วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ปาล์มน้ำมัน : พืชเศรษฐกิจของไนจีเรีย



ปาล์มน้ำมัน : พืชเศรษฐกิจของไนจีเรีย

ไนจีเรียเคยเป็นมหาอำนาจทางด้านผลผลิตอาหารของโลกก่อนการค้นพบและขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นมาขายเช่นปัจจุบัน พืชเศรษฐกิจตัวหนึ่งที่เป็นตำนานของบ้านเมืองนี้คือปาล์มน้ำมัน เมื่อปีคริสตทศวรรษ1960 ไนจีเรียเป็นประเทศผู้ผลิตปาล์มน้ำมันรายใหญ่ของโลกโดยมีผลผลิตร้อยละ 40 ของผลผลิตโลก แต่ช่วงสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ไนจีเรียผลิตปาล์มน้ำมันได้เพียงร้อยละ 7 ของผลผลิตโลกเท่านั้น โดยผลิตได้ปีละประมาณ 900,000 ตัน และต้องนำเข้าน้ำมันปาล์มถึงปีละ 300,000-500,000 ตัน

ปัจจุบันรัฐบาลไนจีเรียมีนโยบายฟื้นฟูผลผลิตเกษตรกรรมของประเทศรวมถึงปาล์มน้ำมันด้วย โดยตั้งเป้าหมายให้ไนจีเรียมีส่วนแบ่งผลผลิตปาล์มน้ำมันในตลาดโลกระดับเดียวกับเมื่อปีคริสตทศวรรษ 1961

โครงการเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมันเริ่มต้นจากการประกาศนโยบายจำกัดการนำเข้านำน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศ และส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนปาล์มด้วยการสร้างสิ่งจูงใจ อาทิ การทำความตกลงกับชาวสวนปาล์มน้ำมัน จำนวน 18 ราย ในพื้นที่ 11 รัฐ ได้แก่ Kogi, Edo, Ondo, Delta, Cross River, Ogun, Akwa Ibom, Bayelsa, Abia, Osun และ Enugu. โดยรัฐบาลจะให้สัมปทานพื้นที่เพาะปลูกแก่ผู้เข้าร่วมโครงการรายละ 500 เฮกตาร์ เพื่อเป็นกลุ่มเกษตรกรตัวอย่างนำร่องโครงการฟื้นฟูผลผลิตปาล์มน้ำมันของรัฐบาล  ซึ่งโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันให้ได้จำนวน 240,000 เฮกตาร์ ในอีกสามปีข้างหน้า โดยหากบรรลุตามเป้าหมายรัฐบาลคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้จากพืชเศรษฐกิจตัวนี้ถึงปีละ 8 พันล้านไนร่า 

ปรับแก้: 22 ต.ค. 55

วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ชาวไนจีเรียกินอะไร


ชาวไนจีเรียกินอะไร

ไนจีเรียเป็นประเทศที่ประกอบด้วยประชากรหลายเผ่าพันธุ์ กล่าวกันว่ามีประมาณ 250 เผ่าพันธุ์ แต่ในจำนวนนี้ชนเผ่าเฮาซาและโยรุบามีมากที่สุดประมาณร้อยละ 21 เผ่าอิกโบ/อิโบร้อยละ 18 เผ่าฟุรานี ร้อยละ 11 และเผ่าอิบิบิโอร้อยละ 5 ที่เหลือเป็นเผ่าเล็กเผ่าน้อยอีกประมาณร้อยละ 23

การที่บ้านเมืองประกอบด้วยหลายเผ่าหลากวัฒนธรรมจึงยากที่จะชี้ชัดลงไปว่าอาหารอะไรเพียงอย่างเดียวเป็นอาหารประจำชาติ  เพราะต่างถิ่นต่างก็มีอาหารจานโปรดของตนเองขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม ประเพณีและศาสนา นอกจากนั้นสำหรับชาวบ้านร้านถิ่นธรรมดาๆแล้ว ความแตกต่างยังขึ้นอยู่กับฤดูกาลอีกด้วย ขึ้นอยู่กับว่าเป็นฤดูที่อดอยากคือช่วงก่อนฝนจะมาในเดือนมีนาคม หรือช่วงฤดูอิ่มท้องคือหลังการเก็บเกี่ยวพืชผลเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนแล้ว

แต่ไนจีเรียเป็นประเทศที่มีผลไม้ทานตลอดปีเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตร้อนซึ่งสามารถปลูกผลไม้ได้หลากหลายชนิด ผลไม้ที่เป็นที่นิยมทั่วไปได้แก่ส้ม แตงเมลอน    เกรพฟรุท มะนาว มะม่วง กล้วยและสับปะรด

ชาวในจีเรียทางภาคเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิมและไม่ทานเนื้อหมูจะทานอาหารประเภทถั่วข้าวฟ่าง และข้าวกล้อง ชนเผ่าเฮาซ่าในภาคเหนือชอบทานเนื้อ และชาวมุสลิมที่นี่ทั่วไปนิยมดื่มชาจึงทหให้ร้านกาแฟเป็นสถานที่พบปะของคนแถบนี้

ส่วนชาวไนจีเรียทางภาคตะวันออกนั้นส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าอิกโบ/อิโบนิยมทานการีหรือเกี๊ยวทำจากแป้งมันสำปะหลัง ฟักทอง และแยม

สำหรับชาวโยรุบาซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้และทางภาคกลางของประเทศก็ทานการี กระเจี๊ยบเขียวสตูหือซุปผักโขม นอกจากนั้นยังนิยมทานแยมบด และมันสำปะหลังบดอีกด้วย

ชาวไนจีเรียที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่วรอบอ่าวกินีนิยมทานสตูอาหารทะเล (ปลา กุ้ง ปูและล็อบสเตอร์) แยม ข้าว และผักชนิดต่างๆ  ปลานับเป็นอาหารสำคัญของชาวไนจีเรียเนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกที่หาง่าย อาหารปลาจานเด็ดของชาวไนจีเรียคือปลาหมักทอด โดยหมักเนื้อปลาด้วยขิง มะเขือเทศ และพริกไทยก่อนแล้วนำไปทอดในน้ำมันถั่วลิสง


ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเมืองนิยมทานอาหารจากซ้อบบาร์(บาร์ขายอาหาร) แผงข้างถนน รถเข็น(ซึ่งคนขายจะเข็นรถไปตะโกนไปด้วยว่าขายอะไร)
แต่ที่ต้องบอกคือชาวไนจีเรียนิยมทานอาหารเผ็ดทำอาหารอะไรเป็นใส่พริกไทยกับพริกยืนพื้นไว้

วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ไนจีเรียเป็นเจ้าของดาวเทียมในอวกาศ



 ดาวเทียม NiComSat-1R

 ไนจีเรียเป็นเจ้าของดาวเทียมในอวกาศ

รัฐบาลไนจีเรียส่งดาวเทียวขึ้นไปโคจรในอวกาศแล้ว 4 ลูก ได้แก่

1)      ไนจีเรียแซท 1 (Nigeriasat-1) ส่งจากฐานบินอวกาศในประเทศรัสเซียเมื่อวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 2003 ทำหน้าที่ในการส่งสัญญาณเตือนภัยด้านภัยพิบัติสิ่งแวดล้อม ช่วยในการตรวจจับและควบคุมภาวะแห้งแล้งเป็นทะเลทรายทางภาคเหนือของประเทศ ช่วยในการวางแผนด้านประชากรศาสตร์ ติดตามความเชื่อมโยงระหว่างโรคไข้มาเลเรียกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นตัวการแพร่พันธุ์มาเลเรียและเตือนภัยล่วงหน้าก่อนการแพร่กระจายของโรคไข้สมองอักเสบโดยใช้เทคโนโลยี remote sensing เป็นสื่อในการขยายการศึกษาไปยังทุกแห่งในประเทศผ่านการศึกษาทางไทย และเป็นอุปกรณ์แก้ไขปัญหาขัดแย้งด้านพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน

2)      ไนจีเรียแซท 2 (Nigeriasat-2) องค์การพัฒนาและวิจัยอวกาศแห่งชาติ (National Space Research and Development Agency: NSRDA ไนจีเรียทำสัญญาจ้างบริษัท Surrey Space Technology Limited ประเทศสหราชอาณาจักร เป็นผู้สร้าง มูลค่า 35 ล้านปอนด์ ใช้ประโยชน์ด้านการถ่ายภาพพื้นผิวโลก ส่งเข้าสู่วงโคจรโดยผ่านฐานบินอวกาศของรัสเซียเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2011   

3)      ไนจีเรียแซท เอ๊กซ์ (Nigeriasat-X) เป็นดาวเทียมที่สร้างโดยวิศวกรไนจีเรียจำนวน 26 คนซึ่งเดินทางไปฝึกงานที่บริษัท Surrey Space Technology Limited โดยนอกจากสร้างเองแล้วทีมวิศวกรไนจีเรียยังได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ควบคุมและส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรด้วย ดาวเทียมดวงนี้ขึ้นสู่วงโคจรผ่านฐานบินอวกาศของรัสเซียเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2011 พร้อมกับการส่งดาวเทียมไนจีเรียแซท 2

4)      นิกคอมแซท 1 (NigComSat-1) สร้างเมื่อปี 2004 เป็นดาวเทียมดวงที่สามของประเทศและเป็นดาวเทียมสื่อสารดวงแรกของทวีปแอฟริกา ยิงเข้าสู่วงโคจรจากฐานบินอวกาศ Xichang Satellite Launch Centre ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2007 โดยบริษัท Nigerian Communications Satellite Limited(NiCom) และองค์การพัฒนาและวิจัยอวกาศแห่งชาติ (National Space Research and Development Agency: NSRDA ไนจีเรียเป็นผู้ควบคุมการทำงานของดาวเทียม แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2008 ดาวเทียมดวงนี้หยุดทำงานเนื่องจากประสบปัญหาระบบพลังงานแสงอาทิตย์ของดาวเทียมขัดข้อง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2009 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำสัญญาร่วมกับบริษัท NiCom เพื่อส่งดาวเทียมสื่อสารดวงใหม่ชื่อ  NigComSat-1R ขึ้นไปโคจรแทนดาวเทียมนิกคอมแซท 1 และได้ส่งดาวเทียมดวงนี้ขึ้นสู่วงโคจรผ่านฐานบินอวกาศจีนแล้วเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2011

ขณะนี้ทางการไนจีเรียมีแผนที่จะส่งดาวเทียมนิกคอมแซท 2 และ 3 ขึ้นสู่วงโคจรเพื่อเป็นดาวเทียมสนับสนุนการทำงานของนิกคอมแซท 1 ด้วย

(ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://directory.eoportal.org/web/eoportal/satellite-missions/n/nigeriasat-x )

วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อาบูจา : เมืองหลวงใหม่ของไนจีเรีย




อาบูจา : เมืองหลวงใหม่ของไนจีเรีย

กรุงอาบูจาได้รับการสถปนาเป็นเมืองหลวงใหม่ของสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียตามกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1976 โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวนอกจากสถาปนาอาบูจาเป็นเขตนครหลวงสหพันธ์หรือ Federal Capital Territory (FCT) แล้ว ยังได้จัดตั้งสำนักงานพัฒนาเมืองหลวงสหพันธ์ (Federal Capital Development Authority : FCDA) เพื่อเป็นน่วยงานรับผิดชอบการพัฒนาเมืองหลวงแห่งใหม่อีกด้วย ผู้บริหาร FCT เป็นรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี

ต่อมาเมื่อปี 1979 ทางการไนจีเรียได้จัดแผนงานหลักในการพัฒนากรุงอาบูจาเป็น 4 ระยะ โดยระยะที่ 1 ประกอบด้วยเขตศูนยกลางธุรกิจ เขตสำนักงานสามสถาบันหลัก (ทำเนียบประธานาธิบดี รัฐสภา และศาลสูงสุด) และเขตพำนักอาศัย/และย่านการค้า (เขตไมตามา วูเซ การ์ดี และอะโซโกโร) ระยะที่ 2 ประกอบด้วยเขต 5 เขต ได้แก่ เขตคาโด คุรุมิ กุดุ อุทาโค และจาบิ ระยะที่ 3 ประกอบด้วย 4 เขต ได้แก่ เขตมาบูชิ คาตัมเป อูเย และกวาริมปา ส่วนระยะที่ 4 ประกบด้วย 5 เขต ได้แก่ เขตกวากวาลาดา คุบวา อนันยา คารุ และจุกโงยิ ซึ่งทั้งหมดเป็นพื้นที่ชานเมือง

ปัจจุบันนอกจากเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงไนจีเรียแล้ว กรุงอาบูจายังเป็นที่ตั้งของสำนักงานประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (Economic Community of West Africa States : ECOWAS และสำนักงานภูมิภาคขององค์การ OPEC อีกด้วย



วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ดร.กู๊ดลัก เอเบเล โจนาธาน


ดร.กู๊ดลัก เอเบเล โจนาธาน
ประธานาธิบดีคนที่ 14 ของสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย

เกิด            20 พฤศจิกายน  ค.ศ.1957
สถานที่เกิด    ไนเจอร์ เดลตา
ศาสนา         คริสต์
สถานะสมรส   สมรสแล้วกับนางเพเชียน ฟาคา โจนาธาน

การศึกษา
1969     ประถมศึกษา-โรงเรียนเซ้นต์สตีเฟนและเซ้นต์ไมเคิล, โอโลอิบิริ
1975     มัธยมศึกษา-โรงเรียนมาแตร์ เดอีม, อิมิริงิ
1981     ปริญญาตรีสาขาสัตววิทยา-มหาวิทยาลัยพอร์ต ฮาร์คอร์ต
1985     ปริญญาโทสาขาไฮโดรไบโฮโลยีและฟิชเชอร์รี่ไบโอโลยี-มหาวิทยาลัยพอร์ต ฮาร์คอร์ต
1995     ปริญญาเอกสาขาสัตววิทยา-มหาวิทยาลัยพอร์ต ฮาร์คอร์ต

ประวัติการทำงาน
1975-77         เจ้าหน้าที่ศุลกากร กรมศุลกากร (ก่อนเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย)
1982               ครูประจำชั้นในโรงเรียนที่เมืองอิเรซี รัฐโอโย (ปัจจุบันคือรัฐซุนโอ)ต่อมาสอบเข้ารับราชการครูสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ รัฐริเวอร์สเตท
1982-83         ศึกษานิเทศวิชาวิทยาศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ รัฐริเวอร์สเตท
1983-1993     อาจารย์คณะชีววิทยา วิทยาลัยการศึกษาริเวอร์สเตท พอร์ตฮาร์คอร์ต
1993- 1998    ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักควบคุมมลพิษและป้องกันสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่การผลิตแร่และน้ำมันรับผิดชอบงานป้องกันสิ่งแวดล้อม
1999 -11 พ.ย. 2005   รองผู้ว่าการรัฐรัฐบาเยลซา
12 พ.ย. 2005 ผู้ว่าการรัฐบาเยลซาสืบแทนผู้ว่าราชการซึ่งถูกสภาลงมติขับออกจากตำแหน่งข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวง
29 พ.ค. 2007-5 พ.ค. 2010    รองประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย
6 พ.ค. 2010-28 พ.ค. 2011    ประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย สืบแทน ประธานาธิบดีอัลฮาจิ อุมารุ มุซา ยาร์อดุอา Alhaji Umaru  Musa Yar’adua ซึ่งเสียชีวิตในระหว่างดำรงตำแหน่ง
29 พ.ค. 2011- ปัจจุบัน           ประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียคนที่ 14 สังกัด พรรค People’s Democratic Party