 2550 และอันดับที่ 153 จาก 180 ประเทศ เมื่อปี 2549

รัฐบาลไนจีเรียยอมรับผลการจัดลำดับดังกล่าว โดยเห็นว่าการที่ลำดับของไนจีเรียในปีนี้ดีขึ้นแสดงว่านโยบายต่อต้านคอรัปชั่นของประธานาธิบดีกู๊ดลัก โจนาธาน ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จ

ผู้สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://cpi.transparency.org/cpi2012/results/   

วัณโรค โรคหอบหืด และโรคทรวงอกอื่นๆ ยังแพร่ระบาดในไนจีเรีย



วัณโรค โรคหอบหืด และโรคทรวงอกอื่นๆ ยังแพร่ระบาดในไนจีเรีย

สมาคมโรคทรวงอกไนจีเรียเปิดเผยว่า นอกจากโรคไข้มาเลเรีย และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องแล้ว ไนจีเรียมีผู้ป่วยด้วยโรควัณโรค หอบหืด และโรคทรวงอกอื่นๆ ประมาณ 15 ล้านคน ทั้งนี้เป็นผลมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันและการรักษาตัวเอง

สมาคมเรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งศูนย์อนามัยโรคทรวงอกระดับภูมิภาคขึ้นใน 6 ภูมิภาคของไนจีเรียได้แด่ ภาคตะวันอกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนกลาง ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคใต้ตอนใต้ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อรณรงค์ให้การรักษา และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคดังกล่าวให้ประชาชนทราบ

ปัจจุบันสมาคมโรคทรวงอกไนจีเรียมีโครงการร่วมกับสมาคมโรคทรวงอกอเมริกา และสมาคมโรคทรวงอกแอฟริกา เพื่อกำจัดโรควัณโรค โรคหอบหืด และโรคทรวงอกอื่นๆ ให้หมดจากไนจีเรีย

วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ชาวไนจีเรียได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล


ดร.อูเช เวโรนิกา อะมาซิโก
(Dr.Uche  Veronica  Amazigo )


ชาวไนจีเรียได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล

เมื่อวันที่ 22  พฤศจิกายน 2555  มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์     ได้แถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  ครั้งที่ 21  ประจำปี  2555    ณ ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก  ตึกสยามมินทร์   ชั้น โรงพยาบาลศิริราชว่าที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานเมื่อวันที่ 9  พฤศจิกายน 2555 ได้พิจารณาผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2555 จำนวน 75 ราย และที่ประชุมฯ ได้มีมติตัดสินมอบรางวัลฯ ในสาขาการแพทย์ให้แก่ เซอร์ไมเคิล เดวิด รอว์ลินส์ (Sir Michael  David Rawlins)   สัญชาติอังกฤษ ในสาขาสาธารณสุขให้แก่ ดร.อูเช เวโรนิกา อะมาซิโก (Dr.Uche  Veronica  Amazigo ) สัญชาติไนจีเรีย

ดร. อูเช  เวโรนิกา  อะมาซิโก      เป็นบุคคลสำคัญที่ได้พัฒนาชุมชนกว่า  500,000 ชุมชนใน  19 ประเทศ  ของทวีปอัฟริกา  ให้มีส่วนร่วมในการให้บริการทางการสาธารณสุข โดยระหว่างดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการควบคุมโรคตาบอดจากพยาธิในทวีปอัฟ ริกา  ระหว่างปี พ.ศ.2548-2554  ได้พัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนที่สามารถกำหนดการรักษา (communiy-directed treatment)  โดยการกระจายยารักษาโรคตาบอดจากพยาธิแก่คนในชุมชน โดยอาสาสมัครในชุมชน ในเวลาที่เหมาะสม  ก่อให้เกิดผลสำเร็จในการควบคุมโรคอย่างชัดเจน และมีความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์  อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบสุขภาพในชุมชน  ส่งผลให้อุบัติการณ์ของโรคลดลงอย่างมาก  ประมาณการว่าภายในปี พ.ศ.2558 ประชากรกว่า 90 ล้านคนต่อปี จะได้รับยารักษาโรคตาบอดจากพยาธิอย่างสม่ำเสมอ และสามารถป้องกันโรคตาบอดจากพยาธิได้ปีละกว่า  40,000 ราย ความสำเร็จเหล่านี้  เกิดจากการเชื่อมโยงงานวิจัยและระบบการบริหารจัดการโดยมุ่งเน้นบทบาทของ ชุมชนเป็นสำคัญ
      
นอกจากนี้  “ชุมชนผู้กำหนด”  ยังมีผลต่อระบบการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นและการควบคุมโรคอื่นๆ ด้วย  โดยมีการประเมินว่าแนวทางการดำเนินการดังกล่าว  ส่งผลให้ประชากรกว่า  11 ล้านคนในอัฟริกา  ได้รับประโยชน์จากการควบคุมมาลาเรีย และประชากรกว่า 37 ล้านคน  ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบ การบริการสาธารณสุขด้านอื่นๆ อีกด้วย
    
ดร. อูเช  เวโรนิกา  อะมาซิโก  สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านชีววิทยาและปรสิตวิทยาทางการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย  ได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงด้านโรคเขตร้อน จากสถาบันBernhard-Nocht Institute of Tropical Medicine   สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี   และการสาธารณสุขระหว่างประเทศ  จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล   เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ   พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น      เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร  อดุลยเดชวิกรม  พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ  1 มกราคม 2535  ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์  ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวล มนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล  และด้านการสาธารณสุข  1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา  แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัลประกาศนียบัตร  และเงินรางวัล  100,000  เหรียญสหรัฐ
พิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  จะจัดขึ้นในปลายเดือนมกราคม  พ.ศ. 2556       ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท   โดยก่อนวันงานพิธีพระราชทานรางวัลฯ มีกำหนดการจะมาเยือนคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะผู้ริเริ่มรางวัลอันทรงเกียรติจะเชิญผู้รับพระราชทานรางวัลฯ      และแสดงปาฐกถา เกียรติยศ  ในผลงานที่ได้รับด้วย

ดร. อูเช  เวโรนิกา  อะมาซิโก เป็นชาวไนจีเรียคนที่สองที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ก่อนหน้านี้ ดร.อาเดโตคุนโบ โอลูโวเล ลูคัส (Dr. Adetokunbo Oluwole Lucas) เคยได้รับรางวัลสาขาสาธารณสุขร่วมกับชาวนอร์เวย์เมื่อปี 2542


วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การรณรงค์ต่อต้านโรคโปลิโอในไนจีเรีย



การรณรงค์ต่อต้านโรคโปลิโอในไนจีเรีย

เมื่อวานนี้ (26 พฤศจิกายน 2555) มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ และมูลนิธิดันโกเต้ได้เปิดแถลงข่าวที่เมืองคาโน เมืองหลวงของรัฐคาโนว่า ทั้งสองมูลนิธิจะร่วมเป็นพันธมิตรจัดทำโครงการสี่ปีเพื่อสนับสนุนด้านการเงิน อุปกรณ์และวิชาการแก่รัฐบาลรัฐคาโนในการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอภายในรัฐดังกล่าว เมืองคาโนเป็นเมืองใหญ่มีประชากรเป็นอันดับสองของไนจีเรียและเป็นเมืองที่มีโรคโปลิโอระบาดมาตั้งแต่ปี 2546

โครงการดังกล่าวเป็นผลจากการหารือระหว่างนายนายอาลิโก ดันโกเตนักธุรกิจที่มั่งคั่งที่สุดในไนจีเรีย (และในทวีปแอฟริกา) กับนายบิล เกตในระหว่างที่นายดันโกเตเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาเมื่อเร็วๆ นี้

ปัจจุบันไนจีเรียเป็นหนึ่งในสามประเทศที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรคโปลิโอ อีกสองประเทศได้แก่ปากีสถานและแอฟกานิสถาน

เมื่อเดือนธันวาคม 2553 มีรายงานว่ามูลนิธิบิลล์ และเมลินดา เกตส์ได้บริจาคเงินจำนวน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐให้แก่นักวิจัยมหาวิทยาลัยลีดส์ เพื่อพัฒนาวัคซีนต่อต้านโปลิโอชนิดใหม่

วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

บัณทิตไนจีเรียตกงาน



บัณทิตไนจีเรียตกงาน

มีสถิติบัณฑิตตกงานซึ่ง นสพ. Thisday นำมาลงพิมพ์ไว้เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555

เขาบอกว่า ทุกปี มีบัณทิตที่จบการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศหางานทำไม่ได้หรือที่เรียกว่าตกงานนั่นแหละ ประมาณ ร้อยละ 85  แล้วคนที่ไปสมัครงานไว้ตามที่ต่างๆนั้นกว่าจะมีจดหมายเรียกตัวให้ไปสอบสัมภาษณ์ได้ต้องรอไปประมาณ 1-2 ปี  และกว่าจะหางานทำได้จริงๆก็จะต้องใช้เวลาประมาณ 5-8 ปี

คนที่รับภาระจากการที่บัณฑิตตกงานคือพ่อแม่ที่อาบเหงื่อต่างน้ำส่งเสียให้ลูกได้เรียนระดับมหาวิทยาลัยแล้ว เมื่อเรียนจบมาก็ยังต้องช่วยเหลือเจือจานลูกต่อไป ทั้งที่พ่อแม่บางคนก็ไม่มีรายได้ประจำอะไรด้วยเช่นกัน

สถิติบอกอีกว่าคนไนจีเรียที่ประสบความสำเร็จ มีหน้าที่การงานดีๆทำคนหนึ่งๆ นั้นจะมีบัณฑิตตกงานมาอาศัยอยู่กินหรือพึ่งพาอยู่จำนวน 3-5 คน นี่เป็นเรื่องปกติ

สภาพที่บัณฑิตหางานทำไม่ได้เช่นนี้ทำให้ชาวไนจีเรียเริ่มไม่แน่ใจว่า ที่เคยเชื่อว่าการศึกษาจะช่วยให้คนเลื่อนชั้นในสังคมได้นั้นเป็นเรื่องจริง

สนใจสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.vanguardngr.com/2012/11/unemployment-nigeria-sitting-on-keg-of-gun-powder/

วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ความเสียหายจากมหาอุทกภัย



ความเสียหายจากมหาอุทกภัย

สำนักงานบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ ไนจีเรีย เปิดเผยว่าความเสียหายจากมหาอุทกภัยในประเทศไนจีเรียที่มีฝนตกหนักและน้ำท่วมบ่าหลายพื้นที่ทั่วประเทศระหว่างเดือนกรกฎาคม 2555 ถึงเดือนตุลาคม 2555 ประชาชนได้รับผลกระทบจำนวน 7.7 ล้านคน โดยมีผู้เสียชีวิต 363 ราย มีประชาชนต้องอพยพออกจากพื้นที่น้ำท่วมจำนวน 1.2 ล้านคน และบริษัทน้ำมันต่างได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วม ทั้งนี้สำนักงานความร่วมมือเพื่อภารกิจด้านมนุษยธรรมสหประชาชาติ แถลงว่า ได้รับโครงการเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูชาวไนจีเรียที่ได้รับความเดือดร้อนจากมหาอุทกภัยเป็นงบประมาณ 6 พันล้านไนร่า (38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ประธานาธิบดีกู้ดลัก โจนาธาน ได้จัดตั้งคณะกรรมการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกถัย เพื่อเป็นองค์กรกลางในการรับบริจาคความช่วยเหลือจากประชาชน ร้านค้า และองค์การการกุศลต่างๆ รวมทั้งเป็นหน่วยงานกลางในการประสานให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนในรัฐต่างๆ ซึ่งปรากฏว่าองค์กรดังกล่าวได้รับคำชมจากสื่อมวลชนว่าสามารถปฏิบัติภารกิจแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วรวมทั้งสามารถระดมเงินบริจาคเบื้องต้นจำนวน 2.5 พันล้านไนร่าเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน และจำนวน 150 ล้านไนร่าเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงานคณะกรรมการดังกล่าวด้วย

ปรับแก้ : 13 พฤศจิกายน 2555

พี่น้องวิลเลียมส์มาเยือนนครลากอส

 วีนัสและเซเรนาร่วมเต้นรำกับเด็กๆนักเรียนในสนามหน้าโรงเรียน
 สองพี่น้องถ่ายภาพร่วมกับเด็กนักเรียนภายหลังการสนทนา
 วีนัสสอนน้องๆ ตีลูกเทนนิส
นาย Babatunde Fashola ผู้ว่าราชการรัฐลากอส(ที่สามจากซ้าย) ต้อนรับนักเทนนิสและคุณแม่

พี่น้องวิลเลียมส์มาเยือนนครลากอส

 วีนัส วิลเลียมส์ และเซเรนา วิลเลียม สองพี่น้องนักเทนนิสระดับโลกชาวอเมริกัน พร้อมด้วยคุณแม่โอราซีน ไพร้ซ์เดินทางไปเยือนนครลากอส ประเทศไนจีเรีย ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2555

ในโอกาสดังกล่าวนักเทนนิสทั้งสองได้รับเชิญไปร่วมสอนเทนนิสแก่เด็กๆและไปเยี่ยมโรงเรียนเพื่อสนทนากับเด็กๆ ทั้งนี้ผู้ว่าราชการรัฐลากอสได้เชิญนักเทนนิสทั้งสองพร้อมด้วยมารดาเข้าพบและมอบของที่ระลึกให้ด้วย

สื่อมวลชนในไนจีเรียปลื้มกับการเยือนของนักเทนนิสทั้งสอง โดยเห็นว่าเป็นโอกาสสร้างฝันในหัวใจของเด็กๆไนจีเรีย

Standard&Poor’s และ Moody’s ปรับเลื่อนเรตติ้งไนจีเรีย



Standard&Poor’s และ Moody’s ปรับเลื่อนเรตติ้งไนจีเรีย

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ศกนี้ สถาบัน Standard&Poor’s และ Moody’s ปรับเลื่อนเรตติ้งไนจีเรีย โดย Standard&Poor’s ประกาศปรับเพิ่มเรตติ้งไนจีเรียด้านเสถียรภาพการเงินจากเดิม B+ เป็น BB- ทั้งนี้ได้ให้เครดิตกับการที่ทุนสำรองของประเทศเพิ่มขึ้น และการที่รัฐบาลแสดงความแน่วแน่ที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจ อาทิ ลดการอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า และปรับปรุงระบบธนาคารพาณิชย์

Moody’s ได้ปรับเลื่อนเรตติ้งไนจีเรีย เป็น Ba3 ด้วย

แผนกู้เงินต่างประเทศ 9.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ



แผนกู้เงินต่างประเทศ 9.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ศกนี้ ดร.โกซี โคอันโจ อิวัลลา รัฐมนตรีคลังไนจีเรียเปิดเผยต่อคณะกรรมาธิการความช่วยเหลือ เงินกู้และหนี้สาธารณะสภาผู้แทนราษฎรว่า ช่วงปี 2012-2014 รัฐบาลมีแผนที่จะกู้เงินจากต่างประเทศจำนวน 9.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  ทั้งนี้เมื่อรวมยอดเงินกู้ใหม่นี้แล้วยอดหนี้เงินกู้จากต่างประเทศรวมจะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 18.87 ของGDP เท่านั้น

รัฐบาลได้เสนอกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อใช้ในโครงการพัฒนาประเทศในปีงบประมาณ 2013 แล้วจำนวน 7.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายงบประมาณดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา ส่วนยอดเงินกู้อีกจำนวน 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น รัฐบาลจะเสนอกู้ในปีงบประมาณ 2014 

มอ’ไซด์รับจ้าง



มอไซด์รับจ้าง

กรุงอาบูจามีกฎหมายห้ามรถจักรยานยนต์หรือมอไซด์รับจ้างวิ่งบริการในพื้นที่ตัวเมือง
มอไซด์รับจ้างหรือที่ชาวไนจีเรียเรียกโอคาด้านอกจากห้ามวิ่งในตัวเมืองหลวงแล้ว รัฐอื่นบางรัฐได้แก่ ลากอส เอนุกุ อัควา-อิบอม ริฟเวอร์ และเดลต้า ก็ห้ามโอคาด้าวิ่งบริการหรือจำกัดพื้นที่ให้บริการด้วยเช่นกัน
รัฐเดลต้าซึ่งเป็นรัฐล่าสุดที่ออกกฎหมายห้ามโอคาด้าวิ่งรับส่งผู้โดยสารในตัวเมืองเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ศกนี้ โดยรัฐบาลรัฐเดลต้าได้จัดซื้อรถสามล้อเครื่องจำนวน 1,250 คัน มาให้ผู้ขับขี่โอคาด้าซื้อในราคาขายขาดทุนด้วย เพื่อช่วยเหลือให้มีอาชีพทำมาหากินได้ต่อไป และเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับประชาชนผู้ใช้บริการโอคาด้าประจำวันด้วย
สาเหตุสำคัญซึ่งทุกรัฐที่ห้ามโอคาด้าวิ่งบริการรับส่งผู้โดยสารในตัวเมืองมักใช้อ้างคือปัญหาด้านความปลอดภัย เนื่องจากมีผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้นมักปรากฏด้วยว่าโอคาด้าพัวพันกับอาชญากรรม และที่สำคัญคือผู้ใช้รถใช้ถนนทั่วไปเบื่อหน่ายกับการขับขี่รถฉวัดเฉวียนและไม่เคารพกฎจราจรของโอคาด้าส่วนมาก

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประวัติศาสตร์สังเขปของไนจีเรีย


ประวัติศาสตร์สังเขปของไนจีเรีย
ในศตวรรษที่ 18 ดินแดนที่เป็นไนจีเรียในปัจจุบันเคยเป็นศูนย์กลางของการค้าทาส และอังกฤษได้เข้ายึดเมืองท่าลากอสในเดือนสิงหาคม 2394 ต่อมาได้ขยายอิทธิพลไปยังดินแดนโดยรอบเมืองท่าลากอสและลุ่มแม่น้ำไนเจอร์จนนำไปสู่การจัดตั้งบริษัท Royal Niger Company ซึ่งมีการจัดการทางการเมืองของตนเอง จนถึงวันที่ 1 มกราคม 2443 บริษัทฯ จึงได้โอนดินแดนให้อยู่ในการปกครองของอังกฤษและได้จัดตั้งอาณานิคมและรัฐในอารักขาแห่งไนจีเรียเมื่อปี 2457

สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2503 และได้เป็นสาธารณรัฐเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2506 หลังจากนั้น ได้มีรัฐประหารเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2509 และเกิดความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและภูมิภาค เนื่องจากชนเผ่า Hausa ทางเหนือเกรงว่าจะถูกครอบงำโดยชนเผ่า Igbo ทางตะวันออกของประเทศ ภูมิภาคตะวันออกจึงตัดสินใจถอนตัวและจัดตั้งเป็นสาธารณรัฐแห่งไบอาฟรา (Republic of Biafra) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2510 นับเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองนองเลือดที่ยืดเยื้อ เพราะการแทรกแซงจากต่างประเทศและภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง ในที่สุด เมื่อปี 2513 สาธารณรัฐแห่งไบอาฟราก็พ่ายแพ้

ต่อมามีความพยายามหลายครั้งที่จะให้มีการปกครองโดยพลเรือน แต่ฝ่ายทหารขัดขวาง หลังจากที่นาย Ken Saro-wiwa ผู้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนของรัฐ Ogoni และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของประชาชน  อีก 7 คน ถูกประหารชีวิตเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2538 ไนจีเรียก็ถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศเครือจักรภพเป็นการชั่วคราว พลเอก Sani Abacha ซึ่งขึ้นเป็นผู้นำของไนจีเรียตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2536 ได้ให้คำมั่นว่าจะจัดให้มีการถ่ายโอนอำนาจการปกครองให้กับรัฐบาลพลเรือน ซึ่งจะมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในเดือนตุลาคม 2541 แต่พลเอก Abacha ถึงแก่อนิจกรรมก่อน เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2541 ด้วยโรคหัวใจวาย คณะรัฐมนตรีปกครองชั่วคราว (Provisional Ruling Council) จึงได้เลือกพลเอก Abdulsalam Abubakar เสนาธิการทหารเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี แทนพลเอก Abacha

พลเอก Abubakar ตระหนักถึงสถานการณ์ของรัฐบาลทหารที่ถูกต่อต้านจากประชาชนและนานาชาติ จึงมีท่าทีผ่อนปรนและประนีประนอมมากขึ้น โดยได้ปล่อยนักโทษการเมือง ซึ่งหนึ่งในนักโทษการเมืองคนสำคัญที่ได้รับการปล่อยตัวคือ พลเอก Olusegun Obasanjo จากนั้น พลเอก Abubakar ได้ให้สัญญาว่าจะลาออกและคืนอำนาจให้ประชาชน โดยได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2542 ซึ่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนั้นปรากฏว่า พลเอก Olusegun Obasanjo หัวหน้าพรรค People’s Democratic Party (PDP) ได้รับชัยชนะด้วยคะแนนท่วมท้น รวมทั้งพรรค PDP ก็ได้รับเสียงข้างมากในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร และได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2542 นับเป็นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกในรอบ 15 ปี และเป็นครั้งแรกที่ไนจีเรียสามารถเปลี่ยนการปกครองจากรัฐบาลทหารสู่รัฐบาลพลเรือนด้วยวิธีเลือกตั้งทั่วไปได้สำเร็จ และได้กลับเข้าเป็นประเทศสมาชิกของกลุ่มประเทศเครือจักรภพอีกครั้ง

ที่มา: เว็บไซต์กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ http://sameaf.mfa.go.th/th/country/africa/detail.php?ID=74

วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับประเทศไนจีเรีย


ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับประเทศไนจีเรีย

สภาพภูมิศาสตร์:    ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกาทิศเหนือติดกับสาธารณรัฐไนเจอร์ ทิศใต้ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก บริเวณอ่าวกินี ทิศตะวันออกติดกับสาธารณรัฐแคเมอรูนและสาธารณรัฐชาด ทิศตะวันตกติดกับสาธารณรัฐเบนิน
สภาพภูมิอากาศ :   อยู่ในเขตร้อน สภาพอากาศร้อนชื้น มี 2 ฤดู  คือฤดูฝนระหว่างเดือน พ.ค. พ.ย.
และฤดูร้อนระหว่างเดือนธ.ค. เม.ย. ช่วงนี้จะมีลงเหนือพัดเอาฝุ่นละอองมาจากทะเลทรายซาฮาราเรียกว่าฮามาตัน (Hamatan) ปกคลุมท้องฟ้าทั่วไป
พื้นที่ :               923,769 ตารางกิโลเมตร
                       เมืองหลวง :        กรุงอาบูจา
เมืองสำคัญอื่นๆ : นครลากอส (เมืองหลวงเก่า) คาโน อิบาดัน พอร์ตฮาร์คอร์ต อิดานา
ภาษา :              ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ภาษาพื้นเมืองที่สำคัญได้แก่ ภาษาเฮาซา โยรุบา อิกโบ และฟุรานี (ไนจีเรียมีภาษาพูดมากกว่า 500 ภาษา)
ประชากร :         ประมาณ 162 ล้านคน (ธ.โลกปี 2554)
ศาสนา :            อิสลามร้อยละ 50 คริสต์ร้อยละ 40 และความเชื่อดั้งเดิมร้อยละ 10
สกุลเงิน :           ไนร่า (Naira) โดย 1 บาทประมาณ 5.05 ไนร่า

รูปแบบการปกครอง : แบบสาธารณรัฐประกอบด้วยฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงและอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี ไม่เกิน 2 สมัย
โครงสร้างเศรษฐกิจ : จีดีพี  273.042 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ      ประกอบด้วยภาคภาคเหมืองแร่ ร้อยละ 45 (โดยมีสัดส่วนการส่งออก(น้ำมัน)ร้อยละ 95) ภาคเกษตรกรรมร้อยละ  26 ภาคบริการร้อยละ 24 และภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 5
ระบบการศึกษา : ระดับประถมศึกษา 6 ปี มัธยมศึกษา 6 ปี
  ระดับมหาวิทยาลัย 4 ปี (ปริญญาตรี) หรือเรียนอาชีวศึกษา (Ordinary National Diploma) และอีก 2 ปีได้รับ Higher National Diploma (เทียบเท่าปริญญาตรี)ระดับปริญญาโท (Master Degree) หลักสูตร 1 ปี 6 เดือน
 ระดับปริญญาเอก (Ph.D.) หลักสูตร 4 ปี
ธนาคาร :           เปิดทำการวันจันทร์ ศุกร์ ระหว่าง 08.00 –  16.30 น.
โทรศัพท์ :          ระบบ GSM และ CDMA มีโทรศัพท์บ้านและสำนักงาน โทรศัพท์มือถือต้องซื้อบัตร ส่วนโทรศัพท์สาธารณะมีจำนวนน้อย
โทรศัพท์ระหว่างประเทศจากไนจีเรีย 009
รหัสประเทศ 234
รหัสกรุงอาบูจา 09
ระบบขนส่งมวลชน : มีรถบัสให้บริการระหว่างเมืองต่างๆ มีรถแท็กซี่ให้บริการบริเวณตัวเมือง
รวมทั้งมีรถแท็กซี่ให้บริการจากท่าอากาศยาน เอ็นนัมดี อาซิกิเว ไปยังตัวเมืองกรุงอาบูจาใช้เวลาประมาณ 40 นาที  ( 36 กม.) ราคาค่าบริการประมาณ 3,000-4000 ไนร่า
การขับขี่รถยนต์ : ใช้พวงมาลัยซ้าย
สาธารณูปโภค : น้ำประปายังไม่สะอาดตามมาตรฐานสากลไฟฟ้าดับทุกวัน ถนนเชื่อมระหว่างเมืองต่างๆค่อนข้างขรุขระ
ระบบสื่อสาร : เครือข่ายโทรศัพท์ยังใช้การไม่ได้ดี สัญญาณอินเตอร์เนตค่อนข้างช้า
การเข้าเมือง : ชาวไทยต้องยื่นขอรับวีซ่าตามวัตถุประสงค์ อาทิ เพื่อการท่องเที่ยว หรือทำงาน ก่อนที่จะเดินทางไปไนจีเรีย โดยสามารถติดต่อได้ที่สอท.ไนจีเรีย (ที่อยู่ 412 สุขุมวิท 71 แขวงพระโขนง เขตวัฒนา กทม. 10110 โทร. 02 711 3076-8; 02 711 3547 แฟ็กซ์ 02 392 6398 วันจันทร์ ศุกร์ ระหว่างเวลา 10.00 – 12.00 น.)

ที่มา : จากเอกสารสาระน่ารู้ก่อนเดินทาง จากเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ http://www.mfa.go.th และ http://www.consular.go.th

วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วันนี้ทำอะไรกินดี


วันนี้ทำอะไรกินดี

อาหารที่เตรียมไว้ตามที่เห็นนั้นจะทำสองอย่าง คือแกงจืดหัวผักกาด และกุ้งผัดพริกไทยดำ ที่บ้านซื้อผักสดจากร้านดูน ซุปเปอร์มาร์เก็ต ส่วนกุ้งนั้นเป็นกุ้งแช่แข็งซื้อจากร้านฟิชช็อบ ซึ่งเป็นร้านขายอาหารทะเลแช่แข็งโดยเฉพาะ ร้านนี้มีแต่ฟรีซเซอร์ใส่กุ้งหมึก ปู ปลา ไม่มีชั้นวางสินค้าอื่น

ปัญหาของผักสดที่เมืองนี้คือนอกจากราคาแพงมากแล้วยังมักเป็นสินค้ามีตำหนิ เกิดจากการโยนในขั้นตอนการขนส่งและการจัดวางสินค้าทำให้ช้ำบ้าง เกิดจากการไม่คัดเลือกผักบ้าง อย่างหัวผักกาดนั้นวันดีคืนร้ายก็จะไปได้หัวผักกาดที่มีเสี้ยนทั้งหัว ต้นหอมนั้นแน่นอนว่า ซื้อมาแล้วก็ต้องมาล้าง มาคัด เลือกใช้และเลือกทิ้ง แคร๊อตนั้นวันที่ซื้อได้แคร๊อตสดๆจับแล้วตึงเหมือนพึ่งเก็บมาใหม่ๆ ก็จะเป็นวันที่โชคดี ขิงที่วางขายก็เป็นขิงแก่เสียมาก ไม่เคยเจอร์ขิงอ่อนหัวใหญ่ๆ

ที่บ้านทานหนักไปทางเนื้อไก่ อาหารทะเล อาทิ  กุ้ง หมึก ปลา (ซื้อเนื้อปลาชำแหละแล้วแช่แข็งนำมาเก็บไว้ในตู้เย็น) และผักซ้ำๆ ที่วางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ต เพียงแต่นำมาดัดแปลงว่าจะทำอะไรทาน เมนูอาหารที่ดาวน์โหลดจากเว็บบล็อกจึงเป็นประโยชน์ ช่วยให้การทำอาหารทานสนุกยิ่งขึ้น

ผมชอบทำอาหาร ทำไม่เก่งนะ แต่ชอบทำ

ปรับแก้ : 13 พฤศจิกายน 2555

วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2555

มหาอุทกภัยที่ไนจีเรีย


มหาอุทกภัยที่ไนจีเรีย

อันที่จริง ไนจีเรียประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี ที่เป็นเช่นนี้ เนื่่องจากไนจีเรียมีฝนตกชุกในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม - กันยายน แต่ปีนี้ฝนตกที่ไนจีเรียมากกว่าปกติโดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายน 2555 เป็นต้นมา กล่าวคือหากจะดูสถิติปริมาณน้ำฝนในปีนี้เทียบกับปีที่ผ่านๆมาแล้ว ต้องย้อนไปถึงสี่สิบปีจึงจะพบปริมาณน้ำฝนขนาดนี้ พูดภาษาหนังสือพิมพ์ก็ต้องว่าฝนปีนี้เป็นฝนสี่สิบปีตกครั้งนึง

สภากาชาดไนจีเรียรายงานว่า น้ำท่วมปีนี้มีประชาชนต้องอพยพออกจากถิ่นอาศัยกลายเป็นคนไม่มีบ้านจะอยู่แล้ว 120,000 คน  และมีคนอีกหลายพันที่ย้ายเข้าไปอยู่ตามค่ายที่พักชั่วคราวแล้วยังไม่พ้นน้ำต้องอพยพหนีน้ำต่อไปอีก

นอกจากน้ำท่วมจะทำลายชีวิตชาวบ้านและบ้านเรือนแล้ว ยังทำลายพืชผลการเกษตรตามท้องนาท้องไร ่่และทำลายถนนหนทางซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมไปด้วย องค์การสหประชาชาติรายงานว่าเกษตรกรไนจีเรียจำนวนหลายรายหมดเนื้อหมดตัวไปกับน้ำท่วมในครั้งนี้ สื่อหนังสือพิมพ์ไนจีเรียจึงรายงานแสดงความวิตกว่าบ้านเมืองจะประสบภาวะขาดแคลนอาหารหลังน้ำท่วม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเกรงชาวบ้านจะตื่นตกใจจึงออกมาแถลงแล้วว่า ทางการได้เตรียมเมล็ดพันธุ์พืชไว้ให้เกษตรกรปลูกทดแทนเมื่อน้ำลดลงแล้ว แต่สื่อก็ยังรายงานต่อไปอีกว่าขณะนี้อาหารในท้องตลาดราคาแพง และสินค้าจำเป็นอาทิ น้ำมันก๊าดขาดแคลนแล้ว

ประธานาธิบดีกู๊ดลัก โจนาธานแถลงเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ศกนี้ว่า รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 17.6 พันล้านไนร่าเพื่อช่วยเหลือรัฐและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในปีนี้ และรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยเพื่อรับผิดชอบงานนี้โดยตรงแล้ว ทันทีที่ประธานาธิบดีแถลงข่าวไป ก็มีสื่อรายงานว่า มีชาวบ้านที่เดือดร้อนจากน้ำท่วมออกมาประกาศว่าความช่วยเหลือของรัฐบาลต้องเป็นเงินสดเท่านั้น จึงจะเอา

วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2555

คนไทยร่วมออกร้านงานแชริตี้ บาซาร์

ท่านทูตสมชาย เภาเจริญและภริยานำทีมคนไทยมาออกร้านในงานแชริตี้ บาซาร์

คุณสมสวยฯ หนึ่งในคนไทยที่ทำอาหารมาวางขาย

คุณณัฐ จากร้าน"สวัสดี" นำแกงเขียวหวานไก่ ข้าวสวย และสปริงโรลมา

 ท่านทูตสมชายฯ ร่วมรับแขกที่แวะมาซื้อของชำร่วยที่ซุ้มไทย

ขนมไทยและของชำร่วยที่ซุ้มไทย

คนไทยร่วมออกร้านงานแชริตี้ บาซาร์

เมื่อวันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม 2555 ท่านเอกอัครราชทูตสมชาย เภาเจริญและภริยาได้นำครอบครัวข้าราชการและสมาคมคนไทยในอาบูจาเข้าร่วมขายอาหารในงานแชริตี้ บาซาร์ซึ่งจัดโดยสมาคมคู่สมรสหัวหน้าสำนักงานและสถานเอกอัครราชทูต(Association of Spouses of Heads of Missions : ASOHOM)ในกรุงอาบูจา

กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์หาทุนเพื่อบริจาคช่วยเหลือโครงการสังคมสงเคราะห์ในประเทศไนจีเรีย ซึ่ง ASOHOM กรุงอาบูจาจัดเป็นประจำทุกปี และในปีนี้คุณทัศนี เภาเจริญ ภริยาท่านเอกอัครราชทูตซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานกับสมาคม ASOHOM ที่นครโฮจิมินห์มาก่อนได้เข้าร่วมเป็นกรรมการดำเนินงานของสมาคม ASOHOM ิอาบูจาด้วย

อยากกินผัดไทยมะ



อยากกินผัดไทยมะ

ใครที่อ่านเรื่อง"ที่สนามบิน" อาจพอทราบว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวและเส้นสปาเก็ตตี้เป็นของห้ามนำเข้า ซึ่งความจริงก็ไม่ต้องนำติดตัวมาให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรปรับดอกครับ เพราะที่นี่มีเส้นก๋วยเตี๋ยวจากเมืองไทยวางขายที่ร้านพาร์กแอนด์ซ็อป และไม่ได้มีแต่เส้นอย่างเดียว ยังมีน้ำปรุงรสสำหรับใส่ผัดไทยให้มีรสชาติเป็นแบบที่กินที่เมืองไทยอีกด้วย

ผัดไทยสำเร็จนี้ปรุงง่าย ใช้เวลาแค่สิบห้านาทีก็ได้ทานแล้ว ข้างกล่องก๋วยเตี๋ยวเขาพิมพ์วิธีทำผัดไทยไว้ชัดเจน หนึ่งทำไง สองทำไง สามทำไง จะเติมน้ำผัดไทยตอนไหน บอกไว้หมด

โวเล โชยินก้า นักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมคนแรกของแอฟริกา



โวเล โชยินก้า นักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมคนแรกของแอฟริกา

โวเล โชยินก้าเป็นนักเขียนไนจีเรียที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อปี 1986 ชื่อทางการของท่านคือ  Akinwande Oluwole Soyinka เป็นคนพื้นเพเมืองอาเบโอคูต้า รัฐโอกุน เกิดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 1934 สมัยที่ไนจีเรียยังเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร บิดาเป็นนักบวชและเป็นครูใหญ่โรงเรียนเซ็นต์ปีเตอร์  คุณตาของโวเลก็เป็นนักบวชเช่นกัน โวเลเป็นบุตรคนที่สี่ในจำนวนี่น้องหกคน

โวเลเป็นคนเรียนหนังสือเก่งมาแต่เด็กๆ และมีความสามารถในการเขียนตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน และเรียนจบปริญญาตรี-โท สาขาวรรณคดีอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยลีดส์ สหราชอาณาจักร และด้วยผลงานดีเด่นมหาวิทยาลัยได้มอบปริญญากุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้ในเวลาต่อมาด้วย

นอกจากงานเขียนบทละคร กวีนิพนธ์ และนวนิยายแล้ว โวเลยังเป็นที่รู้จักในฐานะเป็นนักเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมืองคนหนึ่ง  

ปัจจุบันโวเลยังมีชีวิตอยู่ และเป็นตำนานของบ้านเมือง 

ผู้ที่สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://www.nobelprize.org/nobel_prizes/literature/laureates/1986/

วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สถิติประชากรไนจีเรีย



สถิติประชากรไนจีเรีย

เรื่องน่าปวดหัวสำหรับคนทำงานที่ไนจีเรียคือการที่ต้องไปติดตามสืบหาข้อมูลสถิติต่างๆในประเทศนี้ เพราะสถิติที่ได้มาอาจไม่ตรงกันแล้วแต่ว่าไปเอามาจากไหน

อย่างสถิติจำนวนประชากรนั้น หากจะยึดตามสถิติที่ธนาคารโลกใช้อยู่ก็ตัวเลขหนึ่ง หากจะยึดตามที่สื่อมวลชนรายงานว่ารัฐมนตรีมักใช้อ้างอิงก็อีกตัวเลขหนึ่ง แต่หากต้องการสถิติที่จะใช้อ้างได้หลายเรื่องต้องไปใช้สถิติจาก Country Report ของ Economist Intelligence Unit เพราะสำนักนี้เขาอ้างตัวเลขไปใช้ครบวงจร โดยตัวเลขประชากรนั้นสำนักแห่งนี้เขาอ้างตัวเลขประมาณการเมื่อกลางปี 2012 ของสำนักงานสำรวจจำนวนประชากรสหรัฐอเมริกา ซึ่งระบุว่าไนจีเรียมีประชากรจำนวน 170.1 ล้านคน

ธนาคารโลกนั้นระบุตัวเลขประชากรไนจีเรียปี 2011 ว่ามีจำนวน 162, 470, 737 คน

เครดิตภาพ: จากเว็บไซต์ http://www.populationlabs.com/Nigeria_Population.asp

เปิดบัญชีธนาคารที่อาบูจา

ธนาคารกลางไนจีเรีย

เปิดบัญชีธนาคารที่อาบูจา

ที่ไนจีเรียการเดินเข้าธนาคารไม่ได้เป็นเรื่องใครใคร่เข้าก็เข้าได้ ต้องผ่านการตรวจของพนักงานรักษาความปลอดภัยก่อน ใครไม่คุ้นอาจรู้สึกว่าบ้านเมืองนี้ไม่ปลอดภัย แต่หากคุ้นแล้วก็จะรู้สึกว่าธนาคารก็เหมือนที่ไหนๆ ที่การรักษาความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นสำหรับที่นี่ เพราะห้างร้านต่างๆ ใครก็ทำกัน

เมื่อทราบเช่นนี้ก็จะได้ไม่แปลกใจที่การไปเปิดบัญชีที่ธนาคารจะต้องแสดงเอกสารต่อไปนี้
1. รูปขนาดติดหนังสือเดินทาง       2 ใบ
2. บัตรประจำตัวหรือหนังสือเดินทางพร้อมสำเนา
3. บัตรประจำตัวคนต่างด้าวหรือใบอนุญาตให้พำนักในประเทศพร้อมสำเนา
4. หนังสือแนะนำตัวจากบริษัทนายจ้าง
5. หนังสือรับรองจากลูกค้าปัจจุบันของธนาคาร
6. สัญญาเช่าบ้านหรือใบแจ้งหนี้ค่าขนขยะ (เพื่อยืนยันการมีถิ่นพำนักตามที่แจ้ง)

ธนาคารที่นี่ไม่มีสมุดคู่ฝาก แต่จะแจ้งยอดเงินในบัญชีผ่านทางอินเตอร์เนต ทั้งนี้ลูกค้าต้องรักษาเลขบัญชีเป็นความลับ เพราะไม่เช่นนั้นอาจถูกมิจฉาชีพนำไปใช้ประโยชน์โดยมิชอบได้

วันจันทร์-พฤหัสบดี ธนาคารเปิดทำการ 08.00 - 15.00 น. วันศุกร์เปิดทำการ 08.00 - 13.00 น. หยุดวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ

แกงเผ็ดที่อาบูจา

แกงเผ็ดกระป๋อง

แกงเผ็ดที่อาบูจา

อยู่ที่อาบูจาก็ทำอาหารไทยทานได้ง่ายๆ อย่างแกงเผ็ดกระป๋องนี้มีน้ำแกงรสดี และฟักทองอยู่ข้างใน เอามาเทใส่หม้อแกง เติมเนื้ออะไรที่อยากทานแล้วอุ่นบนเตา สักครู่ก็ได้แกงอร่อยทานกับข้าวสวยร้อนๆ หอมตลบไปทั้งห้อง 

ราคาที่ตั้งใจให้เห็นนั้นเป็นราคาไนร่า อยากทราบราคาไทยก็หารด้วย 5 

นอกจากแกงเผ็ดที่รสชาตินุ่มนวลแบบนี้แล้วยังมีแกงมัสหมั่นกระป๋องอีกด้วย ทานง่าย เพียงเปิดกระป๋องแล้วเติมเนื้อที่อยากเติมลงไป ตั้งเตาสักครู่ก็ได้อาหารอร่อยทานแล้ว 

อาหารสำเร็จรูปยี่ห้อนี้มีหลายหลากให้ซื้อหา รวมไปถึงเครื่องแกง และน้ำปลา

วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

อีก 10 ปี ไนจีเรียจะเป็นผู้ส่งออกโกโก้อันดับหนึ่งของโลก




อีก 10 ปี ไนจีเรียจะเป็นผู้ส่งออกโกโก้อันดับหนึ่งของโลก

รัฐบาลของประธานาธิบดีกู๊ดลัก โจนาธานประกาศโครงการปรับปรุงผลผลิตโกโก้ (Cocoa Transformation Agenda) โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มผลผลิตโกโก้ไนจีเรียโดยตั้งเป้าหมายว่า โครงการดังกล่าวจะสร้างงานใหม่ในภาคเกษตรกรรมจำนวน 365,000 ตำแหน่งงาน และสร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้น

โกโก้เป็นพืชเศรษฐกิจที่นำเงินตราเข้าประเทศไนจีเรียโดยเมื่อปี 2010 ไนจีเรียผลิตโกโก้ได้ 427,800 ตัน เป็นอันดับสี่ของโลก รองจากกานา ผลิตได้ 632,037 ตัน อินโดนีเซีย ผลิตได้ 810,100 ตัน และโกตดิวัวร์ ซึ่งผลิตได้ 1,242,100 ล้านตัน

ตามแผนเพิ่มผลผลิตรัฐบาลไนจีเรียมีเป้าหมายที่จะผลิตโกโก้ให้ได้จำนวน 500,000 ตันในปี 2015 และจำนวน 1,000,000 ตันในปี 2018 โดยมีมาตรการส่งเสริมเกษตรกรดังนี้

1.      แจกต้นกล้าลูกผสมสายพันธุ์ดี 8 สายพันธุ์ ซึ่งให้ผลดกกว่าสายพันธุ์เดิม 5 เท่า (2,000 กิโลกรัม/ เฮกตาร์)และปลูกเพียง 2 ปีก็สามารถออกผลให้เก็บเกี่ยวได้ เพื่อให้เกษตรกรปลูกทดแทนต้นโกโก้พันธุ์เดิมซึ่งให้ผลผลิตน้อย (450 กิโลกรัม/ เฮกตาร์) และต้องใช้เวลา 4-5 ปีกว่าจะให้ผล ปัจจุบันรัฐบาลได้แจกจ่ายเมล็ดพันธ์สายพันธ์ใหม่ให้เกษตรกรโดยไม่คิดมูลค่าไปแล้วจำนวน 114 ล้านเมล็ด (ประมาณ 3.6 ล้านฝัก)

2.      ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เกษตรกร

2.1  บริษัท MARS Incorporated ผู้ผลิตซ็อกโกเล็ตรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งให้การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทไนจีเรียจำนวน 4 คน เกี่ยวกับเทคนิกการปรับปรุงพันธุ์โกโก้ในอินโดนีเซีย โดยบุคลากรดังกล่าวจะนำความรู้ไปปรับปรุงสายพันธุ์โกโก้นำร่องในนิคมโอดา โกโก้ เอสเตทที่เมืองอาคูเร รัฐออนโด และนิคมอิคอม โกโก้ เอสเตท ในรัฐครอสริเวอร์ ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกรวม 200,000 เฮกตาร์

2.2  รัฐบาลไนจีเรียร่วมกับมูลนิธิเวิล์ด โกโก้จัดทำโครงการฝึกอบรมเทคนิกสมัยใหม่ในการเพิ่มผลผลิตแก่เกษตรกรชาวสวนโกโก้ไนจีเรียตามแผนระยะเวลา 3 ปีโดยมีเป้าหมายที่จะอบรมเกษตรกรจำนวน 100,000 รายและภายในปี 2018 การเพิ่มผลผลิตจะพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น

3.      การควบคุมมาตรฐานผลผลิต
ทางการไนจีเรียกำลังยกร่างมาตรการในการควบคุมคุณภาพและส่งเสริมแบนด์สินค้า โดยจะห้ามการใช้ยาฆ่าแมลงที่มีสารตกค้างเกินมาตรฐาน โดยขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ประกาศรายชื่อเคมีภัณฑ์การเกษตรที่อนุญาตให้ใช้ในสวนโกโก้แล้วดังนี้
-          Funguran OH; Ridomil Gold Plus 66WP และ Champ DP สำหรับกำจัดเชื้อรา
-          Actara 25WG สำหรับฆ่าแมลง

4.      จัดตั้งกลไกส่งเสริมการตลาดและการลงทุน

4.1  จัดตั้งบรรษัท Cocoa Marketing and Trade Development Corporation (CMTC) เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมการตลาด และเพิ่มมูลค่าสินค้าภายในประเทศ

4.2  จัดตั้ง กองทุน Cocoa Investment Fund เพื่อส่งเสริมการลงทุนทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับหวงโซ่มูลค่าของโกโก้

ผู้บริหารมูลนิธิโกโก้โลก (World Cocoa Foundation: WCF) ประเมินว่า หากรัฐบาลไนจีเรียดำเนินนโยบายเพิ่มผลผลิตในระดับนี้ไปเรื่อยๆ ในปี 2010 ไนจีเรียจะเป็นประเทศผู้ผลิตโกโก้อันดับหนึ่งของโลก