วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวสวนโกโก้ที่ไนจีเรีย



มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวสวนโกโก้ที่ไนจีเรีย

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2009 มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ร่วมกับบริษัทอุตสาหกรรมว็อกโกเล็ต 14 รายได้ประกาศให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาชีวิตชาวสวนโกโก้(Cocoa Livelihoods Program: CLP)ในประเทศไนจีเรีย โดยมีเป้าหมายว่าภายใน 5 ปี (ปี 2014)จะยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวสวนโกโก้ไนจีเรียจำนวน 30,000 รายให้ดีขึ้น

อันที่จริงโครงการ CLP เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นในประเทศที่มีการเพาะปลูกโกโก้ 5 ประเทศได้แก่ไนจีเรีย กานา โกตดิวัวร์ คาเมรูน และไลบีเรีย โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวสวนโกโก้จำนวน 200,000 คนในระยะเวลา 5 ปี

โครงการ CLP บริหารจัดการโดยมูลนิธิโกโก้โลกหรือ World Cocoa Foundation โดยมอบให้5 องค์การรับผิดชอบดำเนินการ ได้แก่ Agribusiness Services International (ASI) an ACDI/VOCA affiliate, Deutsche Gesellschaft fur Technische Zusammenarbeit (GTZ) GmbH, the International Institute of Tropical Agriculture (IITA)/Sustainable Tree Crops Program (STCP), SOCODEVI and TechnoServe. โดยมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ร่วมกับบริษัทเอกชนซึ่งเป็นผู้ผลิตซ็อกโกเล็ตรายใหญ่อาทิ The Hershey Company, Kraft Foods and Mars, Incorporated; cocoa processors Archer Daniels Midland Company, Barry Callebaut, Blommer Chocolate Company and Cargill; and supply chain managers and allied industries Armajaro, Guittard Chocolate Company, Ecom-Agrocacao, Noble Resources S.A., Olam International Ltd., Starbucks Coffee Company and Transmar Commodity Group Ltd.เป็นผู้สนับสนุนทางการเงิน ทั้งนี้กระทรวงความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจของเยอรมนีได้ให้การสนับสนุนด้วยอีกส่วนหนึ่ง

ที่สนามบิน



ที่สนามบิน

ผู้โดยสารอายุ 18 ปีขึ้นไปที่เดินทางเข้า/ออกประเทศผ่านทางสนามบินนานาชาติ ที่กรุงอาบูจาหรือที่นครลากอสควรทราบว่าทางการไนจีเรียมีระเบียบเกี่ยวกับการจำกัดการนำเข้าและห้ามการนำเข้าสิ่งของบางรายการ รวมถึงห้ามนำสิ่งของบางอย่างออกนอกประเทศดังนี้

สิ่งของที่จำกัดการนำเข้า
            เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์  -วิสกี้คนละ 1 ลิตร  ไวน์ คนละ 1 ลิตร
            ยาสูบ                            -บุหรี่คนละ 200 มวน ซิการ์ คนละ 50 มวน ยาเส้น คนละ 200 กรัม
            น้ำหอม                          -อนุญาตให้นำเข้าได้ปริมาณ 284 มิลลิลิตร

สิ่งของห้ามนำเข้า
-          แชมเปญ สพาร์กลิงไวน์ เบียร์ น้ำแร่ และเครื่องดื่มซอฟดริ้ง
-          ผลไม่ ผัก ธัญพืช ผลิตภัณฑ์จากข้าว ข้าวโพด หรือข้าวสาลี และไข่ (ทั้งไข่ดิบและไข่ที่ทำการถนอมอาหารไว้ในรูปแบบต่างๆ)
-          อาวุธปืนและกระสุน
-          ดอกไม้เพลิง
-          ยาเสพติดและยารักษาโรค (ผู้โดยสารอาจนำยารักษาโรคที่ออกใบสั่งยาโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์ติดตัวเข้ามาได้)
-          อัญมณี (เกินกว่าที่จะนำมาใช้ประดับส่วนตัว)และโลหะมีค่า
-          เส้นใยสังเคราะห์สิ่งทอที่ยังไม่ได้แปรรูป และมุ้ง

สิ่งของห้ามนำออกโดยไม่ได้รับอนุญาต
            -ตามกฎหมายไนจีเรีย การซื้อ/ขายวัตถุโบราณจะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมโบราณคดี(พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาตินครลากอส) หรือผู้ได้รับมอบอำนาจ ผปู้โดยสารขาออกที่ประสงค์จะนำโบราณวัตถุออกนอกประเทศต้องติดต่อขออนุญาตก่อนการเดินทาง

อย่างไรก็ตาม เมื่อซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินควรสอบถามเรื่องข้างต้นให้แน่ใจ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาเมื่อเดินทางเข้าประเทศ

ผู้สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://www.customs.gov.ng/ProhibitionList/import.php


อย่า

วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

ประชากรไนจีเรีย



ประชากรไนจีเรีย


ประชากรไนจีเรียเมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2554 มีประมาณ 162.47 ล้านคน เปรียบเทียบกับจำนวน 45.2 ล้านคน เมื่อปี 2505 (ค.ศ. 1960) ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาจำนวนประชากรของไนจีเรียเพิ่มขึ้นร้อยละ 251 จากสถิติดังกล่าวทำให้ไนจีเรียมีจำนวนประชากรประมาณ หนึ่งในหกของประชากรทั้งหมดในทวีปแอฟริกา

ไนจีเรียเป็นประเทศที่มีประชากรหลากหลายประมาณ 250 เผ่า โดยเผ่าที่มีจำนวนมากที่สุดทางภาคเหนือของประเทศ คือ เผ่าเฮาซา-ฟูลานี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิม เผ่าใหญ่รองลงมาในภาคเหนือได้แก่ นูเป  ทิฟ และคานูรี ส่วนทางตะวันตกเฉียงใต้นั้นเผ่าโยรุบาสเป็นเผ่าใหญ่ที่สุด โดยจำนวนกว่าครึ่งเป็น คริสเตียน หนึ่งในสี่เป็นมุสลิม และที่เหลือนับถือความเชื่อดั้งเดิมของเผ่าโยรุบาส ส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ประชากรส่วนใหญเป็นเผ่าอิกโบซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นคริสเตียนนิกายโรมันคาธอลิกมากที่สุด แต่ก็มีที่นับถือนิกายเพนตีคอสตัล แองกลิกันและอีแวนเจลิคัลอยู่มากเช่นกัน นอกจากเผ่าอิกโบแล้วในพื้นที่ดังกล่าวยังมีชุมชนของเผ่าอีฟิก อิบิบิโอ อันนังและอิจอว์ (เผ่าใหญ่เป็นอันดับสี่ของไนจีเรีย) พำนักอาศัยอยู่หนาแน่นด้วย ปกติคนจากต่างเผ่าจะติดต่อเจรจากันด้วยภาษาอังกฤษ นอกจากนั้นยังนิยมใช้ภาษาเฮาซา โยรุบา และอิกโบด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันประชากรไนจีเรียมีจำนวนประมาณร้อยละ 2.29 ของประชากรโลก หรือประชากรโลกทุกๆ 44 คนเป็นผู้ที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไนจีเรีย 1 คน สำนักงานประชากรสหรัฐอเมริกาประมาณว่าในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ไนจีเรียจะมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 402 ล้านคน ซึ่งจะทำให้ไนจีเรียมีประชากรมากเป็นอันดับสี่ของโลก

เครดิตภาพ: จากเว็บไซต์ http://realnigeria.org/photos3.asp

เมืองใหญ่ในไนจีเรียที่มีประชากรเกิน 1 ล้านคน

นครลากอส เมืองหลวงเก่าและศูนย์กลางการค้าของไนจีเรีย


เมืองใหญ่ในไนจีเรียที่มีประชากรเกิน 1 ล้านคน

ไนจีเรียเป็นประเทศใหญ่มีประชากร 162 (ธนาคารโลก ปี 2554) เมืองใหญ่ของไนจีเรียที่มีประชากรเกินกว่า 1 ล้านคนตามสถิติที่ประเมินปี 2555 ดังนี้
ลากอส (Lagos)                         11,547,000 คน

คาโน (Kano)                             3,466,000 คน

อิบาดัน (Ibadan)                        3,028,000 คน 

อาบูจา (Abuja)                          2,245,000 คน

พอร์ต ฮาร์คอร์ท (Port Harcourt) 1,947,000 คน

คาดูนา (Kaduna)                       1,566,000 คน                         

เบนิน (Benin City)                     1,398,000 คน

ซาเรีย(Zaria)                             1,075,000 คน

เครดิตภาพ: จากเว็บไซต์ http://realnigeria.org/photos3.asp

โกโก้ : ไนจีเรียเป็นมหาอำนาจอันดับสี่



โกโก้ : ไนจีเรียเป็นมหาอำนาจอันดับสี่

ไนจีเรียมีผลผลิตโกโก้มากเป็นอันดับสี่ของโลก โดยผลิตได้ร้อยละ 7 ของผลผลิตรวมทั่วโลก หรือจำนวน 4.025 ล้านตัน ประเทศที่มีผลผลิตโกโก้มากกว่าไนจีเรียสามประเทศได้แก่โกตดิวัวร์(36%) กานา (19%) และอินโดนีเซีย(14%)

ไนจีเรียปลูกโกโก้ในพื้นที่ 14 รัฐได้แก่รัฐออนโด ครอสริเวอร์ โอซัน อีโด โอโย เอคิติ ควารา โคกิ อะควาอิบรอม เดลต้า อาเบีย ทาราบา และรัฐอะดามาวา โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกโกโก้ของไนจีเรียเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กล่าวคือ เมื่อปี 2006 ส่งออกมูลค่า 215.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2007 มูลค่า 312.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2008 มูลค่า 487.8 ล้านดอลล์สหรัฐ ปี 2009 มูลค่า 662.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2010 มูลค่า 822.8 ล้านดอลลาร์ และปี 2011 มูลค่า  533.3   ล้านดอลลาร์สหรัฐ(ช่วง 5 เดือนแรก) ปัจจุบันการส่งออกโกโก้มีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 35 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าในภาค non-oil โดยรัฐบาลมีนโยบายที่จะเพิ่มมูลค่าการส่งออกเป็นร้อยละ 40 ของมูลค่าสินค้าในภาค non-oil

วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

แผนแม่บทเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลไนจีเรีย

ดร.โอลูเซกุน อากันกา 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และส่งเสริมการลงทุนไนจีเรีย


แผนแม่บทเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลไนจีเรีย

ไนจีเรียเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศมากเป็นอันดับสี่ของโลก โดยมีอุปสงค์สำหรับการบริโภคภายในประเทศปีละ 1.3 ล้านตัน แต่สามารถผลิตน้ำตาลได้เพียงปีละ 35,000 ตันเท่านั้นทำให้ไนจีเรียต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าน้ำตาลเพื่อการบริโภคร้อยละ 90 เป็นจำนวนมาก โดยเมื่อปี 2011 มูลค่าการนำเข้าสูงถึง 657 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2010 มูลค่า 482.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2009 มูลค่า 385 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2008 มูลค่า 327.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2007 มูลค่า 313 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์  2012 สภาพัฒนาน้ำตาลแห่งชาติ (National Sugar Development Council: NSDC) ซึ่งเป็นองค์กรสังกัดกระทรวงพาณิชย์และส่งเสริมการลงทุนไนจีเรียได้เสนอแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาน้ำตาลไนจีเรีย (Nigeria Sugar Master Plan: NSMP) ต่อคณะกรรมาธิการเพื่อการบริหารจัดการเศรษฐกิจ กระทรวงการคลัง และต่อมาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2012 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาน้ำตาลไนจีเรียฉบับดังกล่าว ซึ่งเป็นแผนพัฒนาระยะยาว 10 ปี มีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการผลิตและการลงทุนอุตสาหกรรมน้ำตาลครบวงจร โดยมีเป้าหมายดังนี้  1) ผลิตน้ำตาลภายในประเทศได้ปีละ 1,797,000 ตัน 2) ผลิตเอเทอร์นอลปีละ 161.2 ล้านลิต 3) ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละ 400 เมกาวัตต์ 4) ผลิตอาหารสัตว์ได้ปีละ 1.6 ล้านตัน 5) สร้างงาน 37,378 ตำแหน่ง 6) ประหยัดเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงปีละ  65.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 7) ประหยัดเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าน้ำตาลปีละ 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามแผนแม่บทดังกล่าวรัฐบาลให้ความสำคัญต่อมาตรการจูงใจนักลงทุนเป็นสำคัญโดยเฉพาะการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร รวมทั้งให้การสนับสนุนบริษัทน้ำตาลภายในประเทศสามรายซึ่งประกอบธุรกิจอยู่ในขณะนี้ด้วย 

วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

สถานการณ์ HIV ในไนจีเรีย



สถานการณ์ HIV ในไนจีเรีย

ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องตรวจพบในประเทศไนจีเรียเมื่อปี 1985 รัฐบาลไนจีเรียได้รายงานให้ที่ประชุมโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องระหว่างประเทศทราบ ต่อมาในปี 1987 กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องแห่งชาติขึ้น โดยไม่ช้าหลังจากนั้นก็ได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาชำนาญการโรค๓มิคุ้มกันบกพร่องแห่งชาติ


ช่วงแรกๆ รัฐบาลไนจีเรียเชื่องช้าในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรค จนกระทั่งปี 1999 กระทรวงสาธารณสุขจึงเริ่มประเมินสถานการณ์โรคภูมิคุเมกันบกพร่องในประเทศ ซึ่งผลปรากฏว่าประชากรไนจีเรียร้อยละ 1.8 ติดเชื่อและสถิติการตรวจช่วงทศวรรษ 1990 พบว่าในปี 1993 ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.8 แบะต่อมาในปี 1998 เพิ่มเป็นร้อยละ 4.5 

เมื่อประธานาธิบดีโอลูเซกุน โอบาซันโจได้รับเลือกตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ไนจีเรียเมื่อปี 1999 ปัญหาการป้องกัน การรักษาและการพยาบาลผู้ป่วยเป็นปัญหาระดับชาติ ประธานาธิบดีจึงตั้ง กรรมาธิการโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และกรรมาธิการปฏิบัติการโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องห่งชาติ และต่อมาเมื่อปี 2001   ได้ประกาศแผนปฏิบัติการณ์ฉุกเฉินสามปีสำหรับโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องโดยในปีเดียวกันนั้นเองประธานาธิบดีโอบาซันโจได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดครั้งแรกขององค์การเอกภาพแอฟริกันว่าด้วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง วัณโรค และโรคติดเชื้ออื่นๆที่เกี่ยวข้อง
ปี 2005 รัฐบาลได้ประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ระยะห้าปีในการต่อสู้โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง

แม้ว่ารัฐบาลจะเพิ่มความพยายามในการควบคุมโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง แต่จนกระทั่งปี 2006 มีผู้ป่วยได้รับการรักษาเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น โดยจำแนกเป็นสตรีมีครรภ์เพียงร้อยละ 7 ที่ได้รับการรักษาพยาบาลเพื่อลดความเสี่ยงที่โรคจะถ่ายทอดจากมารดาสู่ทารก

ปี 2010 คณะกรรมาธิการปฏิบัติการฯ ประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ห้าปี ฉบับที่สอง ปี 2010 – 2015 โดยกำหนดจะใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ 756 พันล้านไนร่า(ประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยตั้งเป้าหมายว่าเมื่อบรรลุระยะเวลา 5 ปีจะสามารถให้บริการให้คำปรึกษาและตรวจทราบผลเลือดแต่ประชากรกลุ่มที่อยู่ในภาวะมีเพศสัมพันธ์ ร้อยละ 80 และแก่ประชากรกลุ่มเสี่ยงร้อยละ 85

แม้ว่าไนจีเรียจะเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา และเป็นอันดับที่ 12 ของโลก แต่ไนจีเรียกลับเป็นประเทศที่ติดอันดับดรรชนีความยากจนของสำนักงานโครงการพัฒนาสหประชาชาติ (UNDP เป็นอันดับที่ 156 จากจำนวนทั้งหมด 187 ประเทศ และจากการที่การพัฒนาประเทศยังอยู่ในสภาพย่ำแย่ย่อมหมายความว่าไนจีเรียกำลังมีปัญหาใหญ่หลวงในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องภายในประเทศ

ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในประเทศไนจีเรียประมาณ ร้อยละ 3.6 หรือ 3.3 ล้านคน

(ผู้สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ http://www.avert.org/aids-nigeria.htm )

เครดิตภาพ : เว็บไซต์ http://www.worldbank.org/en/country/nigeria

วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

ไนจีเรียกู้เงินจีนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค

ดร.โกซี โอคุนโจ อิวัลลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้แทนรัฐบาลไนจีเรีย และนายซุน ผิง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารส่งออกและนำเข้าจีนลงนามสัญญาเงินกู้ จำนวน 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่กรุงปักกิ่งเมื่อ 11 กันยายน 2555

ไนจีเรียกู้เงินจีนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค

กรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 ดร.โกซี โอคุนโจ อิวัลลา ผู้ประสานงานรัฐมนตรีเศรษฐกิจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไนจีเรียและนายซุนผิง กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าจีนได้ลงนามสัญญาเงินกู้จำนวน 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างสาธารณูปโภคในไนจีเรีย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟโมโนเรลในกรุงอาบูจา จำนวน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และโครงการ Galaxy Backbone ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมของไนจีเรีย จำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ธนาคารจีนให้สินเชื่อแก่รัฐบาลไนจีเรียด้วยเงื่อนไขผ่อนปรนระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ 20 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.5 โดยมีระยะเวลาปลอดหนี้ 7 ปี

ภายหลังการลงนาม คณะผู้แทนไนจีเรียได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่าภายใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าจีนและรัฐบาลไนจีเรียจะลงนามในสัญญาเงินกู้ จำนวน 106 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนโครงการปรับปรุงสนามบินภายในประเทศไนจีเรียรวม 5 แห่ง ที่เมืองลากอส กรุงอาบูจา เมืองคาโน เมืองพอร์ต ฮาร์คอร์ท และเมืองอีโน ภายใต้เงื่อนไขผ่อนปรนระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ 22 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี และระยะเวลาปลอดหนี้ 5 ปี

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

รถไฟกำลังจะมาถึงอาบูจา

 ภาพจำลองเมื่อรถไฟโมโนเรลสร้างเสร็จ
บรรยากาศวันที่ นายมาลา โมฮัมเม็ด รัฐมนตรีว่าการ FCT (ชุดขาว)และผู้แทนบริษัท CCECC (สวมสูท) ลงนามในสัญญาก่อสร้างรถไฟโมโนเรล ที่กรุงอาบูจา



รถไฟกำลังจะมาถึงอาบูจา

เมื่อปี ค.ศ. 2006 รัฐบาลไนจีเรียเคยพยายามสร้างระบบขนส่งมวลชนแบบโมโนเรลขึ้นในกรุงอาบูจามาแล้วครั้งหนึ่ง โดยได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีน แต่โครงการไม่สามารถเริ่มการก่อสร้างได้จนปี 2009 แต่การก่อสร้างดำเนินไปได้เพียงร้อยละ 20 ก็หยุดชะงักลงเนื่องจากขาดงบประมาณสนับสนุน

ตั้งแต่รัฐบาลของประธานาธิบดีกู๊ดลัก โจนาธานเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ได้ให้ความสำคัญอันดับแรกกับการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภค โดยเฉพาะการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนในกรุงอาบูจาจึงได้นำโครงการรถไฟโมโนเรลขึ้นมาสานต่ออีกครั้งหนึ่ง และเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2555 ประธานาธิบดีกู๊ดลัก โจนาธานได้มอบหมายให้นายบาลา โมฮัมเม็ด รัฐมนตรีว่าการเขตปกครองนครหลวงสหพันธ์ หรือที่เรียกว่า Federal Capital Territory (FCT) เจรจากับบริษัท Chinese Civil Engineering  Construction Company Limited (CCECC) จนสามารถบรรลุข้อตกลงสามารถลงนามสัญญาก่อสร้างระบบขนส่งด้วยรถไฟโมโนเรลจนเป็นผลสำเร็จ ภายหลังการลงนามผู้แทนบริษัท CCECC แถลงว่าจะสามารถก่อสร้างโครงการเฟสแรกได้แล้วเสร็จภายในเวลา 36 เดือนตามกรอบเวลาที่ตกลงในสัญญา โดยเมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วบริษัทจะฝึกอบรมพนักงานชาวไนจีเรียให้บริหารโครงการได้เองทั้งหมด

ต่อมาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 ดร. โกซี โอคุนโจ-อิวัลลา ผู้ประสานงานรัฐมนตรีเศรษฐกิจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพร้อมด้วยนายบาลา โมฮัมเม็ด ได้เดินทางไปกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เพื่อเจรจาขอกู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีน จำนวนเงิน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการก่อสร้างโครงการรถไฟโมโนเรลในกรุงอาบูจา ซึ่งในที่สุดได้มีการลงนามสัญญาเงินกู้ดังกล่าว ซึ่งจะทำให้โครงการรถไฟโมโนเรลของกรุงอาบูจาสามารถเดินหน้าต่อไปได้

ภาพจำลองที่นำมาลงไว้เป็นภาพเก่าเมื่อครั้งประชาสัมพันธ์โครงการเมื่อปี 2008 แต่ไม่ว่าเมื่อก่อสร้างจริงภาพจะออกมาอย่างไร ผู้ที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการนี้คือประชาชนที่อาศัยอยู่ชานกรุงอาบูจา ซึ่งทุกวันนี้ไม่มีระบบขนส่งมวลชนสาธารณะให้บริการ

โครงการรถไฟโมโนเรลในกรุงอาบูจามีระยะทางทั้งหมด 280 กิโลเมตร แบ่งการก่อสร้างเป็นสามระยะ ระยะแรกมีระยะทางทั้งหมด 60 กิโลเมตร โดยจะผ่านพื้นที่เขตการ์คี เขตกลางเมือง  เขตวูเซ  อูตาโกมอร์เตอร์ปาร์ก (Utako Motor park) เขตจาบี ไล้ฟ์แค้มป์ คาร์โม กวารินปา และคุปวา นอกจากนั้นยังจะผ่านสนามกีฬาแห่งชาติ (national stadium)  สวนสาธารณะคุควาบา  เขตอิดู และสนามบินนานาชาติเอ็นนามดี อาซิคิเว 

วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

มันสำปะหลัง : พืชเศรษฐกิจที่เป็นความหวังของไนจีเรีย


มันสำปะหลัง : พืชเศรษฐกิจที่เป็นความหวังของไนจีเรีย

มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจการแรกที่กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทตั้งความหวังไว้ว่าจะเป็นพระเอกของโครงการปรับปรุงเกษตรกรรมของรัฐบาลประธานาธิบดีกู๊ดลัก โจนาธาน โดยตั้งเป้าไว้ว่ามันสำปะหลังจะเป็นพืชส่งออกที่นำรายได้เข้าประเทศปีละ 4 หมื่นล้านไนร่า

ที่สำคัญคือจากการวิเคราะห์ห่วงโซ่แห่งคุณค่าแล้วมันสำปะหวังจะสามารถสร้างงานให้เกษตรกรไนจีเรียทั่วประเทศได้ถึง 1.2 ล้านตำแหน่งงานทีเดียว  โดยนโยบายแรกที่จะผลักดันให้มันสำปะหลังเป็นพืชส่งออกคือการที่ส่งเสริมให้มีการใช้แป้งมันสำปะหลังในการผลิตขนมปังทั่วประเทศ ทดแทนแป้งข้าวสาลีที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็เจรจาขายมันสำปะหลังอัดเม็ดให้ประเทศจีนในปี 2555 ได้แล้วจำนวน 1 ล้านตัน

รัฐบาลคาดหวังว่า หากสามารถผลักดันให้มีการใช้แป้งมันสำปะหลังในการผลิตขนมปังทดแทนแป้งข้าวสาลีได้ประมาณ ร้อยละ 20 และขณะเดียวกันช่วยลดการนำเข้าแป้งข้าวสาลีลงได้ จะเป็นผลให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศถึง 60 พันล้านไนร่าทีเดียว ซึ่งการที่จะทำได้เช่นนั้นผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงเกษตรฯ แจงว่าการที่จะสนองต่อความต้องการของตลาดดังกล่าวได้ไนจีเรียต้องผลิตหัวมันสำปะหลังสดเพิ่มประมาณปีละ 50 ล้านตัน  

ปัจจุบันผลผลิตหัวมันสดภายในประเทศผลิตได้ปริมาณปีละ 44 ล้านตัน

กลไกการปรับปรุงด้านเกษตรกรรมของไนจีเรีย


ดร.กู๊ดลัก โจนาธาน
ประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย



กลไกการปรับปรุงด้านเกษตรกรรมของไนจีเรีย

ประธานาธิบดีกู๊ดลัก โจนาธาน เป็นคนมีความรู้ที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารประเทศโดยไต่เต้ามาจากการเป็นรองผู้ว่าราชการรัฐบาเยลซาก่อนที่จะขึ้นดำรงผู้ว่าราชการรัฐนั้นเนื่องจากผู้ว่าราชการถูกสภาถอดถอน และเป็นรองประธานาธิบดีก่อนที่จะขึ้นเป็นประธานาธิบดีเมื่อประธานาธิบดีป่วยและเสียชีวิต แต่เมื่อครบวาระก็รณรงค์หาเสียงจนชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีด้วยความสามารถและคะแนนนิยมของตนเอง ตำแหน่งที่ว่ามาเหล่านี้ล้วนเป็นตำแหน่งเลือกตั้งมาโดยการลงคะแนนเสียงของประชาชน คนที่มาจนถึงตรงนี้ได้ไม่ใช่คนธรรมดา

ความไม่ธรรมดาของประธานาธิบดีท่านนี้ประการหนึ่งคือเป็นคนที่ตั้งใจทำงาน ไม่เล่นการเมือง แบบสาดโคลน แม้เมื่อท่านชนะการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2553 พรรคการเมืองและสื่อสารมวลชนฝ่ายค้านต่างโจมตีท่านต่างๆนาๆ แต่ท่านก็ไม่ตอบโต้ คงมุ่งทำแต่งานไม่ท้อถอย และการทำงานของท่านก็ไม่ได้ทำแบบสักแต่ว่าทำ ดังในเรื่องนโยบายการปรับโครงสร้างด้านเกษตรกรรมที่ท่านชูนโยบายมาแต่แรกและได้ดร.อะคินวูมิ อะเดสินา คนเก่งที่มีประสบการในการบริหารยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐศาสตร์การเกษตรเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทท่านก็เร่งตั้งกลไกที่จะทำให้นโยบายการปรับปรุงการเกษตรกรรมของประเทศเป็นรูปธรรม

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2555 ท่านประธานาธิบดีโจนาธานได้ออกคำสั่งแต่งตั้งสภาปรับปรุงการเกษตรกรรมของประเทศ (Presidential Agricultural Transformation Implementation Council :  PATIC) เพื่อเข้ามาดูแลนโยบายปรับปรุงการเกษตร (Agricultural Transformation Agenda: ATA) ของรัฐบาล ซึ่งโครงการนี้กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเป็นเจ้าภาพหลัก และมีวัตถุประสงค์สามประการคือ 1) แก้ปัญหาการว่างงาน 2) สร้างความมั่งคั่ง (สร้างรายได้ให้เกษตรกร 300 พันล้านไนร่า) โดยผ่านการสร้างงานในภาคเกษตรกรรมอย่างน้อย 3.5 ล้านตำแหน่งงาน และ 3) สร้างความมั่นคงด้านอาหารในประเทศไนจีเรีย

สภา PATIC ซึ่งมีท่านประธานาธิบดีโจนาธานเป็นประธานและมี ดร.อะคินวูมิ อะเดสินา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเป็นผู้ประสานงาน จะทำหน้าที่ติดตามการดำเนินการตามนโยบาย โดยมีผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการเกษตรเข้าร่วมเป็นสมาชิกในสภา PATIC อาทิ นายอาลิโค ดานโกเตนักธุรกิจใหญ่ของไนจีเรีย อดีตประธานาธิบดีโอลูเซกุน โอบาซันโจ ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจการเกษตรรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของประเทศ นายคานาโย เอนวานเซ ประธานกองทุนระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรม (International Fund for Agricultural Development : IFAD) นายเจฟฟรีย์ ซาค นักเศรษฐศาสตร์และศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยโคลัมเบียของสหรัฐอเมริกา

ในชั้นต้นนี้สภา  PATIC ได้เริ่มงานโดยการระบุผู้มีส่วนได้เสียหลักทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งรวมถึงประชาสังคมด้วย และกำหนดขอบเขตของการร่วมมือกับพันธมิตรทั้งหมด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเน้นที่คนหนุ่มสาว)  เพื่อหวังให้โครงการก่อผลสูงสุดในการขยายห่วงโซ่แห่งคุณค่า

ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะเป้าหมายหลักของโครงการปรับปรุงการเกษตกรรมของรัฐบาลในครั้งนี้ประการแรกก็คือการเพิ่มมูลค่า ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาที่สำคัญสำหรับภาคเกษตรกรรม  ทั้งนี้รัฐบาลจะมุ่งให้ความสำคัญไปที่การวิเคราะห์ห่วงโซ่แห่งคุณค่าของพืชเกษตร 10 ตัว (ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าว ถั่วแดง ฝ้าย โกโก้ น้ำมันปาล์ม มะเขือเทศ หอมหัวใหญ่ ถั่วเหลือง และข้าวโพด) ปศุสัตว์และประมง ทั้งนี้โดยการสร้างงานจำนวน 3.5 ล้านตำแหน่งงานนั้นมุ่งไปที่การวิเคราะห์ห่วงโซ่แห่งคุณค่าของพืชห้าตัวแรก (มันสำปะหลัง ข้าว ถั่วแดง ฝ้าย และโกโก้) และทางการเชื่อว่าเมื่อเริ่มโครงการวิเคราะห์ห่วงโซ่แห่งคุณค่าของพืชตัวอื่นๆก็จะช่วยให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมากเช่นกัน

เป้าหมายหลักประการที่สองคือการบรรลุถึงความพอเพียง (self-sufficiency) โดยที่มีตัวชี้วัดคือการลดการนำเข้าผลผลิตที่เพาะปลูกในประเทศได้แล้ว เช่น ข้าว ข้าวสาลี น้ำตาล ซึ่งสินค้าสามตัวนี้เมื่อปี 2553 ปีเดียวไนจีเรียนำเข้าเป็นมูลค่ารวม 1 ล้านล้านไนร่า

การที่จะบรรลุเป้าหมายข้างต้นกระทรวงเกษตรฯ ทราบดีว่าเกษตรกรไนจีเรียมีสิ่งที่ท้าทายซึ่งต้องฟันฝ่าไปให้ได้หลายประการ อาทิ การที่เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงเมล็ดพันธุ์และปุ๋ย ขาดยุ้งฉางสำหรับเก็บผลผลิต ขาดข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีการสื่อสารทันสมัยเพื่อเข้าถึงข้อมูลการตลาดที่จำเป็น ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายที่จะให้ความช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการแจกบัตรแบบเดียวกับบัตรกำนัลของร้านสรรพสินค้าสำหรับซื้อปุ๋ย และช่วยเหลือในการจัดหาอุปกรณ์สื่อสารที่ใช้เทคโนโลยีมือถือและวอฟต์แวร์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันสำหรับเกษตรกรด้วย

ปรับแก้: 19 กันยายน 2555

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

ไนจีเรียเคยห้ามนำเข้าข้าวจากต่างประเทศมาก่อน




ไนจีเรียเคยห้ามนำเข้าข้าวจากต่างประเทศมาก่อน

นโยบายปรับปรุงการเกษตรกรรมของประเทศที่รัฐบาลประธานาธิบดีกู๊ดลัก โจนาธาน กำลังเร่งดำเนินการอยู่ขณะนี้ ไม่ได้เป็นของใหม่ เคยมีรัฐบาลก่อนหน้านี้พยายามทำมาแล้ว แต่ไม่สำเร็จ โดยเฉพาะนโยบายห้ามนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ

เมื่อปี 1985 รัฐบาลไนจีเรียเคยห้ามนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตภายในประเทศให้เพียงพอกับความต้องการบริโภค แต่สิบปีให้หลังต่อมาเมื่อปี 1995 รัฐบาลขณะนั้นก็ยกเลิกการห้ามนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ เพราะผลผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้นในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของประชาชน

เมื่อปี 2002 รัฐบาลของประธานาธิบดี โอลุเซกุน โอบาซันโจได้เริ่มโครงการพัฒนาข้าว โดยส่งเสริมการปลูกข้าวเพิ่มขึ้นพร้อมกับส่งเสริมกิจการสีข้าวภายในประเทศควบคู่ไปด้วย สำหรับการส่งเสริมการปลูกข้าวนั้นได้นำพันธุ์ข้าวลูกผสมพันธุ์ใหม่ๆเข้ามาให้เกษตรกรใช้เพาะปลูก และตั้งเป้าหมายว่าภายใน 5 ปี คือปี 2007 ไนจีเรียจะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกข้าวเป็น 3 ล้านเฮกตาร์ โดยในปี 2006 ผลผลิตข้าวของไนจีเรียจะเพิ่มเป็นปีละ 5 ล้านตัน และในปี 2007 เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถส่งออกข้าวไปขายในประเทศต่างๆในแอฟริกาตะวันตก และตามโครงการดังกล่าวในปี 2012 ไนจีเรียจะเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา

การทำโครงการพัฒนาข้าวในครั้งนั้นอาศัยบริษัทเอกชนผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ของประเทศชื่อ บริษัทโนโตเร เคมิคัล อินดัสตรี จำกัดเป็นแกนนำในการริเริ่มโครงการในรัฐครอส ริเวอร์และรัฐทาราบา ซึ่งมีการเพาะปลูกข้าวอยู่แล้วโดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายดำเนินการให้บริษัท 3 ประการ ได้แก่ 1) ส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหาร 2) สร้างงาน 3) สร้างรายได้ให้เกษตรกร ครั้งนั้นนับว่าเป็นครั้งแรกที่เกิดโครงการความร่วมมือในการลงทุนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ซึ่งหลายคนคาดหวังว่าจะเป็นรูปแบบส่งเสริมกสิกรรมของประเทศในอนาคต  โครงการของบริษัทดังกล่าวมีพื้นที่ส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวรวม 20,000 เฮกตาร์

ปัจจุบันบริษัทโนโตเร เคมิคัล อินดัสตรียังทำโครงการพัฒนาข้าวอย่างต่อเนื่องและเป็นกลไกที่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลปัจจุบันเช่นกัน แต่เป้าหมายของโครงการที่เริ่มมาหลายปียังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้เมื่อปี 2005 ซึ่งบริษัทได้เข้าซื้อกิจการของบริษัท National Fertilizer of Nigeria และเป็นบริษัทผู้ผลิตปุ๋ยยูเรียเพียงรายเดียวของภูมิภาคซับ ซาฮารา แอฟริกา แต่กิจการของบริษัทขยายตัวใหญ่โตปรับโครงสร้างการผลิตของโรงงานปุ๋ยของบริษัทเป็นเชิงพาณิชย์ในปี 2010 โดยมีกำลังผลิตปุ๋ยแอมโมเนียปีละ 3 แสนตัน และปุ๋ยยูเรียปีละ 5  แสนตัน และเดือนเมษายน 2012 ได้ทำสัญญาร่วมทุนกับบริษัทมิตซูบิชิคอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่นจัดตั้งโรงงานผลิตยูเรียในรัฐครอส ริเวอร์ ขนาดกำลังการผลิตแอมโมเนียวันละ 1,700 ตัน ปุ๋ยยูเรียวันละ 3,000 ตัน และผลิตภัณฑ์เคมีอื่นๆวันละ 1,700 ตัน โดยจะเริ่มโครงการในปี 2013 และกำหนดแล้วเสร็จในปี 2016  

ปัจจุบันแม้ไนจีเรียจะยังต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ แต่ไนจีเรียเป็นประเทศที่ผลิตข้าวได้มากเป็นอันดับสองของทวีปแอฟริการองจากอียิปต์ ผลิตถั่วเหลืองมากเป็นอันดับหนึ่งของแอฟริกา และผลิตมันสำปะหลัง แยม และโกโก้เป็นอันดับต้นๆของโลก

ผู้ที่สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://www.notore.com/index.php/about/history 
(เครดิตภาพจากเว็บไซต์ http://farmlandgrab.org/11096 )

วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

ไนจีเรียนำเข้าข้าววันละ 1 พันล้านไนร่า


ดร.อาคินวูมิ อาโย อาเดซีนา (ขวามือ) เยี่ยมชมกิจการการเกษตรของบริษัทเอกชน

ไนจีเรียนำเข้าข้าววันละ 1 พันล้านไนร่า

ดร.อาคินวูมิ อาโย อาเดซีน่า แถลงเมื่อวันที่ 6 กันยายน ศกนี้ว่า ไนจีเรียมีแผนจะยุติการนำเข้าข้าวในปี 2015 คืออีกสามปีนับจากปีนี้ โดยท่านรัฐมนตรีคาดว่าอีกสามปีไนจีเรียจะสามารถผลิตข้าวและสีข้าวได้เพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ

ท่านรัฐมนตรีแถลงด้วยว่านโยบายยุติการนำเข้าข้าวในปี 2015 นั้นเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลในการที่จะปรับโครงสร้างภาคเกษตรกรรมทั้งหมดเพื่อเป็นสิ่งประกันว่าไนจีเรียจะมีความมั่นคงทางด้านอาหารรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะนี้

ท่านรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่าไม่สบายใจที่เห็นบ้านเมืองตกอยู่ในสภาพเป็นผู้นำเข้าข้าวเป็นมูลค่าปีละมากๆทุกปี ทั้งที่ข้าวก็เป็นพืชที่ปลูกขึ้นได้ทุกหนทุกแห่งในไนจีเรีย

ท่านรัฐมนตรีเปิดเผยว่าไนจีเรียนำเข้าข้าวเป็นมูลค่าปีละ 356 พันล้านไนร่า หรือหากคำนวณเป็นมูลค่าการนำเข้ารายวันตกวันละประมาณ 1 พันล้านไนร่าทีเดียว แล้วก็นำเข้าข้าวอยู่อย่างนี้มาเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ทุกคนทราบกันดีว่าหากนำเข้าข้าวในอัตราปีละ 5 ล้านตันเช่นทุกวันนี้ ต่อไปอีกสี่สิบปีข้างหน้าคือปี 2050 ตัวเลขข้าวนำเข้านี้จะเพิ่มเป็น 35 ล้านตัน ซึ่งเห็นได้ว่าหากไม่มีรัฐบาลไหนทำอะไรกับเรื่องนี้การที่ปล่อยให้เศรษฐกิจของบ้านเมืองขึ้นอยู่กับข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศแล้ว ในอนาคตการนำเข้าข้าวจะเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจของบ้านเมือง

ท่านรัฐมนตรียืนยันในโอกาสเดียวกันว่าการเกษตรกรรมมีพลังยิ่งใหญ่ที่สุดในการเปลี่ยนชีวิตของประชาชนจากยากจนเป็นมั่งคั่ง โดยยกตัวอย่างของประเทศจีนและประเทศมาลาวีในแอฟริกาที่มั่งคั่งจากผลผลิตทางการเกษตร โดยระบุด้วยว่าประเทศที่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรมีเคล็ดวิชาหรือยุทธวิธีอยู่สองประการได้แก่ 1) การปรับปรุงพันธุ์พืชและ 2) การใช้ปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพ

ท่านรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมด้วยว่า ปัจจุบันข้าวที่สีที่โรงสีในรัฐอีบอนยีเป็นข้าวที่มีคุณภาพ และยืนยันด้วยว่าในยุคที่ท่านรัฐมนตรีบริหารกระทรวงเกษตรจะพยายามนำเสนอนโยบายการเกษตรที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทั้งนี้ท่านชี้แจงด้วยว่าประธานาธิบดีโจนาธานมีนโยบายแน่วแน่ที่จะส่งเสริมโครงการปฏิรูปเกษตรกรรมโดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มผลผลิตอาหารในระบบการผลิตภายในประเทศอีกร้อยละ 20 ซึ่งการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวการเกษตรกรรมของประเทศจะต้องไม่เป็นเพียงการพัฒนาของเก่าให้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ต้องเป็นเรื่องของการลงทุนและการประกอบการเชิงธุรกิจ โดยเน้นการวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าจากเมล็ดพันธุ์ไปถึงปุ๋ย กระบวนการผลิต การเพิ่มมูลค่าและการเก็บผลผลิต

เยาวชนว่างงาน : ปัญหาที่ท้าทาย



เยาวชนว่างงาน: ปัญหาที่ท้าทาย

เยาวชนในความหมายของกระทรวงพัฒนาเยาวชนไนจีเรียคือกลุ่มคนอายุระหว่าง 15-35 ปี ซึ่งตามสถิติของทางการไนจีเรียมีจำนวนประมาณ 67 ล้านคน

ปัจจุบันเยาวชนไนจีเรียร้อยละ 42.2 ไม่มีงานทำ โดยกลุ่มนี้ร้อยละ 80 มีการศึกษาระดับต่ำกว่ามัธยมปลายลงมา แต่ปัญหาสำหรับรัฐบาลขณะนี้คือกลุ่มร้อยละ 42 นี้อยู่ที่ไหน จำนวนเท่าไหร่ เป็นหญิงเท่าไหร่ชายเท่าไหร่ เพราะหากไม่สามารถจำแนกคนกลุ่มนี้ได้ การที่จะพัฒนาก็เป็นเรื่องที่พูดลอยๆ

รัฐบาลไนจีเรียมียุทธศาสตร์ในการสร้างงานผ่านกระทรวงเกษตร กระทรวงโทรคมนาคม และกระทรวงสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมให้รัฐบาลของทุกรัฐให้ความสำคัญต่อปัญหาการว่างงานของเยาวชน และตั้งเป้าหมายว่ารัฐบาลของทุกรัฐจะสามารถสร้างงานสำหรับเยาวชนได้ปีละหนึ่งล้านตำแหน่งทั่วประเทศ ซึ่งหากสามารถทำได้ภายใน 4 ปี จะสร้างงานได้ทั่วประเทศจำนวน 34 ล้านตำแหน่ง

ธนาคารโลกเป็นหน่วยงานหนึ่งที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือรัฐบาลไนจีเรียอย่างจริงจังในการสร้างงานสำหรับเยาวชน โดยในปี 2555 ธนาคารโลกประกาศให้เงินสนับสนุนโครงการเพื่อการสร้างงานสำหรับเยาวชนและการส่งเสริมสังคม จำนวน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยโครงการดังกล่าวธนาคารโลกจะร่วมมือกับรัฐบาลรัฐต่างในไนจีเรีย 20 รัฐในการสร้างโอกาสเพื่อการจ้างงานและเพิ่มทักษะสำหรับเยาวชนและสตรีจากชุมชนยากจน

นอกจากโครงการดังกล่าวธนาคารโลกยังได้รับงบประมาณสนับสนุนจากประชาคมยุโรปในการจัดทำโครงการรายจ่ายเพื่อการจ้างงาน (Employment Expenditure) ร่วมกับรัฐในไนเจอร์ เดลตาด้วย นอกจากนั้น ธนาคารโลกยังร่วมมือกับรัฐบาลกลางไนจีเรียในการปรับสภาพแวดล้อมการประกอบธุรกิจในประเทศเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศสำหรับสร้างงานในวงกว้างต่อไปด้วย โดยเฉพาะการปรับปรุงกิจการการไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งเป็นจุดอ่อนของไนจีเรียปัจจุบัน

สถิติของธนาคารโลกระบุว่าในช่วงห้าปีที่ผ่านมามีแรงงานใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานไนจีเรียเฉลี่ยปีละ 1.8 ล้านคน

 

วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

อาบูจาตื่นขาดแคลนน้ำมัน




อาบูจาตื่นขาดแคลนน้ำมัน

เมื่อเดือนสิงหาคม 2555 ที่ผ่านมาชาวกรุงอาบูจาเพิ่งผ่านพ้นเหตุการณ์สหภาพแรงงานปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติไนจีเรียนัดประท้วงหยุดการขนส่งน้ำมันเข้ากรุงอาบูจาเป็นเหตุให้เกิดภาวะน้ำมันขาดแคลนในกรุงอาบูจา ประชาชนไม่สามารถซื้อน้ำมันจากปั๊มน้ำมันทั่วไปในกรุงอาบูจาได้ หากจำเป็นต้องก็ต้องซื้อน้ำมันที่ขายในตลาดมืดคือวางขายอยู่ริมถนนสายต่างๆในกรุงอาบูจา ซึ่งราคาแพงกว่าราคาปกติมาก (ปกติราคาลิตรละ 97 ไนรา)

เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กันยายน 2555 ชาวกรุงอาบูจาตื่นขึ้นมาพร้อมกับรับทราบข่าวทางสถานีวิทยุว่าน้ำมันเชื้อเพลิงขาดแคลน คนที่มีรถยนต์จึงรีบนำรถของตนออกไปเติมน้ำมันตามปั๊มน้ำมันต่างๆ แล้วข่าวไม่ดีแบบนี้ก็แพร่ไปเร็ววันจันทร์ทั้งวันมีแต่คนพูดเรื่องคิวรอเติมน้ำมันตามปั๊มต่างๆ พอวันอังคารที่ 4 กันยายน 2555 เจ้าของรถยนต์ต่างก็พร้อมใจกันนำรถไปรอเติมน้ำมันที่ปั๊ม ผลก็เป็นดังภาพที่หนังสือพิมพ์ The Gardian ของไนจีเรียนำมาลงไว้ คือมีรถจอดรอคิวเติมน้ำมันอยู่บนถนนสายธุรกิจกลางกรุงอาบูจายาวเหยียด นี่เป็นเพียงจุดเดียว

วันเดียวกันนั้นเองบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติไนจีเรียออกมาแถลงยืนยันต่อสาธารณชนว่าไม่มีปัญหาน้ำมันขาดแคลนแต่อย่างใด และตามที่สื่อสารมวลชนรายงานข่าวว่าเกิดขาดแคลนน้ำมันทั่วไปในประเทศไนจีเรียก็ไม่เป็นความจริง เนื่องจากบริษัท Pipeline and Product s Marketing Company (PPMC) ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้าน้ำมันในเครือของบรรษัทยังมีน้ำมันสำรองสำหรับประเทศได้อีกเป็นเวลา 30 วัน แต่สภาพที่เป็นอยู่เป็นเรื่องของผู้บริโภคตื่นตระหนกพากันไปซื้อน้ำมันพร้อมกันทั้งเมือง เนื่องจากมีรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนว่ากลุ่มบริษัทผู้นำเข้าน้ำมันหยุดนำเข้าและบริษัท PPMC ก็มีน้ำมันสำรองไม่เพียงพอจะรองรับความขาดแคลนได้

ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่ามีบริษัทผู้นำเข้ารายใหญ่จำนวนหนึ่งที่หยุดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงมาระยะหนึ่งแล้วด้วยเหตุผลที่เป็นที่ทราบดีของสาธารณชนทั่วไป(คือเป็นบริษัทที่ทางการตรวจพบว่าทุจริตเงินอุดหนุนราคาน้ำมัน) ทั้งนี้บริษัทซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของรัฐก็ได้นำเข้าน้ำมันและกระจายน้ำมันสู่รัฐต่างๆชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงส่วนที่บริษัทดังกล่าวหยุดนำเข้าแล้ว

โฆษกของบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติไนจีเรียแถลงเรียกร้องให้บริษัทผู้นำเข้านำมันเชื้อเพลิงและผู้จัดการปั๊มน้ำมันอย่ากักตุนน้ำมันหรือขึ้นราคาน้ำมัน เพราะหากถูกจับได้มีจะมีบทลงโทษตามกฎหมาย ทั้งนี้ทางการทราบมาว่ามีปั๊มน้ำมันในอาบูจาบางแห่งฉวยโอกาสจากการที่ผู้บริโภคแตกตื่นเอาเปรียบผู้บริโภค

โฆษกได้แถลงวิงวอนขอให้ผู้บริโภคอย่าแตกตื่นรีบซื้อน้ำมัน เพราะรัฐบาลได้มีมาตรการที่จะช่วยให้การกระจายน้ำมันไปตามรัฐต่างๆอย่างทั่วถึงอยู่แล้ว 

(เครดิตภาพ: จาก นสพ The Guardian )

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

ถ่านหิน : แหล่งพลังงานของไนจีเรียที่รอการฟื้นฟู


อาคารสำนักงานใหญ่ของบรรษัทถ่านหินไนจีเรีย


ถ่านหิน : แหล่งพลังงานของไนจีเรียที่รอการฟื้นฟู

ไนจีเรียมีแหล่งถ่านหินใต้ดินในพื้นที่ 15 รัฐทั่วประเทศ ที่ยังไม่ได้ขุดขึ้นมาใช้ประมาณ 2.5 พันล้านตัน มีตั้งแต่ถ่านบิทูมินัสไปจนถึงถ่านลิกไน้ท์ โดยแหล่งถ่านหินใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดและสามารถขุดมาใช้เชิงพาณิชย์ได้คุ้มค่าคือแหล่ง อะนัมบรา เบซิน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1.5 ล้านเฮกตาร์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ

ไนจีเรียขุดพบถ่านหินครั้งแรกทางตอนกลางของภาคตะวันออกของประเทศเมื่อปี ค.ศ. 1909 และได้เปิดทำเหมืองถ่านหินมาจนกระทั่งปี 1950 รัฐบาลขณะนั้นจึงตั้งบรรษัท ถ่านหินไนจีเรียขึ้นทำหน้าที่สำรวจและพัฒนาแหล่งถ่านหินรวมไปถึงบริหารจัดการด้านการตลาด โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่รัฐเอนุกุและรัฐบาลสหพันธ์เป็นเจ้าของ ทั้งนี้ตั้งแต่ตั้งมาบรรษัท ได้เปิดทำเหมืองถ่านหินแบบเหมืองขุดสองแห่งคือเหมืองโอเยมาและเหมืองโอคพารา และทำเหมืองเปิดอีกสองแห่งได้แก่เหมืองโอรุกปา และโอคาบา

ระหว่างปี 1950-59 ผลผลิตถ่านหินจากเหมืองในรัฐเอนุกุเพิ่มขึ้นทุกปีจาก 583,487 ตันเพิ่มขึ้นมาเป็น 905,397 ตัน แต่หลังจากปี 1959 เป็นต้นมาผลผลิตกลับลดลงทุกปีประจวบกับช่วงปี 1966- 1970 ไนจีเรียมีสงครามกลางเมืองซึ่งไม่มีสถิติรายงานผลผลิตถ่านหินในช่วงดังกล่าว

ช่วงทศวรรษ 1980 ผลผลิตถ่านหินแต่ละปีไม่ถึง 100,000 ตัน และยังลดลงเรื่อยมาตลอดทศวรรษ 1990 อีกด้วย โดยผลผลิตถ่านหินในช่วงนี้ส่วนใหญ่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถไฟ และส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นปริมาณน้อยมากส่งออกไปตลาดต่างประเทศ

บรรษัท ถ่านหินพยายามหาทางปรับปรุงกิจการด้วยการทำความตกลงร่วมทุนกับบริษัทต่างประเทศเพื่อทำเหมืองถ่านหินแต่ไม่ประสบความสำเร็จ มีรายเดียวที่ประสบความสำเร็จคือการตกลงแบ่งผลผลิตกับบริษัทนอร์ดิก อินดัสตรี จำกัดเพื่อผลิตถ่านหินจำนวน 2,712 ตันจากเหมืองโอคาบาเมื่อปี 2001
ประกอบกับตั้งแต่ไนจีเรียเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 1999 รัฐบาลใหม่ได้ปฏิรูประบบเศรษฐกิจโดยเน้นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นของเอกชน โดยให้หน่วยงานของรัฐเป็นเพียงผู้ควบคุมกฎระเบียบแทนการเป็นเจ้าของกิจการและเป็นผู้ผลิต

ในระหว่างหลายปีที่นโยบายของรัฐบาลเปลี่ยนไป องค์การถ่านหินตกอยู่ในสภาพมีหนี้สิน และต้องแปรรูปกิจการโดยขายกิจการที่บรรษัทมีอยู่เพื่อใช้หนี้ ซึ่งรวมถึงเงินบำนาญของลูกจ้างองค์กรจำนวนมาก ที่เกษียณไปโดยไม่ได้รับบำนาญ การขายกิจการขององค์การรวมถึงการประกาศขายสำนักงานก่อความขัดแย้งกับสหภาพแรงงานซึ่งไม่เห็นด้วยกับการที่องค์การจะขายทุกอย่าง

ผู้บริหารบรรษัทถ่านหินไนจีเรียเปิดเผยว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้อนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินให้แก่นักลงทุนจากจีนรวม 7 โครงการ ซึ่งเชื่อว่าหากโครงการดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยกระตุ้นการฟื้นฟูกิจการเหมืองถ่านหินของไนจีเรียกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง


วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555

บริษัทเพรสโค จำกัด (มหาชน)




บริษัทเพรสโค จำกัด (มหาชน)

บริษัทเพรสโค  จำกัด (มหาชน) เป็นผลิตผลิตน้ำมันปาล์มที่ประสบความสำเร็จที่สุดบริษัทหนึ่งในไนจีเรีย โดยเมื่อปี ค.ศ. 2011 มียอดการขาย 8.536 พันล้านไนร่า เปรียบเทียบกับปี 2010 จำนวน 5.4 พันล้านไนร่า ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 58.48 และมีกำไรหลังการหักภาษี 1.692 พันล้านไนร่า เปรียบเทียบกับปี 2010 กำไร 1.095 พันล้านไนร่า กำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 54.55

ปัจจุบันบริษัทเพรสโค จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทผลิตน้ำมันปาล์มเพียง 1 ใน 2 รายที่จดทะเบียนเข้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไนจีเรีย และเป็นบริษัทที่จ้างแรงงานมากที่สุดบริษัทหนึ่งของประเทศ โดยมีพนักงานทำงานในบริษัทในรัฐเอโดและรัฐเดลตารวม 2,200 คน ทั้งนี้ไม่รวมถึงแรงงานที่ทำงานในบริษัทที่มีธุรกรรมเกี่ยวข้องกับบริษัท อาทิ บริษัทขนส่ง บริษัทรับเหมาก่อสร้าง บริษัทที่เพรสโครับซื้อสินค้าและบริการ สวนปาล์มที่บริษัทรับซื้อผลผลิตปาล์ม

ประวัติความเป็นมา:
เมื่อคริสตทศวรรษ 1970 รัฐเบนเดลได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากธนาคารโลกให้จัดทำโครงการพัฒนาสวนปาล์มน้ำมัน จึงตั้งบริษัทออยล์ ปาล์ม จำกัดขึ้น และบริษัทดังกล่าวได้ตั้งสวนปาล์มน้ำมัน โอบาเรติ เอสเตท ในรัฐเอโดทำการเพาะปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ 1,150 เฮกตาร์ ระหว่างปีค.ศ. 1975-1980  

ต่อมาเมื่อปี 1991 บริษัทเอกชนเยลเยี่ยมชื่อ Siat Group สนใจโครงการของบริษัทออยล์ ปาล์ม จำกัดจึงเข้ามาร่วมลงทุนด้วยโดยจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ชื่อ เพรสโค (Presco) จำกัดเมื่อวันที่ 24 กันยายน 1991 โดยขณะนั้นพื้นที่ปลูกสวนปาล์มของบริษัทขยายเป็น 2,700 เฮกตาร์แล้ว แต่ภายหลังจากที่บริษัทเพรสโคเข้ามาบริหารกิจการได้วางแผนขยายพื้นที่ปลูกปาล์มอย่างจริงจังเริ่มตั้งแต่ปี 1993 เป็นต้นมา และเพียง 13 ปีให้หลังต่อมา ณ วันที่31 ธันวาคม 2004 บริษัทมีพื้นที่ซึ่งปลูกปาล์มแล้วในโอบาเรติ เอสเตท รวม 5,527 เฮกตาร์  

ปัจจุบันบริษัทเพรสโค จำกัด (มหาชน) มีนิคมปลูกสวนปาล์มน้ำมัน 3 แห่ง ได้แก่นคมโอบาเรติ เอสเตท พื้นที่ 7,000 เฮกตาร์ นิคมโอลอกโบ เอสเตท (Ologbo Estate) พื้นที่  6,000 เฮกตาร์ ซึ่งทั้งสองนิคมอยู่ในท้องที่รัฐเอโด และนิคมโควาน (Cowan Estate) พื้นที่ 7,500 เฮกตาร์ ตั้งอยู่ในรัฐเดลตา

บริษัทมหาชน:
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2002 บริษัทเพรสโคเปลี่ยนเป็นบริษัทมหาชน โดยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และนำหุ้นจำนวน 160 ล้านหุ้นออกเสนอขายต่อสาธารณะ ในราคา หุ้นละ 5 ไนร่า การระดมทุนในครั้งนั้นบริษัทสามารถขายหุ้นได้หมดและได้เงินทุนมาจำนวน 800 ล้านไนร่า และเมื่อปี 2008 บริษัทได้เพิ่มทุนอีกครั้งหนึ่งโดยให้สิทธิผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 1 : 1 ปัจจุบันบริษัทเพรสโคมีผู้ถือหุ้นประมาณ 10,000 ราย โดยกลุ่ม Siat Group ถือหุ้นร้อยละ 60 และผู้ถือหุ้นไนจีเรีย (เอกชนและสถาบัน) ถือหุ้นร้อยละ 40

หนึ่งในร้อย
บริษัทเพรสโค จำกัด (มหาชน) ได้รับการจัดลำดับเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ลำดับที่ 67 ของไนจีเรีย

ผู้สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลบริษัทเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://www.presco-plc.com/