วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

ระวังยาปลอม



ระวังยาปลอม

คณะนักวิจัยในแผนกเคมีเภสัช คณะเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยลากอสได้เปิดเผยรายงานการวิจัยชิ้นหนึ่งว่า จากการวิจัยตรวจสอบพบว่ายารักษาโรคมาเลเรียที่วางขายอยู่ในรัฐลากอสนั้นร้อยละ 85 เป็นยาปลอม หรือเป็นยาที่ไม่ได้มาตรฐาน แม้ว่ายาดังกล่าวจะได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาไนจีเรียตามกฎหมายแล้วก็ตาม

เรื่องนี้เป็นปัญหาของการทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย กล่าวคือเมื่อองค์การอาหารและยาให้การรับรองยาไปแล้ว จำเป็นต้องส่งผู้ตรวจออกไปทำการสุ่มตรวจติดตามยาดังกล่าวในตลาดและที่วางขายอยู่ตามร้านต่างๆด้วยว่า มีใครไปทำปลอมหรือเลียนแบบยาดังกล่าวออกวางขายในท้องตลาดหรือไม่ โรงพยาบาลทั้งเอกชนและโรงพยาบาลของรัฐต้องรักษามาตรฐานในการจัดยาที่ได้รับการรับรองจากองค์การ และต้องมีระบบในการตรวจสอบมาตรฐานและยาปลอมอยู่เสมอ และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงต้องช่วยกันสอดส่งและรายงานหากทราบว่ามีโรงงานผลิตยาปลอมมาตั้งอยู่ในละแวกที่อยู่อาศัย

จริงๆแล้วไม่ว่าที่ไนจีเรียหรือที่เมืองไทยการระวังเรื่องยาปลอม ยาที่ไม่ได้มาตรฐานทำได้ยากมาก เพราะเวลาไปซื้อยา บอกชื่อยาแล้วคนขายยามักเสนอว่า มียาชื่ออื่นแต่ตัวยาเดียวกัน ราคาถูกกว่ายาที่ไปหาซื้อจะเอาไหม 

คอรัปชั่นในไนจีเรีย



คอรัปชั่นในไนจีเรีย

มีรายงานว่าหน่วยงานที่มีชื่อว่าสำนักงานประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและแรงงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานขึ้นกับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้ตีพิมพ์รายงานประจำปีเกี่ยวกับไนจีเรียว่า เป็นประเทศที่มีการคอรัปชั่นไปทั่วทุกหัวระแหง รายงานกล่าวว่า แม้ไนจีเรียจะมีกฎหมายเอาผิดต่อผู้ทุจริจ แต่ก็ปรากฏว่าข้าราชการของรัฐทุกระดับรวมถึงทหารต่างทุจคอรัปชั่นกันอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และรายงานยังกล่าวด้วยว่าการทุจริตคอรัปชั่นได้แผ่กระจายเข้าไปถึงวงการศาลยุติธรรมของไนจีเรียด้วยแล้ว

แน่นอนว่ารัฐบาลไนจีเรียออกมาปฏิเสธรายงานดังกล่าว และเห็นว่ารายงานของหน่วยงานกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นรายงานที่ขาดความรู้เกี่ยวกับประเทศไนจีเรียและไม่มีความเข้าใจในกิจการบ้านเมืองของไนจีเรีย  ส่วนพรรค PDP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลก็แถลงว่ารายงานดังกล่าวเป็นการสบประมาทบ้านเมืองไนจีเรีย

เรื่องนี้หนังสือพิมพ์ The Guardian ฉบับวันที่ 29 เมษายน 2556 ได้ลงพิมพ์บทบรรณาธิการเกี่ยวกับรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาดังกล่าว โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไนจีเรียยอมรับความจริงว่าบ้านเมืองมีปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ไม่ควรต้องให้ใครมาบอก และไม่ควรตอบโต้รายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาดังกล่าวอย่างไร้สติ ควรคิดแก้ไขปัญหาด้วยการปรับโครงสร้างการบริหารและการเมืองของไนจีเรีย โดยสร้างขีดความสามารถในการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นในระบบราชการ และปรับโครงสร้างการเมืองให้ลดการความสำคัญมูลค่าเชิงพาณิชย์มาเน้นการให้ความสำคัญกับงานบริการสาธารณะอย่างแท้จริง

วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556

ไนจีเรียส่งเสริมการเลี้ยงปลาน้ำจืด


ไนจีเรียส่งเสริมการเลี้ยงปลาน้ำจืด

ไนจีเรียมีพื้นที่ทำกินกว้างใหญ่ และมีประชากรกว่า 160 ล้านคน ใครมาเป็นรัฐบาลก็ต้องคิดเรื่องอาหารการกินของประชาชน

อาชีพหนึ่งที่รายการโทรทัศน์ของทางการแพร่ภาพบ่อย รวมทั้งมีเว็บไซต์ให้ข้อมูลหลากหลาย คืออาชีพในการเพาะเลี้ยงปลา โดยเฉพาะขณะนี้กำลังมีกระแสโฆษณาการเลี้ยงปลาดุก เพราะเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายโตเร็ว  และจับขายได้ง่าย ไม่ต้องใช้แรงงานมาก

ยิ่งมีการส่งเสริมมาก ก็ยิ่งมีกิจกรรมทางธุรกิจเข้ามาต่อยอดแนะให้ซื้อนั่น ซื้อนี่ และรวมถึงซื้อที่ดินเพื่อทำบ่อเลี้ยงปลา  บริษัทต่างๆที่ทำเว็บไซต์ขายสินค้าที่เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงปลาดุก ต่างยืนยันว่า การเพาะเลี้ยงปลาดุกขายจะทำกำไรให้ปีละเป็นสิบล้านไนร่า

คนที่ไม่มีทุนคิดว่าตนเองคงตกขบวนก็ไม่ต้องกลัว เพราะมีบริษัทที่ให้บริการติดต่อทำเรื่องขอกู้ธนาคารให้ บริการเหล่านี้หาอ่านได้ทางอินเตอร์เน็ต

ไม่ว่าอนาคตของการเลี้ยงปลาดุกจะเป็นอย่างไร แต่สถิติการบริโภคเนื้อปลาที่มีผู้นำมาเผยแพร่ไว้ก็คือคนไนจีเรียบริโภคเนื้อปลาปีหนึ่งคนละ 13.5 กิโลกรัม ประชากรทั้งหมดมี 160 ล้านคน (เอาตัวเลขกลมๆ) ปีหนึ่งๆก็จะมีความต้องการบริโภคปลาทั้งประเทศ 2 ล้านตัน แต่การผลิตเนื้อปลาภายในประเทศ (จากแหล่งน้ำธรรมชาติ จากการเพาะเลี้ยง) มีเพียง 671,000 ตัน ยังขาดอีก 1,328,000 ตัน



สถิตินี้เป็นสถิติคาดการณ์ที่ทำขึ้นมาตามวิชาสถิติศาสตร์ แต่เห็นตัวเลขแล้วก็อย่านึกว่าเป็นตัวเลขลวงตา เพราะสาขาวิชาการตลาดนั้นเขาก็ต้องมีวิธีหาสถิติแบบนี้ทั้งนั้น และหากเชื่อสถิติ ก็จะเห็นว่าตลาดการเลี้ยงปลาดุกยังมีอนาคต 

วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556

มะเร็งคร่าชีวิตคนไนจีเรีย



มะเร็งคร่าชีวิตคนไนจีเรีย

สำนักงานโครงการป้องกันมะเร็งแห่งชาติไนจีเรียรายงานว่า มะเร็งเป็นโรคร้ายหมายเลขหนึ่งที่สังหารชีวิตชาวไนจีเรีย  โดยทุกปี มีชาวไนจีเรียไม่ต่ำกว่า แปดหมื่นรายเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งชนิดต่างๆ หรือคิดเป็นผู้เสียชีวิตจำนวน 10 รายทุกๆชั่วโมง

รายงานกล่าวด้วยว่าจากการศึกษาของสำนักงานเพื่อการวิจัยมะเร็งเชื่อว่าอีก 17 ปีข้างหน้าจะมีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งรายใหม่ในไนจีเรียกว่า 21 ล้านราย และจะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปีละ 13 ล้านราย

สำนักงานดังกล่าวเปิดเผยว่าจากการออกทำกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการตื่นตัวของประชากรในรัฐลากอสเมื่อปี 2012 พบว่า ผู้ที่เข้ารับการตรวจหามะเร็งจำนวน 4 ใน 100 รายพบว่ามีมะเร็งปากมดลูก และ 14 ใน 100 ราย เป็นมะเร็งเต้านม

วันจันทร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2556

การค้าไทย – ไนจีเรีย 2012

การค้าไทย ไนจีเรีย 2012


การค้าระหว่างไทย ไนจีเรียในปี 2012 มีมูลค่ารวม 1,455.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เปรียบเทียบกับปี 2011 มูลค่า 1,436.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 19.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.3

มูลค่าการส่งออก 935.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เปรียบเทียบกับปี 2011 จำนวน 1,093.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจำนวน 157.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 18.7  สินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรกได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคหะสิ่งทอ เคมีภัฑ์ เครื่องดื่ม กระกาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ผ้าผืน

มูลค่าการนำเข้า 520.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เปรียบเทียบกับปี 2011 จำนวน 343.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้น 176.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 33.9 สินค้านำเข้าสำคัญ 10 อันดับแรกได้แก่ น้ำมันดิบ สินแร่โลหะอื่นๆ โลหะและผลิตภัณฑ์ ด้ายและเส้นใย เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ผลิตภัณ์สิ่งทออื่นๆ เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือน เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด สิ่งพิมพ์ เครื่องดนตรี ของเล่น เครื่องกีฬา

ที่มา: สถิติจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2556

นายกรัฐมนตรีโปแลนด์เยือนไนจีเรีย



นายกรัฐมนตรีโปแลนด์เยือนไนจีเรีย

เมื่อวันที่  10-12  เมษายน 2556 นายโดนัลด์ มัสค์ นายกรัฐมนตรีโปแลนด์และภริยาเดินทางมาเยือนไนจีเรียอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล โดยในระหว่างการเยือนได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการค้า การลงทุน การพัฒนาโครงสร้างอุตสาหกรรม เกษตรกรรม อุตสาหกรรม น้ำมันและแก๊ซ ภายหลังเสร็จสิ้นการเยือนรัฐบาลของทั้งสองประเทศได้ออกแถลงการร่วมเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2556 มีสาระสำคัญดังนี้
เห็นชอบให้มีการจัดตั้งกลไกสำหรับการเจรจาภายใต้บันทึกความเข้าใจที่ลงนามในครั้งนี้
สนับสนุนการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคง องค์การสหประชาชาติของไนจีเรียระหว่างปี 2014 – 2015
เห็นชอบให้รัฐมนตรีการค้าและลงทุน พาณิชย์ และอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศเร่งรัดการเจรจาความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมการค้าและการลงทุนให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
ยืนยันความสำคัญของการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวัฒนธรรมระหว่างประเทศทั้งสอง โดยโปแลนด์รับที่จะจัดให้มหาวิทยาลัยภายในประเทศรับนักเรียนแลกเปลี่ยนไนจีเรียเข้ารับการศึกษาในสาขาแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ในขณะที่ไนจีเรียรับจะจัดให้มหาวิทยาลัยไนจีเรียรับนักศึกษาแลกเปลี่ยนโปแลนด์เข้าศึกษาสาขาแอฟริกันศึกษาและสาขาที่เกี่ยวข้อง

ในการเยือนครั้งนี้มีนักธุรกิจโปแลนด์ร่วมเดินทางมากับคณะของนายกรัฐมนตรีจำนวน 30 คนประกอบด้วยผู้แทนจากธุรกิจด้านความมั่นคง พลังงาน น้ำมันและแก๊ซธรรมชาติ เหมืองแร่ ขนส่ง การขนส่งทางทะเล การก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมด้านอาหาร การให้คำปรึกษาและบริการด้าน  เข้าร่วมการประชุม Business Forum ในวันที่ 12 เมษายน 2556  ทั้งนี้คณะส่วนหนึ่งจำนวน 16 คนได้เดินทางไปเจรจาเพื่อหาลู่ทางด้านการค้าและการลงทุนกับผู้ว่าราชการรัฐอักวา อิบอมเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2556

วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2556

ไนจีเรีย/ออสเตรียลงนามความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน



ไนจีเรีย/ออสเตรียลงนามความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน

ระหว่างวันที่ 8 – 9 เมายน 2556 นายโอลุกเบนกา อาชิรุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไนจีเรียเดินทางไปเยือนประเทศสาะรณรัฐออสเตรียอย่างเป็นทางการเป็นเวลาสองวัน ภายหลังการเยือนได้มีการลงนามความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างไนจีเรียและออสเตรีย

ในโอกาสดังกล่าวรัฐมนตรีต่างประเทศไนจีเรียแจ้งให้รัฐบาลออสเตรียทราบถึงพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองของไนจีเรีย รวมถึงความพยายามของรัฐบาลไนการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายซึ่งคุกคามความมั่นคงของประเทศ ทั้งนี้รัฐมนตรีต่างประเทศไนจีเรียเสนอแนะให้ทั้งสองประเทศสนับสนุนและร่วมมือกันต่อไปในกรอบสหภาพยุโรป นอกจากจากนั้นทั้งสองฝ่ายได้ได้หารือถึงการปฏิบัติการทางทหารของกองกำลังสนับสนุนสันติภาพภายใต้การนำของแอฟริกา (AFISMA) ในประเทศมาลีและสถานการในกินีบิสเซา ทั้งนี้รัฐมนตรีต่างประเทศไนจีเรียเรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรียห้ารสนับสนุนกองกำลังรักษาสันติภาพในมาลี

มีรายงานด้วยว่าทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงความร่วมมือในเวทีการเมืองระหว่างประเทศโดยออสเตรียจะให้เสียงสนับสนุนไนจีเรียในการสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคง องค์การสหประชาชาติในปี 2014-15 และไนจีเรียจะให้เสียงสนับสนุนออสเตรียในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคง องค์การสหประชาชาติในปี 2027-2028

ในการหารือกับหอการค้าออสเตรีย รัฐมนตรีต่างประเทศไนจีเรียเชิญชวนให้นักธุรกิจออสเตรียเข้ามาลงทุนในประเทศไนจีเรียในสาขาพลังงาน เกษตร อุตสาหกรรม โครงสร้างอุตสาหกรรมและการขนส่ง ในขณะที่หอการค้าออสเตรียรับที่ร่วมมือกับภาคเอกชนไนจีเรียใกล้ชิดยิ่งขึ้นโดยจะเริ่มจากการจัดประชุม Business Forum ในสาขาที่รัฐมนตรีต่างประเทศไนจีเรียเสนอระหว่างวันที่ 13-15 พฤษภาคม 2013

นอกจากนั้นในการพบกับรองนายกรัฐมนตรีออสตรียรัฐบาลออสเตรียได้เสนอให้การฝึกอบรมนักการทูตไนจีเรียในสถาบันการทูตออสเตรียด้วย 

ไนจีเรียกำหนดจะจัดงานเทศกาลวัฒนธรรมขึ้นในออสเตรียในเดือนมิถุนายน 2013   

วันศุกร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2556

ประวัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ



ประวัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ชื่อเต็ม               นายโอลุกเบนกา อาโยเดจี อาชิรุ(OLUGBENGA AYODEJI ASHIRU)
เกิด                   27 สิงหาคม 1949 ที่เมือง Ijebu-Ode มลรัฐ Ogun ไนจีเรีย
สถานภาพสมรส   สมรสแล้วกับ พญ. Omokehinde Ashiru (สกุลเดิม DINA) มีบุตรชาย 4 คน

การศึกษา
-                       โรงเรียน Christ Church Primary School
1962 – 68           โรงเรียน Ijebuode Grammar School
-                        ศิลปศาสตร์บัณฑิต (สาขาประวัติศาสตร์ เอกวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ)มหาวิทยาลัยลากอส ไนจีเรีย

ประวัติการทำงาน
มิ.ย. 1972                      ผู้ช่วยเลขานุการ กระทรวงการต่างประเทศ
ก.ค. 1972 – พ.ค. 1974    ผู้ช่วยเลขานุการกรมแอฟริกา
มิ.ย. 1974 – ก.ค. 1977    เลขานุการเอกประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ก.ค. 1977 – ก.ค. 1979    เลขานุการเอก ประจำกระทรวงการต่างประเทศ
ก.ค. 1979 – ต.ค. 1982    ที่ปรึกษาอาวุโสประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน
ต.ค. 1982 – ส.ค. 1984    อัครราชทูตที่ปรึกษารักษาการหัวหน้ากอง กรมอเมริกา กระทรวงการต่างประเทศ
ส.ค. 1984 – พ.ย. 1985    อุปทูตประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุง ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกากลาง
ธ.ค. 1985 – ก.ย. 1988     อัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำสำนักงานข้าหลวงใหญ่ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
ต.ค.. 1988 – มี.ค. 1991   รองผู้อำนวยการกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ
พ.ค. 1991 – มี.ค.1999     เอกอัครราชทูตประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเปียงยาง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ)โดยดำรงตำแหน่งคณบดีทูตระหว่างปี 1996 – 1999) ต.ค. 1995 เลื่อนเป็นนักการทูตระดับพิเศษ กระทรวงการต่างประเทศไนจีเรีย
มี.ค. 1999 – มี.ค. 2002    ผู้อำนวยการ (รับผิดชอบงานภูมิภาค) กระทรวงการต่างประเทศไนจีเรีย
มี.ค. 2002 – ก.ย. 2005    ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
ต.ค. 2005 – ก.ย. 2007    เอกอัครราชทูตประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย ประเทศแอฟริกาใต้ ราชอาณาจักรเลโซโธ และราชอาณาจักรสวาซีแลนด์
ก.ค. 2011 - ปัจจุบัน         รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ปรับแก้: 18 เม.ย. 2556

วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2556

ตลาดข้าวไทยในไนจีเรีย


ตลาดข้าวไทยในไนจีเรีย

ไนจีเรียเป็นตลาดส่งออกข้าวไทยที่สำคัญในแอฟริกา โดยตลาดแห่งนี้มีสัดส่วนการส่งออกข้าวร้อยละ 14.85 ของการส่งออกข้าวของไทยไปตลาดโลก ทั้งนี้ เมื่อปี 2555 (ม.ค. ธ.ค.) การส่งออกข้าวไทยไปตลาดไนจีเรียมีมูลค่ารวม 677.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เปรียบเทียบกับปี 2554 มูลค่านำเข้าลดลงร้อยละ 12.58

ในปี 2556 (ม.ค. ธ.ค.) การส่งออกข้าวของไทยไปตลาดไนจีเรียอาจมีมูลค่าลดลง เนื่องจากการแข่งขันจากประเทศคู่แข่งรายอื่นอาทิ อินเดีย ซึ่งภายหลังจากยกเลิกมาตรการห้ามส่งออกข้าวเมื่อปลายปี 2554 ทำให้การนำเข้าข้าวอินเดียเพิ่มขึ้น  ทั้งนี้เป็นผลมาจากข้าวอินเดียมีราคาถูก ซึ่งเช่นเดียวกับข้าวเวียดนาม ปากีสถาน และสหรัฐอเมริกา เมื่อเปรียบเทียบกับราคาข้าวไทย

ปัจจัยที่ชะลอการนำเข้าข้าวไทยอีกประการหนึ่งคือการที่รัฐบาลไนจีเรียมีนโยบายสร้างความมั่นคงด้านอาหาร จึงส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกข้าวภายในประเทศและจำกัดการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ โดยการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าข้าวเป็นร้อยละ 110 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 เป็นต้นมา ซึ่งปัจจัยด้านภาษีนำเข้านี้มีรายงานจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ว่าส่งผลกระทบต่อการนำเข้าข้าวนึ่งของไทยในตลาดไนจีเรียในเดือนมกราคม ที่ผ่านมาโดยทำให้การส่งออกข้าวนึ่งไปไนจีเรียลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

ระวังอีเมลลวง



ระวังอีเมลลวง

ผู้หวังดีเตือนว่ามีอีเมลลวงคลาสสิกที่คนต่างชาติได้รับบ่อย จำแนกได้เป็น 6 เรื่องดังนี้
  1. ขอทราบหมายเลขบัญชีเงินฝากโดยแลกกับเงินก้อนงาม: อีเมลจะเล่าว่าข้าราชการตำแหน่งสูงรายหนึ่งกำลังหาวิธีโอนเงินจำนวนมหาศาล (อาจเป็น 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ออกนอกประเทศขอใช้เลขบัญชีเงินฝากของท่านโดยจะให้ค่าป่วยการ 10% ซึ่งหากใครหลงเชื่อบอกเลขบัญชีให้ไปก็จะถูกถอนเงินในบัญชีไปหมด
  2. ขอทราบบัญชีเงินฝากเพื่อโอนเงินบริจาค : อีเมลจะเล่าว่าผู้เขียนเป็นอดีตนักการเมือง มีความประสงค์จะบริจาคเงิน ขอทราบเลขบัญชีเงินฝากของท่านเพื่อโอนเงิน ซึ่งก็เช่นกัน หากใครตกหลุมบอกเลขบัญชีให้ไปก็จะถูกถอนเงินในบัญชีไปเช่นกัน
  3. ขอบริจาคเงิน: อีเมลจะเยนขอบริจาคเงินจำนวนไม่มากจากท่านเพื่อช่วยโครงการสังคมสงเคราะห์บางอย่าง ซึ่งหากใครใจดีมอบให้ ต่อมาจะขอเงินก้อนโตขึ้นอีก แต่หากไปตรวจชื่อองค์กรขอรับเงินบริจาคที่อีเมลอ้างถึงก็จะพบว่าไม่มีตัวตนอยู่จริง
  4. ชักชวนมาทำธุรกิจร่วมกัน: อีเมลจะชักชวนให้มาทำธุรกิจร่วมกันที่ไนจีเรีย โดยบอกว่าไม่ต้องทำวีซ่า เมื่อเหยื่อมาถึงสนามบินก็จะเข้าไปรับถึงประตูเครื่องบิน แต่จะไม่พาไปผ่านตม. และศุลกากร แล้วพากันไปดื่ม เสร็จแล้วก็บอกให้เหยื่อโอนเงินจำนวนหนึ่งให้เพื่อทำธุรกิจร่วมกัน ซึ่งหากเหยื่อปฏิเสธก็จะถูกเล่นงานในข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
  5. หลอกขายอสังหาริมทรัพย์: เรื่องนี้คนที่กำลังหาซื้ออสังหาริมทรัพย์พวกบ้านและที่ดินต้องระวัง เพราะมุขนี้เกิดบ่อยมาก คืออยู่ๆก็มีคนส่งอีเมลมาเสนอตัวว่าเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่คุณกำลังอยากได้  และเจรจาทำสัญญาซื้อขายกับคุณจนคุณจ่ายเงินจ่ายทองไปแล้ว ทีนี้ก็จะหายตัวไปเลย
  6. หลอกคนที่บ้านให้โอนเงิน: อีเมลจะเขียนมาแจ้งคนที่บ้านว่าคุณต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลด่วนขอให้ส่งเงินให้เดี๋ยวนี้  ใครหลงเชื่อก็สูญเงินเปล่าทันทีเช่นกัน 

โรคโปลิโอยังระบาดในไนจีเรีย



โรคโปลิโอยังระบาดในไนจีเรีย

ตามรายงานขององค์การอนามัยโลกมี 3 ประเทศที่ยังพบการแพร่ระบาดของโรคโปลิโอ ได้แก่ประเทศไนจีเรีย แอฟกานิสถาน และปากีสถาน  โดยในกลุ่มนี้องค์การอนามัยโลกให้ความสนใจติดตามการแพร่ระบาดในไนจีเรียอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบจำนวนผู้ป่วยในประเทศไนจีเรียสูงกว่าแอฟกานิสถานและปากีสถานมาก โดยเฉพาะเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา ตรวจพบผู้ป่วยโรคโปลิโอในไนจีรียกว่า 100 ราย ซึ่งนับว่าสูงมาก โดยพื้นที่ซึ่งพบผู้ป่วยมากที่สุดเป็นบริเวณรัฐในภาคเหลือ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม

จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลกพบว่าอุปสรรคที่ทำให้รัฐบาลไนจีเรียไม่สามารถทำวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอให้หมดไปจากประเทศได้เหมือนประเทศอื่นๆ เนื่องจากประชากรในรัฐภาคเหนือส่วนมากไม่เห็นความสำคัญของการทำวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอให้แก่บุตรหลาน และยังมีความเข้าใจผิดว่าวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอเป็นตัวยาคุมกำเนิดเด็กมุสลิมในรัฐภาคเหนือ การทำวัตซีนโปลิโอจะทำให้ไม่สามารถมีบุตรสืบสกุลได้ นอกจากนั้นยังมีพ่อแม่อีกจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่าการที่เจ้าหน้าที่นำวัคซีนโปลิโอไปให้บริการถึงครัวเรือนเป็นเรื่องน่ารำคาญสำหรับตน เพราะโรคภัยใกล้ตัวชาวบ้านในชีวิตประจำวันคือโรคไข้มาเลเรีย ซึ่งควรนำยารักษาโรคไข้มาเลเรียไปให้มากกว่าการไปให้บริการทำวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ

เมื่อตายในต่างประเทศ



เมื่อตายในต่างประเทศ

กรณีที่มีผู้เสียชีวิตและคนที่อยู่ข้างหลังต้องการส่งศพกลับไปประกอบพิธีทางศาสนาในประเทศไทยนั้น เอกสารเหล่านี้จำเป็นต้องนำไปแสดงต่อเอเยนต์สายการบิน ได้แก่
  1. ใบมรณบัตร (Certificate of Cause of Death) จากโรงพยาบาล
  2. ใบรับรองการฉีดยาศพ (Certificate of Embalmment) จากโรงพยาบาล
  3. หลักฐานการยกเลิกหนังสือเดินทางของผู้ตาย หรือหนังสือแจ้งจากสถานทูต
  4. ข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับปลายทาง (ชื่อ/นามสกุล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้)
  5. ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ส่งศพ
  6. วันที่ที่ต้องการส่งศพ
  7. สายการบินบางสายกำหนดขนาดของหีบศพไม่เกินความยาว 280 เซนติเมตร กว้าง 90 เซนติเมตร และสูง 80 เซนติเมตร
ทั้งนี้ผู้ส่งศพจะต้องชำระเงินค่าส่งก่อนที่บริษัทจะออกแอร์เวย์บิล และเมื่อชำระเงินแล้วสายการบินบางสายจะรออีกสองสามวันเพื่อตรวจสอบให้ผู้รับศพปลายทางยืนยัน และภายหลังจากสายการบินได้รับการยืนยันจากปลายทางแล้วจะแจ้งให้ผู้ส่งศพนำหีบศพไปมอบให้ที่สนามบินก่อนเวลา 16.00 น. เพื่อดำเนินขั้นตอนในการจัดส่งต่อไป

อย่างไรก็ตามเพื่อให้การดำเนินการไม่ติดขัดควรสอบถามบริษัทเอเย่นต์รับส่งให้แน่นอนว่าต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ขอได้จากหน่วยงานไหน เพราะสายการบินอาจมีระเบียบไม่เหมือนกัน รวมทั้งรัฐต่างๆอาจปฏิบัติไม่เหมือนกัน

วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556

สำนักงานพยากรณ์อากาศแห่งชาติเตือนภัยโรคระบาดต้นฤดูฝน




สำนักงานพยากรณ์อากาศแห่งชาติเตือนภัยโรคระบาดต้นฤดูฝน

สำนักงานพยากรณ์อากาศแห่งชาติไนจีเรีย (National Weather Office) แถลงว่าโดยที่อากาศในขณะนี้เป็นช่วงปลายฤดูร้อนต้นฤดูฝน ซึ่งมีลักษณะอากาศร้อนแล้งและความชื้นสูง อุณภูมิเฉลี่ยประมาณ 36 – 42 องศาเซลเซียส เป็นช่วงที่มีโรคระบาดหลายโรค อาทิ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไข้เลือดออก วัณโรค หัด อีสุกอีใส ผิวหนังอักเสบ ฝี สิว

กลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวได้แก่ ทารก เด็ก คนแก่ และคนสุขภาพไม่แข็งแรงโดยเฉพาะผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจ หรือโรคความดันโลหิตสูง

วันพุธที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556

กระทรวงพาณิชย์ เผย ไทยยังส่งออกไปไนจีเรียได้ดี โดยสินค้าสําคัญ คือ ข้าว ยาง และยานยนต์




กระทรวงพาณิชย์ เผย ไทยยังส่งออกไปไนจีเรียได้ดี โดยสินค้าสําคัญ คือ ข้าว ยาง และยานยนต์


นางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับไนจีเรีย ว่า ไนจีเรีย เป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย ในภูมิภาคแอฟริกา โดยปี 2555 มีมูลค่าการค้ารวมกันกว่า 1,450 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ามาตลอด

สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปไนจีเรีย คือ สินค้าข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบเคมีภัณฑ์ เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติก ไม้ และผลิตภัณฑ์ไม้ ในขณะที่สินค้านำเข้าส่วนใหญ่จากไนจีเรีย คือ น้ำมันดิบก๊าซธรรมชาติ โลหะ เครื่องเพชร พลอย อัญมณี ซึ่งมีโอกาสที่จะสามารถขยายการค้ารวมกันได้อีกมาก

ที่มา: ข่าวเว็บไซต์ http://money.th.msn.com วันที่ 28 มีนาคม 2556

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผย พร้อมเจรจาร่วมมือไทย -ไนจีเรีย ขยายการค้าการ การลงทุน ให้มากขึ้น




รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผย พร้อมเจรจาร่วมมือไทย -ไนจีเรีย ขยายการค้าการ การลงทุน ให้มากขึ้น


นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลัง เอกอัครราชทูตไนจีเรีย ประจำประเทศไทย เข้าพบ ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ ว่า ทั้ง 2 ประเทศ ยินดีที่จะกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากขึ้น โดยเฉพาะทางด้านการค้าและการลงทุน ทั้งในระดับภูมิภาค และระดับทวิภาคี โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เห็นด้วย ที่จะให้มีการจัดประชุมทวิภาคี ระหว่างไทยกับไนจีเรีย และในกรอบการประชุมคณะกรรมาการร่วมทางการค้า หรือ เจทีซี ไทย -ไนจีเรีย ซึ่งทางไนจีเรีย เสนอให้มีการร่วมมือทางด้านสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และการบริการ ซึ่งสินค้าที่คาดว่าจะสามารถได้รับความร่วมมือ เช่น สินค้าข้าว น้ำตาล เครื่องดื่ม สิ่งทอ และอัญมณี โดยประเทศไทย เป็นฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยีทางด้านการพัฒนาสินค้าเกษตรและเพิ่มมูลค่าสินค้าให้

ที่มา: ข่าวเว็บไซต์ http://money.th.msn.com วันที่ 28 มีนาคม 2556

ไทย-ไนจีเรีย พร้อมร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตรระหว่างกัน หวังเชื่อมโยงการค้าการลงทุนด้านการเกษตรระหว่างสองประเทศ



ไทย-ไนจีเรีย พร้อมร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตรระหว่างกัน หวังเชื่อมโยงการค้าการลงทุนด้านการเกษตรระหว่างสองประเทศ


นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสหารือร่วมกับนายชูดวูดี้ นิววิงตั้น โอคาฟอร์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียประจำประเทศไทยว่า แม้ว่าไนจีเรียจะเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรของไทย แต่ยังพบว่ามีมูลค่าการส่งออกไม่มากนัก

ปัจจุบันไนจีเรียเป็นประเทศที่ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปเป็นอันดับที่ 12 โดยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปไนจีเรียเพียงร้อยละ 2.35 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปตลาดโลก คิดเป็นมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเฉลี่ยปีละประมาณ 21,945 ล้านบาท โดยมีอัตราการส่งออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.03 ต่อปี ซึ่งสินค้าเกษตรหลักที่ส่งออกได้แก่ ข้าว ข้าวกล้อง น้ำตาล ข้าวโพดหวาน ปลาทูนาปรุงแต่ง เป็นต้น

การหารือร่วมกันในครั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยืนยันถึงความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือทางด้านวิชาการเกษตรแก่สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย เช่น การฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีด้านการเกษตร และการแปรรูปสินค้าเกษตร ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการขยายขีดความสามารถในการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะขณะนี้ถือว่าทวีปแอฟริกาได้มีการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่องและน่าจะเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนของรายละเอียดโครงการความร่วมมือต่างๆ นั้น ทางสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียจะแจ้งผ่านกระทรวงต่างประเทศของไทยต่อไป

ที่มา : ข่าวประชาสัมพันธ์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วันที่ 14 มี.ค. 2556 

วันอังคารที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2556

มาตรการกำกัดการนำเข้า( Import Restriction) ข้าวจากต่างประเทศ


มาตรการกำกัดการนำเข้า( Import Restriction) ข้าวจากต่างประเทศ

เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่ารัฐบาลไนจีเรียมีนโยบายส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตข้าวภายในประเทศ ดังนั้นจึงได้ออกมาตรการหลายประการเพื่อกำกัดการนำเข้า( Import Restriction) ข้าวจากต่างประเทศ ได้แก่

มาตรการภาษี : ปัจจุบันไนจีเรียกำหนดภาษีนำเข้าเมล็ดพันธ์ ต้นกล้า และเมล็ดข้าวที่ยังไม่ได้สีในอัตราร้อยละ 5 เพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนตั้งโรงสีข้าวภายในประเทศ หรือปลูกข้าวภายในประเทศ ในขณะที่กำหนดภาษีนำเข้าข้าวขาวในอัตราร้อยละ 110

มาตรการกำหนดราคากลาง: รัฐบาลไนจีเรียจะกำหนดราคากลาง (benchmark price)สำหรับข้าวชนิดต่างที่นำเข้าจากแหล่งต่างๆทั่วโลกเป็นระยะ โดยปัจจุบันราคากลางอยู่ที่ 690 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน โดยภาษีนำเข้าจะคำนวณจากราคากลางนี้โดยไม่สนใจต่อราคา FOB ที่แท้จริง องค์กรที่เสนอแนะให้รัฐบาลใช้ราคากลาง ที่กำหนดนี้ประกอบด้วย คณะกรรมการว่าด้วยการค้าที่ไม่ชอบธรรมของประธานาธิบดี/ กระทรวงเกษตร กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม  กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ผู้ประกอบการโรงสี ผู้นำเข้า และผู้ค้าส่ง ราคากลางนี้จะรวมค่าขนส่งเข้าไว้ด้วย

มาตรการกำหนดสถานที่นำเข้า: ไนจีเรียห้าม การนำเข้าข้าวผ่านชายแดน แต่อนุญาตให้นำเข้าผ่านท่าเรือเท่านั้น โดยรัฐบาลไนจีเรียอ้างว่ามาตรการดังกล่าวเพื่อเป็นการลดการได้เปรียบเสียเปรียบจากการที่ผู้นำเข้าทางบกหลีกเลี่ยงการเเสียถาษี

คนไนจีเรียทานข้าว




คนไนจีเรียทานข้าว

ข้าวเป็นอาหารหลักของชาวไนจีเรีย ทั้งนี้เนื่องจากข้าวปรุงง่ายและปรุงได้หลากหลายวิธี แม้ว่าไนจีเรียจะมีอาหารพื้นบ้านที่ทานแทนข้าวได้ อาทิ แยม ถั่วคาวพี และข้าวโพด แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผลผลิตยังมีไม่มากพอ และเทียบกับข้าวแล้วมีราคาแพงกว่าข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาแพงและมักบริโภคอยู่กลุ่มผู้บริโภคในเมือง ในขณะที่ข้าวพื้นเมืองจะบริโภคกันในกลุ่มชาวพื้นเมืองในชนบท แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าข้าวพันธุ์พื้นเมืองคุณภาพไม่ดี เพราะข้าวพันธุ์พื้นเมืองบางพันธุ์เช่นพันธุ์ โอฟาดา (Ofada) เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่ซื้อขายในราคาแพง

จากการที่ประชากรเพิ่มขึ้นและการที่รายได้ประชากรสูงขึ้น ความนิยมบริโภคข้าวจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปี โดยเมื่อปีการผลิต 2011/2012 การนำเข้าข้าวมีปริมาณ 2.5 ล้านตัน โดยในช่วงไตรทาสสุดท้ายปี 2011 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากรัฐบาลอินเดียเลิกมาตรการห้ามส่งออกข้าวที่มิใช่พันธุ์บัสมาติ ทำให้ผู้นำเข้าไนจีเรียเร่งนำเข้าข้าวราคาถูกจากอินเดียจำนวนมาก สำหรับการนำเข้าข้าวในปีการผลิต 2012/2013 คาดว่ามีปริมาณ 2.3 ล้านตัน โดยแหล่งนำเข้าข้าวที่สำคัญของไนจีเรียได้แก่ ประเทศไทย อินเดีย บราซิล และจีน

ผลผลิตข้าวในไนจีเรีย




ผลผลิตข้าวในไนจีเรีย

ตามแผน ATAP ข้าวเป็นผลืตผลการเกษตรหนึ่งในห้าชนิดที่รัฐบาลตั้งเป้าในการเพิ่มผลผลิต โดยเฉพาะข้าวนั้นตั้งเป้าว่าจะต้องเพิ่มผลผลิตจากปัจจุบันผลิตได้ปีละ 2.7-3 ล้านตันเป็นปีบีละ 7 ล้านตันในปี 2015 ทั้งนี้โดยรัฐบาลคำนวณจากพื้นที่เพาะปลูกที่ยังมีอยู่จำนวนมาก ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ตั้งเป้าไว้ด้วยว่าในการเพิ่มผลผลิตเป็นสองเท่าตัวดังกล่าวจะสามารถสร้างงานเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านตำแหน่งงาน

ในปีการผลิต 2012/2013 ผลผลิตข้าวไนจีเรียทั่วประเทศมีประมาณ 2.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากผลผลิตปี 2011/2012 ซึ่งมีปริมาณ 2.7 ล้านตัน

มีรายงานว่าเกษตรกรมีความตื่นตัวในการที่จะเพิ่มผลผลิตข้าวตามนโยบายสนับสนุนของรัฐบาล แต่โรงสีข้าวยังไม่เพียงพอและอยู่ห่างไกลจากแหล่งผลิตของเกษตรกร ขณะเดียวกันผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของไนจีเรียได้เริ่มลงทุนในอุตสาหกรรมสีข้าวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้รวมถึงบริษัท Veetee Rice ในรัฐโฮกุน บริษัท Olam ในรัฐลากอส รัฐเบนู รัฐนาซาราวา และรัฐควารา บริษัท Stallion ในรัฐลากอส โดยมีบางบริษัทจัดตั้งพื้นที่เพาะปลูกเฉพาะเพื่อให้เกษตรกรส่งผลผลิตข้าวป้อนโรงสีของบริษัทด้วย

Agriculture Transformation Action Plan




Agriculture Transformation Action Plan

ปัจจุบันรัฐบาลไนจีเรียมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาการเกษตรโดยเน้นการเพิ่มผลผลิตและการจ้างงานในขณะเดียวกัน  โดยมีแผนงานระดับชาติเรียกว่า Agriculture Transformation Action Plan (ATAP) ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มผลผลิตผลิตผลการเกษตรพื้นฐานของประเทศ  5 ประเภท ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ถั่ว โกโก้ และฝ้าย

ตามแผนดังกล่าวรัฐบาลมีเป้าหมายในการผลิตข้าวให้พอเพียงแก่การบริโภคภายในประเทศ โดยใช้มาตรการสองประการหลักได้แก่การขึ้นภาษีอากรข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศ และการเพิ่มงบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรในการเพิ่มผลผลิตจากจำนวน 3.4 ล้านตันในปัจจุบันเป็น 7.4 ล้านตันในปี 2015
ในการผลักดันนโยบายให้เป็นรูปธรรม รัฐบาลไนจีเรียได้ดึงภาคเอกชนเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการในการจำหน่ายปุ๋ยให้แก่เกษตรกร แทนนโยบายเดิมซึ่งทำกันมา 15 ปี โดยภาครัฐให้การช่วยเหลือด้านปุ๋ยแก่เกษตรกรด้วยการให้การอุดหนุนในอัตราร้อยละ 25 ทั้งนี้โดยภาครัฐเป็นผู้เรียกประมูลราคาปุ๋ยและจัดส่งปุ๋ยให้แก่เกษตรกร ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวแม้ว่าจะเป็นนโยบายที่แสดงความปรารถนาดี แต่ปรากฏว่าในการดำเนินงานมีเกษตรกรทั่วประเทศเพียงร้อยละ 11 เท่านั้นที่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการดังกล่าวของรัฐ การนำกลไกภาคเอกชนเข้ามาดำเนินงานนี้คาดว่าเกษตรกรร้อยละ 95 จะสามารถเข้าถึงปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลผลิต

นโยบายอีกประการหนึ่งที่นำมาใช้ในขณะนี้ คือการที่รัฐบาลประกาศให้เกษตรกรรมเป็นธุรกิจไม่ใช่โครงการการพัฒนาอย่างที่เคยทำกันมาเดิม โดยหวังว่า การเปลี่ยนวิธีคิดเช่นนี้จะช่วยในการพัฒนาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับภาคเอกชนเพื่อกระตุ้นการลงทุนในภาคเกษตรกรรม ซึ่งการที่จะบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรมตามแนวคิดนี้ รัฐบาลเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาห่วงโช่มูลค่าที่ไนจีเรียมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบด้วย